ที่มา : เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์

http://www.thaihealth.or.th/

อาการของคนที่กลัวความรักเข้าขั้นหนัก จนแทบไม่เป็นตัวของตัวเองเมื่อเจอคนที่รู้สึกพึงใจ กลัวๆ กล้าๆ อยากจะรัก แต่ลึกๆ ก็กลัวว่าจะรักไม่ได้และทำมันพังอีก เรียกว่ากลัวการจะตกหลุมรัก

 

 

เพราะชีวิตนี้ไม่อยากเสียใจซ้ำซาก สาเหตุของโรคนี้เกิดจากหลายปัจจัย หลักๆ ก็จะเกิดขึ้นจากประสบการณ์ของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการอกหักเสียใจหลายครั้ง ชีวิตในวัยเด็กที่เจอแต่คนล้มเหลวในชีวิตคู่ หรือแม้แต่เรื่องของประเพณีวัฒนธรรมที่เคร่งครัด และกฎระเบียบข้อบังคับจากการเลี้ยงดูที่เข้มงวดของครอบครัว ล้วนแล้วแต่ทำให้เป็นต้นเหตุได้ทั้งนั้น ลองสังเกตตัวเองหรือคนรอบข้างดูว่า มีใครที่เข้าข่ายอาการเหล่านี้บ้าง

มารู้จักก่อนว่า Philophobia คือโรคกลัวการตกหลุมรัก หรือเรียกง่ายๆ ว่าโรคกลัวความรัก โดยจากสถิติในบรรดาโรคกลัวชนิดต่างๆ ถือว่ารั้งอันดับโรคกลัวที่มีผู้ป่วยมากที่สุด จากการวิเคราะห์ของเหล่านักจิตวิทยาก็พากันสันนิษฐานว่า ปัจจัยที่เป็นต้นเหตุของโรคกลัวความรักอาจมาจากเรื่องใกล้ตัว ที่ส่งผลให้ผู้ป่วยโรคนี้พยายามจะหนีความรู้สึกรัก หรือไม่อยากเข้าใกล้ความรู้สึกพิเศษกับใครอย่างจริงจังเลยสักคน แม้จะเกิดความรู้สึกพิเศษกับใครขึ้นมาบ้าง ทว่าสุดท้ายแล้วก็มักจะไม่กล้าเปิดใจให้กับความรัก เนื่องจากเหตุผลอะไรบางอย่าง สาเหตุจัดเป็นโรคกลัวชนิดเฉพาะเจาะจง

สาเหตุของโรคและอาการ อาจมาจากปัจจัย เช่น เหตุการณ์ในแง่ลบที่ฝังใจมาตั้งแต่ตอนเด็ก โดยเฉพาะหากเติบโตมาในครอบครัวที่มีปัญหาหย่าร้าง พ่อแม่คนใกล้ตัวมีชีวิตรักในแง่ลบ เช่น ทะเลาะตบตีกันประจำ หรือแสดงความรุนแรงต่อกันบ่อยๆ รวมทั้งวัฒนธรรม ประเพณี หรือศาสนาที่มีกฎข้อห้ามเกี่ยวกับเรื่องความรักอย่างเข้มงวด บางศาสนา วัฒนธรรม หรือประเพณีของบางที่อาจมีข้อห้ามหรือกฎเกณฑ์ที่ควรระวังหากหญิงและชายจะรักหรือแสดงความรักต่อกัน ซึ่งอาจจะสร้างความรู้สึกเกรงกลัวฝังรากลึกในใจบางคนได้ ส่งผลให้ไม่อยากเสี่ยงกับการมีความรักนั่นเอง หรือประสบการณ์ความรักที่ล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่า โดยเฉพาะกับคนที่มีประสบการณ์อกหักอย่างโชกโชน ความรู้สึกผิดหวัง ความเจ็บปวดที่เกิดจากการกระทำของคนเคยรัก อดีตเหล่านั้นจะตามหลอกหลอนให้รู้สึกเจ็บมากจนไม่กล้าจะเอาหัวใจตัวเองไปลองเสี่ยงอีกครั้ง ซึ่งอาจทำให้เกิดความระแวงระวังเกินเหตุ ไม่กล้าที่จะมีรักครั้งใหม่อีกต่อไป

อาการบ่งชี้ที่เห็นชัดคือ กลัวการเริ่มต้นความรักครั้งใหม่ ทุกครั้งที่พบเจอกับคนที่ถูกใจและรู้สึกว่าความสัมพันธ์กำลังไปได้สวย จะมีความรู้สึกวิตกกังวล และพยายามจบความสัมพันธ์นั้นให้เร็วที่สุด เพื่อที่จะไม่ให้ตัวเองต้องเจอกับภาวะเสียใจ มักจะห้ามใจตัวเองไม่ให้ถลำลึกไปกับความรู้สึกรักชนิดที่จริงจังมากจนเกินไป ปิดโอกาสไม่ให้ใครเข้ามาสานสัมพันธ์ ไม่ว่าจะมีคนมาชอบ เดินหน้าจีบมากแค่ไหน แต่ก็จะต้องเจอกับกำแพงด่านใหญ่ที่ถูกตั้งขึ้นมา เพื่อปิดกั้นไม่ให้คนอื่นเข้ามาทำความรู้จักได้

ชอบอยู่คนเดียว หลงรักการทำอะไรด้วยตัวคนเดียว หงุดหงิดกับการต้องร่วมกิจกรรมกับคนอื่น เบื่อหน่ายที่จะต้องรอคอยใครสักคน เสพติดการอยู่คนเดียว และไม่ต้องการใช้ชีวิตร่วมกับใคร มักจะหลีกเลี่ยงสถานที่ที่คนมีคู่ชอบไปเดทกัน เช่น สวนสาธารณะหรือโรงภาพยนตร์ ดูเหมือนจะรักสันโดษ แต่แท้จริงแล้วเป็นการป้องกันตัวเองไม่ให้พบเจอกับคนที่อาจจะทำให้เกิดความรู้สึกหวั่นไหวด้วยต่างหาก

มือชา เท้าชา หน้าชา หายใจเร็วและแรง เมื่อมีคนเข้ามาจีบ บางสถานการณ์ที่ไม่อาจคาดเดาได้ คุณอาจไปเจอกับคนที่ชอบรุก เดินหน้าจีบแบบตรงไปตรงมา ทำให้คุณเกิดภาวะกดดัน ทำตัวไม่ถูก และมีอาการแทรกซ้อนต่างๆ เหมือนคนตื่นเต้น เช่น เหงื่อออกมือ ใจเต้นเร็ว อาเจียน เป็นลม

แต่ใช่ว่าอาการของโรคนี้จะไม่มีทางรักษา หากพบว่าตัวเองหรือคนข้างรอบที่รู้จักมีอาการแบบนี้ ควรพูดคุยเพื่อหาทางไปพบแพทย์ อีกหนึ่งเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจกันใหม่ คือการพบจิตแพทย์เพื่อพูดคุยถึงปัญหา และหาทางออกร่วมกัน การรักษาจะมีตั้งแต่การเผชิญหน้าเปิดใจเรื่องความรักไปจนถึงการกินยา ซึ่งถือเป็นการแก้ปัญหาที่ดีที่สุดที่ควรจะทำ

อาจจะคิดว่าเป็นเพียงอาการเข็ด กลัวการเสียใจแบบคนทั่วไป เดี๋ยวไปเจอรักใหม่ก็หาย บอกเลยว่า โรคกลัวการตกหลุมรัก น่ากลัวกว่าที่คิด เพราะคนที่เป็นโรคนี้จะไม่สามารถเริ่มต้นใหม่กับใครได้เลยเกือบตลอดชีวิต ภายนอกดูเป็นคนปกติ แต่ทุกครั้งที่จะมีความรักครั้งใหม่ ก็มักจะถอยออกมา ไม่อยากเสียใจ ไม่อยากผิดหวัง วนเวียนอยู่อย่างนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่า บางครั้งอาจจะเสียคนดีๆ ไปแบบไม่ทันได้แม้แต่จะเริ่มคุยกันเลยด้วยซ้ำ บางสถานการณ์ที่ไม่อาจคาดเดาได้ อาจไปเจอกับคนที่ชอบรุก เดินหน้าจีบแบบตรงไปตรงมา ทำให้คุณเกิดภาวะกดดัน ทำตัวไม่ถูก และมีอาการแทรกซ้อนต่างๆ เหมือนคนตื่นเต้น

แต่ใช่ว่าอาการของโรคนี้จะไม่มีทางรักษา หากพบว่าตัวเองหรือคนข้างรอบที่รู้จักมีอาการแบบนี้ ควรพูดคุยเพื่อหาทางไปพบแพทย์ เพราะการพบจิตแพทย์ ไม่ได้หมายความว่ามีอาการทางประสาทเพียงอย่างเดียว การพบแพทย์เพื่อพูดคุยถึงปัญหา และหาทางออกร่วมกัน การรักษาจะมีตั้งแต่การเผชิญหน้าเปิดใจเรื่องความรัก ไปจนถึงการกินยา ซึ่งถือเป็นการแก้ปัญหาที่ดีที่สุดที่ควรจะทำ

ขั้นไหนควรไปพบจิตแพทย์

นพ.อภิชาติ จริยาวิลาศ โฆษกกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ผู้ป่วยบางรายที่มีความกลัวค่อนข้างรุนแรง อาจมีผลกระทบกับชีวิตประจำวันได้ อย่างเช่น กลายเป็นคนเงียบขรึม หมกมุ่นอยู่กับตัวเอง เก็บกด และหลีกหนีจากสังคม ซึ่งลักษณะดังกล่าวอาจทำให้เกิดความกดดันและความเครียดจนส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ ดังนั้น หากรู้ใจตัวเองว่าเสี่ยงต่อโรค ขั้นหนัก ลองเข้าไปปรึกษาจิตแพทย์เพื่อหาทางออกที่ดีร่วมกันดูสักตั้งก็น่าจะดีเพราะโรคนี้รักษาได้ โดยแนวทางการรักษาโรคกลัวความรัก อาจทำได้ดัง 3 วิธีนี้

ความคิดและพฤติกรรมบำบัด (Cognitive Behavioral Therapy)

นักจิตวิทยาและจิตแพทย์จะเข้ามาทำความเข้าใจกับคนไข้ ชวนคุยในประเด็นที่คนไข้รู้สึกกลัว หรืออาจมีรูปภาพและคลิปวิดีโอคนรัก การตกหลุมรัก มาประกอบการรักษา ทั้งนี้ก็เพื่อให้คนไข้มีทัศนคติที่ดีกับความรักมากขึ้น เป็นการกำจัดความรู้สึกกลัวในเรื่องที่ไม่น่ากลัวที่ค่อนข้างได้ผลดีต่อผู้ป่วย

เผชิญหน้ากับสิ่งที่กลัว (Exposure Therapy)

นับเป็นอีกวิธีการรักษาที่ได้ผลค่อนข้างมาก โดยผู้เชี่ยวชาญจะจัดให้ผู้ป่วยเจอกับสถานการณ์หวานๆ ให้เพศตรงข้ามชวนพูดคุย หรือให้ดูหนังโรแมนติก ซีนสุดซึ้ง เพื่อฝึกให้คนไข้มีแรงต้านทานต่อความกลัวของตัวเองเพิ่มมากขึ้น และลดแรงกดดัน ความวิตกกังวลเมื่อเจอสถานการณ์รักๆ ลงไปบ้าง

รักษาด้วยยา

การรักษาด้วยยาจะเป็นแนวทางเสริมสำหรับผู้ป่วยที่มีความเครียดสูง หรือมีความรู้สึกกังวลทุกครั้งเมื่อเจอกับความกลัว โดยวิธีนี้จะช่วยให้ผู้ป่วยควบคุมอารมณ์และการแสดงออกของตัวเองได้ดีขึ้น

โรคนี้ไม่ใช่โรคทางจิตชนิดรุนแรงหรือก่อให้เกิดอันตรายกับคนรอบข้าง ทว่าเป็นอาการทางจิตเวชที่ควรได้รับการเยียวยารักษา เพราะอาจกระทบเข้ากับความรู้สึก สภาพจิตใจ ตลอดจนสุขภาพร่างกายของผู้ป่วยเองอย่างที่ได้บอกเอาไว้ หากพบว่าตัวเองมีอาการป่วยโรค ก็อย่านิ่งนอนใจ หาเวลาไปพบจิตแพทย์กันดีกว่า ไม่อย่างนั้นอาจจะลุกลามไปสู่โรคในกลุ่มเดียวกันอย่าง

โรคกลัวการมีคู่ (Couplestatephobia) กลัวการแต่งงาน ไปจนถึง โรคกลัวการมีเพศสัมพันธ์ (Genophobia) ผู้มีอาการหลายคนสามารถเริ่มต้นความสัมพันธ์โรแมนติกได้ มีกิจกรรมใกล้ชิดได้ เช่น การกอด จูบ แต่กำแพงความกลัวจะก่อตัวทันทีเมื่อเข้าสู่ขั้นตอนของการร่วมเพศ และในที่สุดความกลัวก็จะเป็นอุปสรรคทำให้ไม่สำเร็จ อวัยวะเพศไม่แข็งตัวในเพศชาย หรือปากช่องคลอดไม่เปิดในเพศหญิง แม้ว่าโรคกลัวในกลุ่มทางใจเหล่านี้ไม่ใช่โรคอันตราย แต่ก็ไม่ควรปล่อยไว้เรื้อรัง