ที่มา : หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวัน 360 องศา โดย รศ.นพ.วิฐารณ บุญสิทธิ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะเเพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

http://www.thaihealth.or.th/

 

 

โรคสมาธิสั้น หรือ attention-deficit hyperactivity disorder (ADHD) เป็นโรคที่ทำให้เกิดปัญหาพฤติกรรมและปัญหาการเรียนที่พบบ่อยที่สุดในเด็ก

โดยมีสาเหตุหลักเกิดจากความบกพร่องในการทำงานของสมองในด้านการควบคุมสมาธิ การยับยั้งชั่งใจ และการจัดระเบียบแบบแผนในการทำกิจกรรมต่าง ทำให้เด็กที่เป็นโรคนี้มีอาการสำคัญเป็น 3 กลุ่มอาการหลัก ได้แก่ อาการสมาธิสั้น (inattention) อาการขาดความยั้งคิดหรือหุนหันพลันแล่น (impulsivity) และพฤติกรรมอยู่ไม่นิ่งหรือซนมากกว่าเด็กปกติในวัยเดียวกัน (hyperactivity)

อย่างไรก็ตาม เด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นแต่ละคนมีอาการแตกต่างกัน บางคนมีอาการอยู่ไม่นิ่งชัดเจนตั้งแต่วัยอนุบาล โดยมีพฤติกรรมซนมากกว่าเด็กทั่วไป ยุกยิ่งอยู่ไม่นิ่ง ชอบปีนป่าย เล่นแรง แหย่เพื่อน และทำอะไรโดยเหมือนปราศจากความยั้งคิด ในขณะที่บางคนไม่ซนมากแต่มีอาการเด่นเป็นอาการเหม่อ วอกแว่กตามสิ่งเร้าได้ง่าย ทำงานไม่เสร็จ ขาดความละเอียดรอบคอบ ขี้หลงขี้ลืม ทำของหายบ่อย ในกรณีหลังนี้อาจไม่เห็นว่าเป็นปัญหาชัดเจนจนโตขึ้นและมีปัญหาความล้มเหลวในด้านการเรียนหรือด้านอื่นๆ หรือบางคนก็มีอาการที่เด่นชัดทั้งอาการซนมากและอาการเหม่อในขณะเดียวกัน

โรคสมาธิสั้นส่งผลกระทบต่อเด็กหลายอย่าง โดยเฉพาะถ้าไม่ได้รับการรักษา เช่น ทำให้เด็กไม่ประสบผลสำเร็จในการเรียน ไม่ได้รับการยอมรับจากเพื่อน ถูกตำหนิ ลงโทษ ซึ่งอาจเป็นผลทำให้มีพฤติกรรมดื้อต่อต้านหรือก้าวร้าว นอกจากนี้ยังอาจมีปัญหาการเสียความภาคภูมิใจในตนเอง วิตกกังวล ซึมเศร้า หรือมีพฤติกรรมเสี่ยงอันตรายต่างๆ อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่าเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นทุกคนจะมีปัญหาดังกล่าว เมื่อโตขึ้นจนสมองมีวุฒิภาวะที่ดี ซึ่งมักต้องรอจนถึงวัยรุ่นตอนปลาย อาการของโรคสมาธิสั้นก็จะลดน้อยลงหรือหายไปได้ ดังนั้นถ้าได้รับการรักษาและช่วยเหลือที่ดี เด็กสมาธิสั้นก็สามารถประสบความสำเร็จในชีวิตได้ไม่แตกต่างกับคนทั่วไป

การวินิจฉัยโรคสมาธิสั้นอาศัยเพียงการซักประวัติ การตรวจและสังเกตพฤติกรรมเด็ก ร่วมกับการใช้แบบประเมินพฤติกรรมจำเพาะของโรคสมาธิสั้นประเมินพฤติกรรมทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน ที่สำคัญคือแพทย์จะต้องวินิจฉัยแยกโรคจากภาวะซุกซนปกติตามวัยและจากโรคทางร่างกายหรือโรคทางจิตเวชอื่นที่อาจมีอาการคล้ายโรคสมาธิสั้น รวมทั้งต้องวินิจฉัยหาความผิดปกติอย่างอื่นที่มักพบร่วมกับโรคสมาธิสั้น เช่น ความบกพร่องในทักษะการเรียน (learning disability, LD) หรือปัญหาอารมณ์และพฤติกรรมอื่น ๆ ในปัจจุบันยังไม่มีการตรวจทางห้องปฏิบัติการหรือการตรวจพิเศษอื่นใดที่ช่วยหรือจำเป็นในการวินิจฉัยโรคสมาธิสั้น

การรักษาโรคสมาธิสั้นจำเป็นต้องอาศัยการรักษาแบบผสมผสาน ด้วยวิธีหลายอย่างร่วมกัน ที่สำคัญได้แก่ 1) การให้ความรู้แก่พ่อแม่ เพื่อให้ทราบเกี่ยวกับโรคที่เด็กเป็นโดยเฉพาะในประเด็นของอาการที่เกิดจากความบกพร่องในการทำงานของสมองโดยที่เด็กไม่ได้ตั้งใจก่อความเดือดร้อน และสามารถมีอาการดีขึ้นได้ถ้าได้รับการช่วยเหลือที่เหมาะสม 2) การปรับสิ่งแวดล้อม เพื่อช่วยให้เด็กควบคุมตนเองได้ดีขึ้น เช่น การจัดบรรยากาศให้สงบ เป็นแบบแผนที่ชัดเจนและไม่มีสิ่งกระตุ้นให้เด็กวอกแวก 3) การช่วยเหลือในห้องเรียน เช่น ให้เด็กนั่งใกล้ครู แบ่งงานให้ทำทีละน้อย จัดการสอนเสริมแบบตัวต่อตัว รวมทั้งการจัดทำแผนการศึกษาตามความต้องการเฉพาะตัวของเด็ก โดยเฉพาะในกรณีที่มีความบกพร่องในทักษะการเรียนร่วมด้วย

4) การปรับพฤติกรรมเพื่อส่งเสริมให้เด็กมีพฤติกรรมที่เหมาะสม เช่น การควบคุมให้เด็กทำงานจนเสร็จ การฝึกการวางแผนและจัดระเบียบในการทำงาน การบอกล่วงหน้าให้เด็กทราบว่าควรทำอะไรและชื่นชมเมื่อทำได้ ทั้งนี้การคาดหวังหรือตั้งเป้าหมายควรเป็นไปตามที่เด็กสามารถทำได้เพื่อให้เกิดความภาคภูมิใจในตนเอง และ 5) การรักษาด้วยยา ในกรณีที่มีความจำเป็น เช่น เมื่อเด็กมีอาการมากจนเกิดผลกระทบต่อการเรียนหรือการดำเนินชีวิตประจำวัน โดยยาที่ใช้รักษาโรคสมาธิสั้นเป็นยาที่มีการนำมาใช้เป็นเวลานานกว่า 60 ปี และมีผลการศึกษาวิจัยจำนวนมากที่พิสูจน์ว่ามีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพที่ดีในการรักษาเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้น

ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ที่สงสัยว่าลูกจะเป็นโรคสมาธิสั้นควรพาลูกไปรับการตรวจวินิจฉัยจากกุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการ จิตแพทย์ หรือจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น เพื่อที่เด็กจะได้รับการวินิจฉัยที่ถูกต้องและการช่วยเหลือตั้งแต่เบื้องต้น ทั้งนี้เพื่อให้เด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นมีคุณภาพชีวิตที่ดีและคุณพ่อคุณแม่ก็มีความสุขขึ้น