ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

http://www.thaihealth.or.th/

 

 

สมองแม้จะเป็นส่วนที่ลึกลับซับซ้อนที่สุดในร่างกาย แต่ก็ไม่ต่างอะไรกับอวัยวะส่วนอื่นๆ ถ้าไม่ได้ใช้บ่อยๆ ก็มีสิทธิ์เสื่อมประสิทธิภาพได้ง่ายๆ เหมือนกัน โดยเฉพาะเรื่องของความจำนั้น เป็นสิ่งที่มนุษย์เราให้ความสำคัญอย่างมาก ยิ่งกับคนทำงานด้วยแล้ว ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้เรื่องมันสมองเลยทีเดียว ดังนั้น หากใครที่กำลังมีปัญหาในการจดจำสิ่งต่างๆ เรามีเทคนิคดีๆ ที่จะช่วยฝึกฝนสมอง กับกิจกรรม "เทคนิคเพิ่มพลังความคิดและความจำ" สนับสนุนโดยศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

คุณใหม่-ลัดดาวัลย์ ชูช่วย ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาความจำ และ Mind Map เพื่อการศึกษา กล่าวว่าการทำงานของระบบสมองถือเป็นเรื่องสำคัญที่จะละเลยไม่ได้ เพราะสมองมีหน้าที่ควบคุมและสั่งการการเคลื่อนไหว พฤติกรรม และรักษาสมดุลภายในร่างกายการที่จะเพิ่มศักยภาพของสมองนั้น เราต้องรู้และพิจารณาถึงความถนัดของเราด้วยว่าเป็นความถนัดของสมองซีกไหน ซ้ายหรือขวา ซึ่งสามารถเพิ่มประสิทธิภาพได้ทั้งสองซีก แต่อยากให้เน้นในเรื่องซีกขวาซึ่งเป็นเรื่องของความจริงและความคิดสร้างสรรค์ โดยเราจะใช้หลักมาช่วยในเรื่องของความจำ นั่นคือจินตนาการและการเชื่อมโยง ทำให้เราจำแม่นมากยิ่งขึ้น

เทคนิคอันดับแรกๆ ที่ใช้ในการจำ ต้องอาศัยหลักสองอย่าง นั่นคือจินตนาการและความเชื่อมโยง โดยจินตนาการคือเรื่องของการเปลี่ยนทุกอย่างที่ต้องการจำเป็นภาพ เมื่อเราเปลี่ยนได้เป็นภาพแล้ว เราจะนำมาเชื่อมโยงกับความรู้ที่เรามีในสมองหรือข้อมูลเดิมเราในสมอง เชื่อมกับชีวิตประจำวัน เมื่อเวลาเราจะรื้อฟื้นความจำ มันจะทำให้ง่ายมากกว่า อาทิ พยายามทำให้เป็นภาพ อย่างตัวเลข 1 เป็นจรวด เลข 2 เป็นคอหงส์ เป็นต้น ซึ่งไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ ก็สามารถฝึกในเรื่องของความจำได้ เพียงแค่ใช้เทคนิคในการจำ ที่ไม่ใช่การท่องจำ อีกทั้งเมื่อจำได้แล้วก็ควรจะต้องมีการทบทวนความคิด เพราะหากขาดการทบทวนความคิดของคุณเองแล้วนั้น ความคิดของคุณก็จะค่อยเลือนรางหายไปในที่สุด

ส่วนหลักการสำหรับเพิ่มความจำของเด็กๆ ที่อยากแนะนำพ่อแม่ผู้ปกครอง คือการสรุปย่อ เพื่อฝึกให้เด็กรู้จักการจับประเด็น เข้าใจเนื้อหาได้อย่างตรงจุด ยกตัวอย่างเช่น ใครที่มีลูกอายุประมาณสัก 9 เดือนหรือ 1 ขวบ เวลาพาเขาออกไปข้างนอก เมื่อกลับมาแล้วให้คุณแม่สรุปให้ลูกฟังก่อนว่าวันนี้พาเขาไปไหนมาบ้าง และทำกิจกรรมอะไรบ้าง พอเด็กเริ่มโตขึ้น พอเริ่มพูดได้แล้ว ให้ถามเขาว่า ไปโรงเรียนวันนี้เรียนวิชาแรกวิชาอะไร เพราะว่าผู้ปกครองบางคน หากถามวันนี้เรียนอะไรมาบ้าง เด็กก็จะตอบไม่ได้ เพราะว่ามันเรียนทั้งวันหลายวิชา เพราะฉะนั้น ควรจะถามเขาให้เป็นสเต็ปไปก่อน อย่างวิชาแรกคือวิชาอะไร ครูสอนอะไร ให้ถามเป็นรายวิชา ในที่สุดเด็กก็จะเริ่มสรุปจับประเด็น และเป็นการฝึกฝนเรื่องความจำ เพิ่มพลังความจำ

นอกจากนี้ การเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ก็มีผลในเรื่องการพัฒนาความจำ อาทิ ปลา ถือเป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการ ให้ประโยชน์ต่อร่างกายและสมองสูง โดยเฉพาะโอเมก้า 3 ที่อยู่ในเนื้อปลา มีประโยชน์ที่ช่วยเสริมสร้างการทำงานของสมองให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อาหารพวกผักสีม่วง บลูเบอร์รี่ เบอร์รี่ ก็จะช่วยเรามีความสามารถในการจดจำระยะยาวดีขึ้นกว่าเดิม

ผู้สนใจที่จะร่วมกิจกรรม SOOK Activity ของ สสส. สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทร.0-2343-1500 กด 2, 08-1731-8270 (วันจันทร์-เสาร์ เวลา 09.00-17.00 น. เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์), Line ID : thaihealth_center, @SOOK,https://www.facebook.com/sookcenter.

คุณตาจิรพันธุ์ ยุวะสุต อายุ 79 ปี ผู้เข้าร่วมกิจกรรม บอกว่า กิจกรรมที่จัดขึ้นมีความน่าสนใจและเป็นประโยชน์อย่างมาก เพราะเมื่อเราแก่ตัวลงแล้ว ก็ย่อมขี้หลงขี้ลืมไปบ้าง ซึ่งปกติเคยเป็นคนที่มีความจำแม่น แต่ด้วยอายุเยอะเลยเสื่อมลง การที่ได้แนวคิดพัฒนาความจำจึงถือว่าเป็นเรื่องที่ดี อยากเอาไปฝึกทบทวนให้สมองทำงานมากขึ้น เชื่อว่าสมองมันยิ่งฝึก มันยิ่งจำ ถ้าเกิดไม่ใช้มันก็จะล้าไปในที่สุดครับ

คุณยายสมฤดี ยุวะสุต อายุ 70 ปีผู้เข้าร่วมกิจกรรม บอกว่า รู้สึกดีที่ได้มาร่วมกิจกรรมครั้งนี้ อย่างน้อยการมางานก็ได้ใช้สมองตัวเองมากขึ้น เพราะปัจจุบันนี้คนมักป่วยเป็นโรคสมองเสื่อมกันเยอะ ถ้าได้ฝึกฝนสมองบ่อยๆ ก็จะดีกับตัวเอง นำไปใช้ประโยชน์ได้จริงในชีวิตประจำวัน แม้แต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็ส่งผลดีแล้ว เช่น การจดจำของที่เราวางไว้ได้ แค่นี้ก็ดีใจแล้วค่ะ