ที่มา : เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ
http://www.thaihealth.or.th/
สมัยพวกเราหลายๆ คนยังเด็ก เวลาพ่อแม่ให้เงินก็มักจะให้เป็นจำนวนน้อยๆ เป็นรายวัน และพ่อแม่บางคนก็อาจกำชับด้วยว่าถ้าเหลือก็ให้มาหยอดกระปุกออมสิน
แต่ปัจจุบัน ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไป เดี๋ยวนี้มีอะไรล่อตาล่อใจเยอะมากมาย และด้วยสภาพวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป อาจทำให้เราเห็น เด็กเล็กๆ เล่นแท็บเล็ต ขณะที่พ่อแม่กำลังทำงานบ้าน หรือทำธุระอื่นๆ อยู่ - วัยรุ่น ขอเงินพ่อแม่ไปซื้อบัตรคอนเสิร์ตนักร้องเกาหลีราคาหลายพัน - วัยรุ่นตอนปลาย ใช้เงินที่พ่อแม่ให้เป็นรายเดือนไปกับสินค้าฟุ่มเฟือย อย่างเสื้อผ้าแบรนด์เนม เครื่องสำอางค์ราคาแพง เป็นต้น
จริงอยู่ที่พ่อแม่ย่อมอยากเห็นลูกมีความสุข แต่การ ให้ ทุกอย่างแก่ลูก โดยไม่คำนึงถึงผลที่จะตามมา อาจเป็นการทำร้ายลูกไปในตัว เพราะถ้าหากวันหนึ่ง เราไม่สามารถสนับสนุนลูกด้านการเงินได้ขนาดนี้แล้ว ลูกของเราอาจเจอกับปัญหาการเงิน เพราะไม่เคยรู้ถึงความจำเป็นที่จะต้องจัดการการเงิน ออมเงินเพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการ เนื่องจากพ่อแม่คอยหามาให้ตลอด
ควรทำอย่างไรให้ลูกมีวินัยทางการเงิน
การจะส่งเสริมให้ลูกมีวินัยทางการเงินควรทำตั้งแต่พวกเขายังเป็นเด็ก เหมือนที่เขาว่ากันว่า ไม้อ่อนดัดง่าย ไม้แก่ดัดยาก หากเริ่มทำตั้งแต่ตอนยังเล็ก สิ่งที่เราส่งเสริมมีแนวโน้มที่จะติดตัวพวกเขาไปตลอดชีวิตมากกว่ารอจนพวกเขาผิดพลาด แล้วต้องมาเสียใจทีหลัง
ทั้งนี้ วิธีปลูกฝังเรื่องการเงินให้ลูก ทำได้ไม่ยากนัก โดยเราขอยกตัวอย่างดังนี้
1.สอนให้รู้จักค่าของเงิน
อยู่ดีๆ วันหนึ่ง ลูกมาขอซื้อสมาร์ทโฟนยี่ห้อดังรุ่นล่าสุด เพราะเห็นเพื่อนใช้แล้วอยากมีใช้บ้าง แน่นอนว่าสินค้าแบบนี้ราคาอย่างต่ำก็ 1-3 หมื่นบาทเข้าไปแล้ว และไม่ถือว่าเป็นสินค้าจำเป็น
หากใครมีธุรกิจส่วนตัว อาจใช้วิธีให้ลูกมาช่วยงานที่บ้านดู เช่น หากเรามีธุรกิจร้านอาหาร ก็ลองให้ลูกมาหัดเสิร์ฟ หัดรับออเดอร์ลูกค้า เป็นต้น ราวกับเป็นพนักงานในร้านจริงๆ เพื่อให้ลูกได้เรียนรู้ว่า การจะได้เงินมาแต่ละบาทไม่ใช่เรื่องง่าย และต้องใช้ทั้งพลังกายและพลังใจขนาดไหน
2.คุยด้วยเหตุผล
หากลูกอยากได้คอมพิวเตอร์เครื่องใหม่ ทั้งที่เครื่องเดิมก็ยังใช้งานได้ดีอยู่ แค่อาจจะเก่าไปบ้าง ช้าลงไปนิดหน่อยเท่านั้น ให้ลองคุยด้วยเหตุผลดู เพราะความจริงแล้ว การบอกปฏิเสธว่า จะไม่ซื้อให้ เพียงอย่างเดียวโดยไม่อธิบายเหตุผล จะทำให้ลูกยิ่งงอแง และไม่ช่วยแก้ปัญหาอะไร
ลองเปรียบเทียบให้ลูกฟังไปง่ายๆ ก็ได้เช่นว่า หากซื้อคอมพิวเตอร์ 15,000 บาท ปีหน้าพ่อแม่อาจไม่มีเงินพอจะจ่ายเงินค่าเทอมและซื้ออุปกรณ์การเรียนใหม่ให้ลูกได้ ซึ่งถ้าอธิบายด้วยเหตุผล ไม่ใช้อารมณ์ เด็กย่อมรับฟังและเข้าใจว่า สิ่งที่เราต้องการ เราไม่สามารถซื้อมันได้ทั้งหมด
3.ฝึกบริหารเงิน แยกสิ่งจำเป็น-ไม่จำเป็น
เราอาจลองให้ลูกเรียนรู้การบริหารจัดการเงินค่าขนม จากปกติที่ให้เงินวันต่อวัน ก็อาจเปลี่ยนเป็นรายสัปดาห์ จากรายสัปดาห์ ก็อาจเปลี่ยนเป็นรายเดือน เพื่อให้ลูกได้ฝึกบริหารเงินที่มีในมือว่า จะต้องใช้อย่างไรเพื่อให้มีเงินเหลือพอตลอดระยะเวลานั้นก่อนจะได้รับค่าขนมรอบใหม่
ช่วงเริ่มแรกอาจเจอปัญหาเงินหมดก่อนเวลาแล้วลูกมาขอเพิ่มเราอาจให้ลูกแจกแจงว่าทำไมเงินถึงหมดก่อน ถ้าหมดไปกับสิ่งที่จำเป็นจริงๆ เช่น นำเงินไปซื้อหนังสือเรียน แบบนี้ถือว่าโอเคหน่อย แต่ถ้าหมดไปกับการซื้อของฟุ่มเฟือย ก็ใช้โอกาสนี้ในการสอนถึง การใช้เงินไปกับสิ่งที่จำเป็นและไม่จำเป็น และในอนาคตเมื่อลูกทำงาน มีเงินเดือน จะได้รู้วิธีจัดสรรเงินเดือนให้พอใช้ตลอด
4.อยากได้อะไรต้องออม
การออมเป็นพื้นฐานสำคัญสู่ความมั่งคั่งและอิสรภาพทางการเงินดังนั้น เราจึงไม่ควรมองข้ามการปลูกฝังลูกให้ออมเงินเป็นนิสัยเด็ดขาด เมื่อลูกอยากได้อะไรใหม่ๆ แทนที่จะควักเงินซื้อให้ทันที หันมาใช้วีธีชวนลูกออมดีกว่า
เช่น เมื่อลูกอยากได้ดินสอสีกล่องใหม่ เราควรบอกลูกให้เก็บเงินที่เหลือจากค่าขนมในแต่ละวัน ให้ได้เท่ากับจำนวนเงินค่าดินสอสีกล่องนั้น จากนั้นก็พาลูกไปซื้อ รับรองว่า เขาจะทั้งดีใจที่ได้ของที่ต้องการ และภูมิใจในตัวเองที่สามารถใช้เงินเก็บซื้อของเองได้
หรือจะใช้วิธีเชิญชวนขึ้นมาอีกหน่อย อาจจะบอกว่า ถ้าลูกอยากได้กีตาร์ตัวใหม่แล้วออมเงินได้ 1,500 พ่อแม่จะช่วยจ่ายอีก 1,500 บาท แบบนี้ก็ทำให้ลูกมีกำลังใจในการออมขึ้นมาได้ด้วยเหมือนกันค่ะ
5.เป็นตัวอย่างให้ลูกเห็น
ข้อนี้สำคัญมาก เพราะถ้าเราใช้จ่ายเงินไปกับของฟุ่มเฟือยมากๆ และเมื่อลูกเห็น เขาอาจจะคิดว่า ในเมื่อพ่อแม่ทำได้ ทำไมเขาจะทำไม่ได้ล่ะ
ฉะนั้น เราอาจแสดงให้ลูกเห็นถึงความมีวินัยในการใช้เงินของเรา เช่น ทำรายรับรายจ่ายของบ้าน เวลาไปซื้อของเข้าบ้าน ก็ให้ลูกมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเพื่อเลือกซื้อสินค้าที่ราคาเหมาะสมกับคุณภาพ ซ่อมแซมสิ่งของในบ้านที่ชำรุดโดยไม่ซื้อใหม่ทันที เป็นต้น
การมีวินัยทางการเงินเป็นสิ่งที่ควรปลูกฝังตั้งแต่ยังเล็ก เพราะจะช่วยลดแนวโน้มในการประสบปัญหาทางด้านการเงินของลูกๆ ในอนาคตได้ โดยสามารถทำได้จากการสอนให้ลูกรู้จักค่าของเงิน พูดคุยด้วยเหตุผล ฝึกการบริหารเงิน แยกสิ่งที่จำเป็นและไม่จำเป็นจากกัน ชวนให้ลูกออม และเป็นตัวอย่างที่ดีทางด้านการเงินให้ลูกเห็นด้วย