ที่มา : เว็บไซต์เดลินิวส์
http://www.thaihealth.or.th/
“ฟับบิ้ง” (phubbing) หมายถึง การดูแคลนคู่สนทนาด้วยโทรศัพท์มือถือ โดยหมายรวมทุกรูปแบบการสนทนาที่มีการใช้โทรศัพท์มือถือเข้ามาแทรกแซง ไม่ว่าจะก้มหน้าเล่นคนเดียว เล่นกันทุกคน
ในช่วงระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 5-10 ปี ที่ผ่านมา สมาร์ทโฟน และแท็บเล็ตเข้ามามีบทบาทในชีวิตของคนจำนวนมาก แถมสัญญาณอินเทอร์เน็ตยังพัฒนาให้เข้าถึงได้ง่ายไม่ว่าจะอยู่มุมไหนของโลก จนดูเหมือนว่าการออนไลน์ตลอดเวลานี้ทำให้หลาย ๆ คนสร้างโลกอีกใบขึ้นมาจนละเลยต่อคนรอบข้าง
และเมื่อเร็ว ๆ นี้เอง นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น กรมสุขภาพจิต ได้ร่วมกับ ดร.คาเร็น ดักกลาส ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาสังคม มหาวิทยาลัยเคนท์ ประเทศอังกฤษ ศึกษาพบว่าในจำนวนกลุ่มตัวอย่างชาวอังกฤษ 251 คน นั้นผู้หญิงจะมีพฤติกรรมให้ความสนใจโทรศัพท์มือถือมากกว่าคู่สนทนาและคนรอบข้างมากกว่า 2 ครั้งต่อวัน มากว่า 50% ส่วนผู้ชายไม่ถึง 30%
ในทางกลับกันผู้หญิงเกือบ 70% จะถูกละเลยจากคนรอบข้างมากกว่า 2 ครั้งต่อวัน ส่วนผู้ชายน้อยกว่า 40% ผลการวิจัยหลักชี้ว่า ปัจจัยมาจาก 3 สาเหตุ คือ 1. ภาวะติดอินเทอร์เน็ต 2.ความกลัวการตกกระแสและข้อมูลข่าวสาร และ 3. การขาดการควบคุมตนเอง ซึ่งส่งผลให้เกิดภาวะติดสมาร์ทโฟน และส่งผลต่อให้เกิดพฤติกรรมนี้อย่างต่อเนื่อง
นพ.วรตม์ บอกว่า พฤติกรรมนี้เรียกว่า “ฟับบิ้ง” (phubbing) หมายถึง การดูแคลนคู่สนทนาด้วยโทรศัพท์มือถือ โดยหมายรวมทุกรูปแบบการสนทนาที่มีการใช้โทรศัพท์มือถือเข้ามาแทรกแซงระหว่างการสนทนานั้น ไม่ว่าจะก้มหน้าเล่นคนเดียว เล่นกันทุกคน คุยกันบ้าง หรือไม่คุยเลย ก็นับเป็นฟับบิ้ง ส่วนจะเกิดขึ้นมากน้อยแค่ไหนนั้นแต่ละวงสนทนาเกิดขึ้นไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ความเป็นทางการ และจำนวนคนที่มีพฤติกรรมเดียวกันในวงสนทนา
ทั้งนี้พฤติกรรมดังกล่าวถือ เป็นการกีด กันทางสังคม รูปแบบหนึ่ง (social exclusion) ผู้ที่ถูกคู่สนทนาให้ความสนใจ “มือถือ” มากกว่าจะรู้สึกเหมือนตัวเองถูกกีดกันออกจากวงสนทนา ซึ่งส่งให้เกิดผลเสียหลายประการ เช่น คุณภาพของบทสนทนาลดลง ความสัมพันธ์ระหว่างคู่สนทนาแย่ลง ถ้าเกิดขึ้นซ้ำ ๆ เป็นเวลานานก็อาจเกิดปัญหาที่รุนแรงกว่านี้ตามมาได้
“เคยมีวิจัยก่อนหน้านี้ที่บอกว่าสามารถทำให้คนรักเลิกรากันได้ และงานวิจัยของผมก็ยืนยันเหมือนกันว่าทำลายสัมพันธภาพ ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นเพื่อนหรือแฟน เพราะฉะนั้นถ้าเกิดนาน ๆ คุยกันน้อยลง คุณภาพการคุยก็น้อยลง ก็นำมาสู่การทะเลาะกันมากขึ้น คบกันอยู่ดี ๆ ก็เลิกกันได้แน่นอน”
แม้จะเป็นเพียงการศึกษาพฤติกรรมของคนอังกฤษแค่บางส่วน ซึ่งในประเทศไทยยังไม่มีการศึกษาที่ชัดเจน แต่ นพ.วรตม์ บอกว่าจากประสบการณ์ส่วนตัวรู้สึกว่า คนยุโรปและคนญี่ปุ่นจะให้เกียรติคู่สนทนาค่อนข้างมาก แม้ว่าจะเป็นเพื่อนสนิทกันก็ตาม ในขณะคนจากฝั่งเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะไม่ได้ระมัดระวังตรงนี้มากนัก จึงพบเห็นการให้ความสนใจมือถือมากกว่าคู่สนทนาของตัวเอง
“อยากให้เรามองหน้าแล้วพูดคุยกันมากขึ้น เหมือนเมื่อ 4-5 ปีก่อน เวลานัดเจอเพื่อนเราได้พูดคุยเรื่องต่าง ๆ กันมากมาย มองหน้ายิ้ม หัวเราะด้วยกัน เป็นการนัดเจอที่สนุกสนาน หากเราทุกคนให้ความสำคัญตรงนี้ พยายามเตือนตัวเองเรื่องการใช้มือถือแต่พอดี เราจะดูเป็นคนที่น่ารักมากขึ้น ความสัมพันธ์กับคนรอบข้างดีมากขึ้น ได้เรียนรู้สิ่งรอบตัวมากขึ้น สังคมโดยรวมก็จะมีความสุขมากขึ้นเมื่อได้หันหน้าเข้ามาคุยกัน ความขัดแย้งก็จะลดลงตามไปด้วยครับ” นพ.วรตม์ ฝากทิ้งท้าย