ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์   เรียบเรียงโดย อภิวรรณ เสาเวียง

สาว ๆ เคยสังเกตลักษณะ "ประจำเดือน" ของตัวเองกันหรือเปล่า รู้หรือไม่ว่านี่เป็นประตูที่จะไขไปสู่ความลับทางสุขภาพได้ ตั้งแต่หัวจดเท้า

พญ.ชัญวลี ศรีสุโข สูตินรีเวชเชี่ยวชาญ ประจำโรงพยาบาลพิจิตร ระบุว่า "ประจำเดือน" เป็นผลรวมของระบบฮอร์โมน ระบบประสาท และกายวิภาคของผู้หญิง ที่สามารถสะท้อนถึงสุขภาพและโรคภัยไข้เจ็บของเจ้าตัวได้เป็นอย่างดี โดยสังเกตได้ตั้งแต่ปริมาณ อาการ การมาถึงและจากไป รวมถึงสีของประจำเดือน

"เมื่อเกิดความผิดปกติของประจำเดือน และพอตรวจไปก็จะพบโรคหลาย ๆ โรค โรคที่เจอบ่อย คือ เนื้องอกธรรมดาของมดลูก ผู้หญิงอายุ 30 กว่าปีขึ้นไปแล้วยังไม่มีลูก มักจะเป็นโรค 2-3 คน ใน 10 คน รองลงมาเป็นการอักเสบ ติดเชื้อ คนเป็นเบาหวานจะมีประจำเดือนมาก มะเร็งโพรงมดลูก มะเร็งรังไข่ มะเร็งปากมดลูก รวมถึงมะเร็งส่วนอื่น ๆ ของร่างกายก็ด้วย ประจำเดือนเกี่ยวข้องกับทุกระบบในร่างกายของผู้หญิง เครียด อ้วน ผอม เป็นโรคไทรอยด์ โรคติดเชื้อ โรคไต โรคตับ ล้วนมีผลต่อประจำเดือนทั้งสิ้น"

ทั้งนี้ การมาของประจำเดือนนั้น ปกติจะอยู่ใน ช่วง 21-35 วัน จะมีประจำเดือน 1 รอบ ใน 1 รอบจะมีประจำเดือนประมาณ 3 วัน ไม่เกิน 7 วัน เฉลี่ยแล้วก็ 3-5 วัน ส่วนปริมาณไม่เกิน 80 ซีซี ต่อ 1 รอบ คำนวณง่าย ๆ คือผ้าอนามัยขนาดธรรมดาบรรจุได้ 5 ซีซี ดังนั้นใน 1 รอบจะใช้ผ้าอนามัยประมาณไม่เกิน 16 แผ่น ผิดจากนี้อาจจะสะท้อนความผิดปกติของร่างกายควรมาพบแพทย์

นอกจากนี้ในเรื่องของ "สีประจำเดือน" ซึ่งหลายคนถกเถียงกันอยู่ บ้างก็ว่าเป็นเลือด บ้างก็ว่าไม่ใช่เลือด ในส่วนนี้ขอให้เข้าใจตรงกันว่า ประจำเดือน คือ "เลือดร่วมกับเยื่อบุโพรงมดลูก" ที่หลุดลอกออกมาหลังจากที่ไม่มีการฝังตัวของตัวอ่อน โดยปกติจะม"สีแดงคล้ำ"

"ปกติประจำเดือนมีสีแดงคล้ำ ไม่มีก้อนเลือดใหญ่ แต่เนื่องจากผู้หญิงบางคนอาจจะสวมกางเกงยีนรัดรูป ทำให้เลือดไหลเวียนไม่ดี รวมกันเป็นก้อนบ้าง แต่จะต้องไม่มีก้อนใหญ่เกินไป ซึ่งหากมีก้อนเลือดใหญ่เกิน 2 เซนติเมตรขึ้นไปถือว่าผิดปกติ อาจจะมีการตกเลือดร่วมด้วย"

พญ.ชัญวลี บอกว่า เมื่อจำแนกลักษณะสีของประจำเดือน จะสามารถพยากรณ์โรคภัยได้ ดังนี้ หากประจำเดือนมี "สีแดงสด แดงแจ๊ด" ต้องระวังการเป็นมะเร็งปากมดลูก เนื้องอกข้างในมดลูกและมีการตกเลือด หาก "สีแดงจาง" บ่งบอกว่าเลือดจางได้ด้วย แต่หาก "สีช้ำเลือดช้ำหนอง" เหมือนน้ำคาวปลา แสดงว่าเกิดการอักเสบภายในเมื่อร่างกายสัมพันธ์กับการมาของประจำเดือน ประจำเดือนก็เป็นผลรวมสุขภาพของผู้หญิง ถ้าประจำเดือนดี สุขภาพก็ดี ดังนั้นการดูแลสุขภาพของผู้หญิงต้องมองแบบองค์รวม หมั่นออกกำลังกาย รับประทานอาหารมีประโยชน์ สุขใจก็สำคัญทำทุกอย่างให้ดี