ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ 

http://www.thaihealth.or.th/

 

"ช่องปาก" นับเป็นประตูสู่สุขภาพของคนทุกเพศทุกวัย ที่จะส่งผลโดยตรงกับการมีสุขภาพกายที่ดี การปล่อยปละละเลยสุขภาพของช่องปากเป็นสัญญาณอันตรายที่จะนำไปสู่การเป็นโรคร้ายอื่นๆ ตามมา

สำหรับผู้ที่อยู่ในวัยทอง หรือผู้สูงอายุนั้น โดยปกติระบบต่างๆ ของร่างกายจะมีการเปลี่ยนแปลงในทางเสื่อมถอยลง เช่นเดียวกับสุขภาพช่องปากและฟันย่อมต้องเสื่อมโทรมลงตามกาลเวลา แต่อย่างไรก็ตาม เรายังสามารถคงสภาพปากและฟันที่ดี ที่สามารถใช้งานได้เหมาะสมกับวัยให้อยู่ยืนยาวได้ ถ้าได้รับการดูแลรักษาอย่างถูกวิธี

ทพ.สุธา เจียรมณีโชติชัย รองอธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงปัญหาสุขภาพปากและฟันในผู้สูงอายุว่า เป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม สำหรับผู้สูงอายุนั้น ปัญหาสุขภาพช่องปากที่พบบ่อยๆ ได้แก่ เรื่องฟันผุ รากฟันผุ ฟันสึก โรคปริทันต์ อันเป็นโรคที่เกิดกับเนื้อเยื่อหรืออวัยวะรอบๆ ตัวฟัน ได้แก่ เหงือกอักเสบ และกระดูกหุ้มรากฟัน อันเกิดจากการแปรงฟันไม่ถูกต้อง มะเร็งช่องปากเกิดจากพฤติกรรมการเคี้ยวหมาก สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ หรือถูกแดดมากๆ โรคปากแห้ง ซึ่งการเกิดอาจมีสาเหตุมาจากการกินยา หรืออาการป่วยบางอย่าง เช่น เบาหวาน ความดัน และโรคในช่องปากที่สัมพันธ์กับโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง

สำหรับหลักการง่ายๆ ที่อยากแนะนำในการดูแลสุขภาพช่องปากและฟันสำหรับผู้สูงอายุ ก็คือการแปรงฟันตามสูตร 222 อันได้แก่ แปรงฟันวันละ 2 ครั้งตอนเช้าและ ก่อนนอน โดยแปรงครั้งละ 2 นาทีเพื่อให้ ฟลูออไรด์จากยาสีฟันเคลือบบนผิวฟัน และหลังการแปรงฟันให้งดอาหารทุกชนิด 2 ชั่วโมง เพื่อไม่ให้ฟลูออไรด์หายไป และถึงแม้ว่าจะแปรงฟันก็ควรใช้อุปกรณ์เสริมอย่างไหมขัดฟันเป็นประจำ เพื่อทำความสะอาดซอกฟันและบริเวณเหนือเหงือกที่เป็นช่องว่างใหญ่ๆ ทุกครั้งก่อนแปรงฟัน หลังแปรงฟัน และก่อนนอน ช่วยในการขจัดเศษอาหาร แบคทีเรีย ที่แปรงสีฟันอาจทำความสะอาดไม่ถึง รวมไปถึงควรแปลงลิ้นให้สะอาดด้วยเพื่อสุขอนามัยที่ดีขึ้น ส่วนผู้สูงอายุที่สามารถใช้น้ำยาบ้วนปาก ก็ควรทำความสะอาดเสริมหรือสามารถใช้เกลือผสมน้ำบ้วนปาก ก็จะเป็นการทำให้เชื้อแบคทีเรียในปากลดจำนวนลง

นอกจากนี้ ผู้สูงอายุควรตรวจสุขภาพช่องปากเป็นประจำทุกปี หรือ 6 เดือนครั้ง เพื่อรับบริการ ส่งเสริม ป้องกัน รักษา รวมทั้งการใส่ฟันเทียมทดแทนฟันที่สูญเสียไปอย่างเหมาะสมจากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้หมอฟันช่วยแนะนำ และทำการรักษาบูรณะซ่อมแซมส่วนที่เกิดรอยโรค หรือมีความผิดปกติ ยิ่งถ้าใส่ฟันปลอมอยู่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องไปตรวจเช็กสม่ำเสมอ เพื่อให้หมอฟันทำการแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้น

ขณะที่เรื่องของอาหารกับสุขภาพปากและฟันในวัยสูงอายุ การได้รับอาหารครบถ้วนและมีคุณค่า เนื่องจากเป็นวัยที่ทานอาหารได้ลดลง ทานโปรตีน แคลเซียม เนื้อสัตว์ไม่ค่อยได้ ดังนั้นควรส่งเสริมให้ร่างกาย รวมทั้งอวัยวะช่องปากแข็งแรง คงสภาพการใช้งานไปได้นานตลอดชีวิต ด้วยอาหารทั้ง 5 หมู่ ซึ่งนอกจากจะต้องคำนึงถึงชนิดของอาหารให้ครบถ้วนแล้ว ควรคำนึงถึงลักษณะ รูปแบบ ความอ่อนนิ่ม และความถี่ในการบริโภคอาหารด้วย เนื่องจากผู้สูงอายุโดยมาก จะมีจำนวนซี่ฟันน้อยลง บางครั้งฟันโยกและมักใส่ฟันปลอม ซึ่งประสิทธิภาพการบดเคี้ยวจะลดลง ความสามารถในการทำความสะอาดก็ลดลงเช่นกัน

อีกทั้งโรคในช่องปากเกิดจากหลายปัจจัยเสี่ยง ร่วมกันกับโรคที่สำคัญที่พบในผู้สูงอายุส่วนใหญ่ เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง รวมทั้งโรคที่มาจากอาหาร ความเครียด การสูบบุหรี่ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการดูแลสุขภาพอนามัย เป็นต้น ที่สำคัญหากเกิดการติดเชื้อในช่องปากจะทำให้เกิดการแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ ที่ทำให้เกิดการติดเชื้อ โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดสูง จะพบการอักเสบของสภาวะปริทันต์มากกว่าปกติ ขณะที่ผู้ป่วยเป็นเบาหวานจะมีโรคปริทันต์รุนแรงกว่า การติดเชื้อในช่องปากจะเป็นได้ง่าย และยังส่งผลทำให้ควบคุมน้ำตาลไม่ดีอีกด้วย

ดังนั้นเรื่องของสุขภาพปากและฟันจึงเป็นเรื่องที่ควรต้องดูแลตั้งแต่วัยเด็ก เพื่อช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพอื่นๆ ที่อาจตามมาได้