ที่มา : เว็บไซต์ไทยรัฐ

http://www.thaihealth.or.th/

จากข้อมูลจากกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เกี่ยวกับทางเลือกการรับประทานปลาที่มีโอเมก้า 3 สูง นอกเหนือจาก “ปลาแซลมอน”ที่มีราคาแพง ยังมีปลาน้ำจืดไทย อย่าง “ปลาสวาย” โดยได้มีการเปิดเมนูปลาสวาย และความนิยมเพิ่มขึ้นนั้น

 

 

พญ.นภาพรรณ วิริยะอุตสาหกุล ผู้อำนวยการสำนักโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่านอกจากปลาสวาย มีกรดไขมันโอเมก้า 3 ในการบำรุงสมอง บำรุงเส้นประสาทและสายตา ป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด และช่วยให้สมองทารกพัฒนาอย่างสมบูรณ์แล้ว ยังพบว่า โอเมก้า 3 ยังพบได้ในปลาน้ำจืดชนิดอื่นๆ ก็มีเช่นกัน อย่าง ปลาดุก ปลาช่อน ปลานิล ปลากราย สิ่งสำคัญคือ แม้จะพบมาก แต่อย่าลืมว่าปลาเหล่านี้ก็มีไขมันอื่นๆด้วย ดังนั้น หากเรารับประทานมากจนเกินไปก็จะส่งผลต่อปริมาณไขมันอิ่มตัวเข้ามาด้วย ไม่ใช่แค่โอเมก้า 3 เท่านั้น ดังนั้น การรับประทานก็ต้องพอดี และต้องกินอย่างหลากหลาย

ด้าน รศ. ครรชิต จุดประสงค์ จากสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ทำวิจัยเรื่อง “ปริมาณไขมันทั้งหมด กรดโอเมก้า 6 และกรดโอเมก้า 3 ในปลาทะเลและปลาน้ำจืดของไทย” กล่าวถึงการศึกษาดังกล่าวว่า จากการศึกษาที่ผ่านมาทำให้ทราบว่า ทั้งปลาน้ำจืดและปลาทะเลของไทย ล้วนมีโอเมก้าเช่นกัน เพียงแต่ปลาน้ำจืดต้องเป็นปลาเลี้ยงเท่านั้น เนื่องจากโดยทั่วไปกรดไขมันไม่อิ่มตัว อย่างโอเมก้า 3 และ 6 จะพบเฉพาะในปลาทะเลน้ำลึก อย่างแซลมอน เพราะจะสร้างและสะสมไขมันจากการกินแพลงตอนทะเล

ดังนั้น ในปลาน้ำจืดจึงไม่พบเลย แต่ในปัจจุบันมีการเพาะเลี้ยงปลาน้ำจืดเพื่อการค้า หรือปลาทะเลที่เลี้ยงก็เช่นกัน จึงทำให้อาหารที่ใช้เลี้ยงปลา มักเป็นส่วนที่เหลือจากผลิตจากโรงงานปลากระป๋อง ทำให้อาหารปลามีโอเมก้า 3 และโอเมก้า 6 ด้วย ไขมันที่อยู่ในปลาเลี้ยงจึงมีแหล่งของกรดไขมันเหล่านี้ด้วย เช่นเดียวกันที่ได้จากการกินแซลมอน ซึ่งมีราคาแพง ดังนั้นปลาไทยจึงนับเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจของคนไทย

รศ.ครรชิต กล่าวอีกว่า ปลาน้ำจืดในธรรมชาติจะมีโอเมก้า 3 อยู่น้อยมาก แต่หากเป็นปลาน้ำจืดซึ่งเลี้ยงด้วยหัวอาหารสำเร็จรูปจะทำให้เนื้อปลาน้ำจืดมีปริมาณโอเมก้า 3 เพิ่มขึ้นมา โดยจากการศึกษาและเทียบปริมาณไขมันทั้งหมด กรดไขมันโอเมก้า 3 และโอเมก้า 6 ในปลาน้ำจืดไทย จะพบว่า ปลาดุก มีกรดไขมันทั้งหมด 14.7 กรัม เป็นปริมาณกรดไขมันไม่อิ่มตัว ชนิดโอเมก้า 6 อยู่ที่ 1.94 กรัม และโอเมก้า 3 อยู่ที่ 0.46 กรัม ปลาสวาย ไขมันทั้งหมด 8.9 กรัม เป็นโอเมก้า 6 อยู่ที่ 0.60 กรัม เป็นโอเมก้า 3 ที่ 0.45 กรัม ปลาช่อน ไขมันทั้งหมด 8.5 กรัม เป็นโอเมก้า 6 อยู่ที่ 0.77 กรัม และโอเมก้า 3 ที่ 0.44 กรัม ปลาสลิด ไขมันทั้งหมด 5.9 กรัม เป็นโอเมก้า 6 ที่0.19 กรัม เป็นโอเมก้า 3 อยู่ที่ 0.36 กรัม ปลาตะเพียน มีไขมันทั้งหมด 7.4 กรัม เป็นโอเมก้า6 อยู่ที่ 1.11 กรัม

และโอเมก้า 3 อยู่ที่ 0.24 กรัม ปลากราย ไขมันทั้งหมด 1.2 กรัม เป็นโอเมก้า 6 อยู่ที่ 0.04 กรัม และโอเมก้า 3 ที่ 0.14 กรัม ปลานิล มีไขมันทั้งหมด 1.8 กรัม มีโอเมก้า 6 อยู่ที่ 0.10 กรัม และโอเมก้า 3 อยู่ที่ 0.12 กรัม และปลาไหล มีไขมันทั้งหมด 0.6 กรัม ไม่มีโอเมก้า 6 แต่มีโอเมก้า 3 อยู่เพียง 0.02 กรัม

รศ.ครรชิต กล่าวอีกว่า นอกจากปลาน้ำจืดแล้ว ในปลาทะเลไทยก็ยังพบกรดไขมันไม่อิ่มตัวด้วย ทั้ง ปลาจาละเม็ดขาว มีไขมันทั้งหมด 6.8 กรัม มีปริมาณโอเมก้า 60.03 กรัม และโอเมก้า 3 ที่ 0.84 กรัม ปลาสำลี มีไขมันทั้งหมด 9.2 กรัม ไม่มีโอเมก้า 6 มีโอเมก้า 3 อยู่ที่ 0.47 กรัม ปลากะพงขาว มีไขมัน 3.2 กรัม ไม่มีโอเมก้า 6 มีโอเมก้า 3 อยู่ที่ 0.40 ปลาอินทรี มีไขมันทั้งหมด 3.2 กรัม ไม่มีโอเมก้า 6 มีโอเมก้า 3 ที่ 0.33 กรัม ปลาทู มีไขมันทั้งหมด 3.8 กรัม มีโอเมก้า 6 อยู่ที่ 0.06 กรัม มีโอเมก้า 3 อยู่ที่ 0.22 กรัม ปลาทูนึ่ง มีไขมันทั้งหมด 3.0 กรัม มีโอเมก้า 6 อยู่ที่ 0.03 กรัม มีโอเมก้า 3 อยู่ที่ 0.18 กรัม ปลาจาละเม็ดดำ มีไขมันทั้งหมด 3.6 กรัม มีแต่โอเมก้า 6 อยู่ที่ 0.16 กรัม ปลากะพงแดง มีไขมัน 0.5 กรัม มีโอเมก้า 3 อยู่ที่ 0.10 กรัม และปลาเก๋า มีไขมันทั้งหมด 0.6 กรัม มีโอเมก้า 3 อยู่ที่ 0.08 กรัม

“จะเห็นได้ว่าปลาน้ำจืดของไทยมีปริมาณไขมันทั้งหมด รวมทั้งโอเมก้า 6 และโอเมก้า 3 มากกว่าปลาทะเลไทย เนื่องจากปลาน้ำจืดมีการเพาะเลี้ยงเชิงเศรษฐกิจ มีการให้อาหารสำเร็จรูป แต่ปลาทะเลนั้น แม้จะมีโอเมก้าตามธรรมชาติ ซึ่งทำให้ปริมาณไขมันไม่มากเท่า อาจเป็นเพราะปลาทะเลหลายชนิดไม่ได้มีการเพาะเลี้ยงเชิงเศรษฐกิจ และยังไม่ใช่ปลาทะเลน้ำลึก ที่กินพวกแพลงตอนที่มีโอเมก้าเป็นอาหาร แต่โดยภาพรวมสิ่งสำคัญคือ แม้ปลาน้ำจืดจะมีโอเมก้าสูง แต่ไขมันในภาพรวมก็สูงด้วย ดังนั้น การกินปลาเหล่านี้ ก็ต้องกินอย่างพอเหมาะ ทำให้สุกด้วยวิธีที่เหมาะสมด้วย” รศ.ครรชิต กล่าว

อีกประเด็นสำคัญที่ต้องใส่ใจหากต้องการได้รับประโยชน์จากโอเมก้า 3 ให้มากที่สุด “ต้องเลือกวิธีปรุงให้ถูกต้อง” เพราะโอเมก้า 3 นั้นสูญสลายไปได้ง่ายหากผ่านความร้อนสูงจึงควรเลือกวิธีปรุงประเภทต้ม แกง หรือนึ่ง จะได้ประโยชน์ที่สุด การผัดก็ยังพอใช้ได้ แต่ควรหลีกเลี่ยงการทอด เพราะผ่านความร้อนสูงเกินไป ทำให้ได้รับปริมาณไขมันมากเกินไป