ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

http://www.thaihealth.or.th/

 

"โภชนาการอาหาร" ไม่เพียงแค่ช่วยทำให้ผู้สูงวัยอิ่มท้อง แต่การบริโภคอาหารที่ถูกต้องและเหมาะสมกับช่วงวัยนั้นยังเสริมความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อของผู้สูงวัยอีกด้วย เพราะผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปนั้นล้วนแต่มีมวลกล้ามเนื้อที่น้อยลง

จึงเป็นสาเหตุหนึ่งของการปวดเมื่อยร่างกายและโรคกระดูกพรุน และเป็นสาเหตุของโรคเจ็บป่วยอื่นๆ ตามมา อาทิ การขาดสารอาหาร โรคท้องผูกจากอาหารไม่ย่อย เป็นต้น ดังนั้นการเลือกอาหารให้เหมาะกับช่วงวัยจะช่วยเสริมสร้างคุณภาพที่แข็งแรงให้กับคุณตาคุณยายได้ไม่น้อย โดย พี่แวว-แววตา เอกชาวนา นักโภชนาการอาหาร ให้คำแนะนำถึง "หมู่อาหาร" และ "เมนูอาหาร" ที่เหมาะกับวัยหลัก 60 ว่า ได้แก่

โปรตีน

เนื่องจากผู้สูงวัยที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปนั้นมักมีมวลกล้ามเนื้อในร่างกายลดน้อยลง ดังนั้น "โปรตีน" ถือได้ว่าเป็นกรุ๊ปอาหารที่เหมาะกับผู้สูงวัย เพราะโปรตีนเป็นแหล่งของการสร้างกล้ามเนื้อ เพราะอย่าลืมว่าผู้สูงอายุก็จำเป็นต้องสร้างกล้ามเนื้อไม่ต่างจากวัยรุ่น ดังนั้นอาหารที่อุดมไปด้วยโปรตีนที่ผู้สูงวัยควรบริโภค ได้แก่ ไข่, นม, เนื้อสัตว์อย่างเนื้อปลา, หมู อย่างไรก็ตาม แนะนำว่าให้ผู้สูงวัยบริโภคไข่วันละ 1 ฟอง ซึ่งหากผู้สูงอายุที่เป็นโรคไขมันในเลือด หรือมีระดับคอเลสเตอรอลสูงนั้น ก็ควรเปลี่ยนมาเป็นไข่ขาวแทน ซึ่งเมนูเสริมโปรตีนที่ได้จากไข่นั้นคือ "เมนูไข่ตุ๋น" ซึ่งหากต้องการเพิ่มความอร่อยและเข้มข้นให้เมนูนี้ เวลาปรุงไข่ตุ๋นสามารถใส่นมถั่วเหลือง หรือนมสดพร่องไขมัน ก็จะช่วยเมนูไข่ตุ๋นมีความนิ่มอร่อยมากขึ้น ที่สำคัญเมนูนี้เหมาะสำหรับผู้สูงวัยที่ฟันไม่แข็งแรงอีกด้วย

นอกจากนี้ เนื้อหมู-เนื้อไก่ ก็เป็นแหล่งโปรตีนที่ผู้สูงวัยสามารถรับประทานได้เช่นกัน แต่ต้องหลีกเลี่ยงเนื้อหมูและเนื้อไก่ที่ติดมัน เช่น ลองให้ผู้สูงวัยเปลี่ยนมาบริโภค "เมนูกะเพราไก่สับ" ที่ขาดไม่ได้คือเมนูปลา โดยภายใน 1 สัปดาห์นั้น ผู้สูงวัยควรบริโภค "เมนูปลานึ่ง ปลาต้ม" เพื่อแทรกเมนูเนื้อสัตว์ชนิดอื่นๆ อาทิตย์ละ 1 วัน เพื่อให้ร่างกายได้รับทั้งโปรตีนและโอเมกา 3 ที่มีส่วนช่วยบำรุงหัวใจและเสริมสร้างกล้ามเนื้อให้กับสูงวัย

แคลเซียม

เนื่องจากวัย 60 ขึ้นไปนั้นเสี่ยงต่อการกระดูกผุและโรคกระดูกพรุน ดังนั้นอาหารที่อุดมไปด้วยแคลเซียมเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้สูงวัย พี่แววตาบอกว่า อาหารที่มีแคลเซียมสูงนั้น ได้แก่ "ผักใบเขียว" อย่าง คะน้า ใบยอ และนมวัว นมถั่วเหลือง หรือเต้าหู้ ที่มีอุดมไปด้วยโปรตีนจากพืชและแคลเซียม ดังนั้นเมนูเสริมแคลเซียมจากเต้าหู้ที่แนะนำคือ "เมนูแกงจืดเต้าหู้หมูสับ" หรือ "เต้าหู้ทรงเครื่อง" ยิ่งรับประทานบ่อย ยิ่งป้องกันโรคกระดูกพรุนในผู้สูงวัยได้ดี

ผัก

การบริโภคผักถือเป็นสิ่งที่จำเป็นมากสำหรับผู้สูงวัย นักโภชนาการสาวบอกให้ฟังถึง "มะระ" ผักที่มีกากใยอาหารสูงและช่วยย่อยให้กับคุณตาคุณยายได้แบบไม่ต้องกินยาถ่าย โดยเจ้าตัวแนะนำว่าได้แก่ "เมนูแกงจืดมะระ" และ "มะระผัดไข่" เมนูอาหารคาวที่มีฤทธิ์ขมอ่อนๆ นอกจากนี้ "เมนูฟักทองผัดไข่ขาว" ก็ช่วยบำรุงสายตาและชะลอวัยให้กับผู้สูงวัยได้ค่อนดี เพราะฟักทองเป็นผักที่มีเบตาแคโรทีนสูง ที่สำคัญยังมีโปรตีนสูงไม่แพ้ไข่และนมอีกด้วย

คาร์โบไฮเดรต

พี่แววตาบอกให้ฟังว่า "ผู้สูงอายุที่บริโภคข้าวไม่ขัดสี เช่น "ข้าวกล้อง" นั้นจะช่วยเพิ่มวิตามิน ธาตุเหล็ก กากใยอาหาร ที่สำคัญการรับประทานข้าวไม่ขัดสีนั้นยังช่วยเรื่องระบบย่อยอาหารจากการที่ผู้สูงวัยมักมีอาการท้องผูกได้ด้วย แต่หากผู้สูงอายุคนไหนที่คุ้นชินกับการบริโภคข้าวขาว (ข้าวที่ผ่านการขัดสี) ก็สามารถตกแต่งจานอาหารด้วยการประกบข้าวกล้องและข้าวขาวอย่างละครึ่ง ก็ช่วยเพิ่มสีสันการบริโภคให้กับผู้สูงวัยได้ แต่ทางที่ดีก็ควรเน้นให้ผู้สูงวัยกินข้าวไม่ผ่านการขัดสี (ข้าวกล้อง) อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1-2 ครั้งจะดีที่สุด

ผลไม้

การบริโภคผลไม้ถือเป็นอาหารที่สร้างความกระชุ่มกระชวยให้กับผู้สูงวัยได้ไม่น้อย แต่ทั้งนี้ควรเป็นผลไม้ที่มีน้ำตาลไม่สูงมาก และมีกากใยอาหารที่ช่วยย่อยให้ผู้สูงวัย อาทิ มะละกอ กล้วยและแตงโมที่สำคัญผู้สูงอายุควรเลี่ยงขนมที่มีรสหวานจัด เช่น ฝอยทอง ทองหยอด ทองหยิบ เพราะจะยิ่งเพิ่มน้ำตาลในเลือดสำหรับผู้สูงอายุที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน แต่ควรรับประทานเป็น "เมนูแคนตาลูปลอยแก้วน้ำมะพร้าว" โดยการคว้าแคนตาลูปหรือแตงไทยเป็นลูกกลมเล็กๆ จากนั้นนำมาใส่ในน้ำมะพร้าวสด แล้วนำไปแช่เย็นทิ้งไว้ครึ่งชั่วโมง ก็จะช่วยเพิ่มความสดชื่น และเมนูขนมหวานนี้ยังช่วยเพิ่มฮอร์โมนเพศหญิง โดยจะช่วยลดปัญหาผิวแห้งให้กับผู้สูงอายุที่เข้าสู่วัยทองได้ ที่สำคัญยังเป็นเมนูทดแทนขนมหวานที่อุดมไปด้วยกรดโฟลิกสูง ที่ช่วยสร้างเม็ดเลือดให้กับผู้สูงวัยได้ดี