ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

http://www.thaihealth.or.th/

หมายเหตุ : เรียบเรียงจากบทความของ ดร. กฤษกมล ณ จอม ภาควิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

 

จากกรณีน้ำส้มคั้นปลอมที่มีการผลิตขึ้น โดยผู้ประกอบการหลอกขายตามท้องตลาด กลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในโลกออนไลน์อย่างแพร่หลาย 

โดยเนื้อหาในข้อมูลออนไลน์ระบุว่า  "ทำน้ำส้มปลอมใส่ขัณฑสกรนิดเดียว ลงถังกะละมังซักผ้า แล้วเติมน้ำก๊อกผสมสีส้ม" แต่ผู้ต้องหาที่ถูกจับกุมอ้างว่า "จริงๆ น้ำส้มถูกคั้นจากผลส้ม เพียงแต่มีหัวเชื้อและนำมาผสมกับน้ำประปา"  ซึ่งหากพิจารณาตามข้อกำหนดคณะกรรมการอาหารและยา กรณีนี้น่าจะเข้าข่ายความผิดการผลิตอาหารปลอมและอาหารที่ไม่มีฉลาก

ดังนั้น ก่อนซื้อน้ำส้มคั้นสดๆดื่ม จึงควรต้องตรวจสอบให้ดีก่อน และมีข้อแนะนำ ดังนี้

1.น้ำส้มคั้นสดๆ ถ้าตั้งทิ้งไว้สักพัก จะมีตะกอนเนื้อส้มอยู่ด้านล่าง หากไม่มีตะกอนเลย เป็นน้ำสีส้มใสๆ อาจเป็นน้ำส้มผสม เมื่อเปิดขวดแล้วให้ลองดมกลิ่น ถ้าเป็นน้ำส้มคั้นสดจะมีกลิ่นส้มธรรมชาติ หากไม่มีกลิ่นอะไรเลย หรือกลิ่นจางมากๆ ไม่ใช่น้ำส้มคั้นสด เพราะน้ำส้มคั้นสดทั่วไปต้องมีสี กลิ่น รสตามธรรมชาติของส้ม  ปกติน้ำส้มคั้นสดจะมีค่าความเป็นกรดด่าง (pH) ต่ำประมาณ 3.0 ถึง 4.0 สามารถตรวจวัดง่ายๆ ด้วยกระดาษวัดพีเอช จะมีสีเปรียบเทียบให้เห็นข้างกล่องตั้งแต่ค่า 0 ถึง 14 ซึ่งค่าความเป็นกรด-ด่างต่ำเป็นข้อดีของน้ำส้มในการจำกัดชนิดและปริมาณจุลินทรีย์ที่สามารถรอดชีวิตหรือเจริญเติบโตได้ ถ้าเป็นน้ำส้มปลอมจะมีค่าความเป็นกรด-ด่างสูงเกิน 5.0 นั่นแสดงว่า เป็นน้ำส้มคั้นแบบเจือจาง แต่ก็ยังมีกรณีผู้ประกอบการเติมกรดอื่นๆ ลงไปในน้ำส้มเจือจาง เพื่อรักษาค่าความเป็นกรด-ด่างให้ต่ำไว้เหมือนเดิม

2.การเติมขัณฑสกรหรือแซ็กคาริน ซึ่งเป็นสารสังเคราะห์ให้ความหวานแทนน้ำตาล หรือเรียกว่า น้ำตาลเทียม มีลักษณะเป็นผลึกสีขาวขุ่น และมีความหวานกว่าน้ำตาลทราย 300 ถึง 500 เท่า โดยปกติน้ำตาลทราย 1 กิโลกรัม ราคาประมาณ 25 ถึง 30 บาท ทำน้ำเชื่อมสักได้ 1 ลิตร แต่ถ้าต้องการน้ำเชื่อมสัก 300 ลิตร ก็ต้องซื้อน้ำตาลทรายมาไม่ต่ำกว่า 300 กิโลกรัม ราคารวมไม่ต่ำกว่า 7,500 บาท  แต่ขัณฑสกร 1 กิโลกรัม ราคาประมาณ 300 บาท สามารถนำมาทำน้ำเชื่อมได้ 300 ลิตร โดยที่มีความหวานใกล้เคียงน้ำเชื่อมจากน้ำตาลทราย ถ้าใช้ขัณฑสกรแทนน้ำตาล ก็จะใช้ปริมาณน้อยมาก

สำหรับความปลอดภัยของขัณฑสกรนั้น ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ในหมู่นักวิชาการ มีรายงานว่า สารตัวนี้ทำให้เกิดมะเร็งในกระเพาะปัสสาวะของหนูทดลอง แต่ได้มีการแย้งว่าปริมาณที่ทำการทดลองกับหนูนั้น เป็นปริมาณที่ใช้มากเกินกว่าที่จะเป็นจริงได้สำหรับมนุษย์ ในสหรัฐอเมริกาจึงอนุญาตให้ใช้ได้ตามปกติ แต่ต้องอยู่ในความควบคุม และระบุปริมาณที่ใช้ไว้บนฉลาก 80 ถึง 100 มิลลิกรัมต่อลิตรเท่านั้น 

สำหรับประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุขอนุญาตให้ใช้ได้ในเครื่องดื่มไดเอท หรือสำหรับผู้จำกัดอาหาร และน้ำหนักตัว อาหาร สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน และผู้ป่วยโรคอ้วน ซึ่งต้องจำกัดปริมาณน้ำตาล จึงไม่ควรนำมาใช้กับอาหารทั่วไป โดยเฉพาะอาหารที่เด็กรับประทาน แสดงให้เห็นว่าไม่ใส่ใจในการผลิตอาหาร อาจทำให้เกิดจุลินทรีย์ปนเปื้อนระหว่างการผลิต และการเจือจางน้ำส้มด้วยน้ำก๊อก จะส่งผลให้จุลินทรีย์ที่ปนเปื้อนเติบโต อย่างรวดเร็วในสภาวะอากาศร้อน เมื่อผู้บริโภคดื่มเข้าไปอาจท้องเสีย ท้องร่วง หากเป็นสี ที่เป็นอันตรายและมีปริมาณมากเกินไป จะส่งผลต่อระบบย่อยอาหารและทางเดินอาหาร สะสมในร่างกาย เป็นสาเหตุของโรคเรื้อรังในอนาคต  

3.น้ำส้มคั้นปลอมครั้งนี้ ให้ถือเป็นบทเรียนในด้านความปลอดภัยอาหารครั้งสำคัญ โดยผู้ผลิตต้องคำนึงถึงหลักเกณฑ์และวิธีการที่ดีในการผลิตอาหารให้ถูกสุขลักษณะ และมีความปลอดภัย ส่วนผู้บริโภคก็ควรพิจารณาข้อมูลข่าวสารให้ถี่ถ้วน โดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับอาหารที่มีผลกระทบต่อสุขภาพโดยตรง