ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ โดย นพ.พูลเกียรติ สุชนวณิช สมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย

http://www.thaihealth.or.th/

 

โรคดึงผมตนเอง (trichotillomania) หมายถึง โรคผมร่วงที่เกิดจากการดึงหรือถอนผมตนเอง โดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ โรคนี้จัดอยู่ในกลุ่มความผิดปกติทางจิตเวชแบบย้ำคิดย้ำทำ

สามารถเกิดได้กับทุกบริเวณของร่างกายที่มีผมหรือขนที่ยาวในขนาดที่สามารถดึงออกได้ เช่น ผม ขนคิ้ว ขนตา หนวดเครา และหัวหน่าว เป็นต้น

ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดโรคที่ชัดเจน มีสมมติฐานการเกิดโรคหลายอย่าง เช่น เกิดจากระดับของสารสื่อประสาทในบริเวณสมองขาดความสมดุลทำให้ผู้ป่วยควบคุมพฤติกรรมการดึงผมของตนเองไม่ได้, เกิดจากความเครียดวิตกกังวลและความกดดันกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมดึงผม นอกจากนี้ยังเกิดจากโรคของหนังศีรษะเองโดยการดึงผมจะทำให้อาการดีขึ้น เช่น อาการคันจากรังแค และอาการเจ็บปวดจากปลายประสาทอักเสบ มีข้อมูลจากการศึกษาพบว่าพันธุกรรมอาจมีส่วนในการเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรค

โรคนี้พบได้ในทุกเพศทุกวัย ผู้ป่วยอาจยอมรับหรือไม่ยอมรับว่าดึงผมตนเอง ผมร่วงจะมีได้หลายลักษณะ หลายขนาด อาจเป็นหย่อมเล็ก หรือกระจายหลายหย่อมทั่วศีรษะ หรืออาจกระจายทั้งศีรษะ รูปร่างของหย่อมผมร่วงมีลักษณะแปลก ตำแหน่งของผมร่วงส่วนใหญ่เป็นที่ศีรษะ แต่สามารถพบได้ในตำแหน่งอื่นที่มีขนได้แก่ ผม ขนคิ้ว ขนตา หนวดเคราและหัวหน่าว ผิวหนังบริเวณผมร่วงจะมีลักษณะปกติ อาจพบเส้นผมลักษณะเส้นสั้น ๆ มีความยาวไม่เท่ากัน บริเวณปลายผมมีลักษณะทื่อ และอาจพบผมหักงอในบริเวณผมร่วง

ในการวินิจฉัย คุณหมอจะดูเพื่อแยกจากโรคผมร่วงเป็นหย่อมและโรคเชื้อราที่หนังศีรษะ โดยทั่วไปสามารถวินิจฉัยได้จากการซักประวัติและตรวจร่างกาย ยกเว้นในรายที่มีลักษณะไม่ชัดเจนอาจต้องยืนยันการวินิจฉัยด้วยการตัดชิ้นเนื้อ จากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนการรักษา แพทย์ผู้รักษาประเมินผู้ป่วยเบื้องต้นว่ามีปัญหาทางจิตใจ และปัจจัยกระตุ้นการเกิดโรคหรือไม่ โดยแพทย์ผู้รักษาอาจร่วมรักษาผู้ป่วยร่วมกับจิตแพทย์ การรักษาทำได้ตั้งแต่การให้คำปรึกษาและการปรับพฤติกรรม หากเป็นรุนแรงอาจต้องให้ยาทางจิตเวชในการช่วยควบคุมอาการ และให้การรักษาเฉพาะในกรณีที่ผู้ป่วยมีโรคทางหนังศีรษะร่วมด้วย เช่น ยาทาสเตียรอยด์รักษาภาวะหนังศีรษะอักเสบ หรือให้ยาแก้อาการปลายประสาทอักเสบ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม โรคนี้มีความแตกต่างกันในแต่ละช่วงอายุ

- วัยเด็กจะมีการพยากรณ์โรคดี โดยการดึงผมมักจะเป็นพฤติกรรมที่ผิดปกติ เพียงให้คำแนะนำก็สามารถปรับพฤติกรรมได้

- วัยรุ่นมักมีปัญหาทางด้านจิตใจร่วมด้วยการดำเนินโรคมักยาวนานและเป็นๆ หายๆ

- วัยผู้ใหญ่การพยากรณ์โรคไม่ดี การดำเนินโรคมักจะนานและมักมีความผิดปกติทางจิตใจร่วมด้วย ในผู้ป่วยบางคนอาจมีพฤติกรรมผิดปกติอื่นๆ เช่น การกินผมตนเอง ซึ่งอาจก่อให้เกิดอาการลำไส้อุดตันตามมาได้

โรคนี้อาจหายเองได้โดยแค่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม แต่ควรไปพบแพทย์เพื่อประเมินอาการและหาความผิดปกติทางจิตใจที่อาจพบร่วมด้วย นอกจากนี้ญาติผู้ป่วยควรเข้าใจลักษณะของโรค เพื่อความเข้าใจในตัวผู้ป่วยและความร่วมมือกับแพทย์ในการรักษา