ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ 

http://www.thaihealth.or.th/

 

โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงมีหลายประเภท ซึ่งโรคเอแอลเอสก็เป็นหนึ่งในกลุ่มโรคนี้ และขณะนี้ยังไม่สามารถทราบสาเหตุของการเกิดโรคที่แท้จริง แต่มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้น ที่คาดว่ามีส่วนสัมพันธ์ กับกรรมพันธุ์

นพ.สมชาย โตวณะบุตร ที่ปรึกษางานวิชาการและงานยุทธศาสตร์ทางการแพทย์ กล่าวเบื้องต้นพบว่า เกิดจากความเสื่อมของเซลล์สมองส่วนที่ควบคุมกล้ามเนื้อ เสื่อมก่อนวัยอันควร เลยทำให้ประสาทส่วนนี้ไม่ทำงาน ส่งผลกล้ามเนื้อไม่สามารถทำงานได้ ค่อย ๆ ลีบ และเคลื่อนไหวไม่ได้ โดยจะเริ่มที่แขน ขา ไม่มีแรง จากที่เคยเดินได้ก็ต้องนอนเตียง หนักเข้าก็กล้ามเนื้อหายใจอ่อนแรง ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ การเดินโรคเร็ว ประมาณ 3-5 ปี ถือเป็นระยะโรคที่ค่อนข้างชัดเจนทุกราย

นพ.สมชาย กล่าวว่า โรคเอแอลเอสเป็นเพียงโรคเดียวในกลุ่มโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ที่ยังไม่มียารักษาให้หายได้ มีเพียงยาบำรุงเท่านั้น การชะลอความรุนแรงของโรคทำได้ยาก ดังนั้นหากผู้ป่วยเป็นโรคนี้ อันดับแรกคือต้องทำใจยอมรับให้ได้ โดยเฉพาะญาติซึ่งมีส่วนสำคัญในการให้กำลังใจผู้ป่วย และดูแลสุขภาพให้ดี อาทิ การให้อาหาร โดยเฉพาะช่วงที่ต้องให้อาหารทางสายยาง ต้องดูแลอย่างดี และให้อาหารเพียงพอ

อย่างไรก็ตาม กรณีของ ร.ต.ศักดริน หากเป็น หรือเคยเป็นผู้ป่วยของสถาบันประสาทวิทยา น่าจะมีการลงทะเบียนรับการดูแลจากมูลนิธิสนับสนุนสถาบันประสาทวิทยา กองทุนเฉพาะผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอแอลเอสอยู่แล้ว ซึ่งเป็นกองทุนที่ช่วยเหลือทุกคนโดยไม่เลือกว่าเป็นใคร โรคนี้สถิติในต่างประเทศพบได้เยอะ ในเมืองไทยพบได้น้อย 

ปัจจุบันไม่มีการเก็บสถิติเอาไว้แต่มีการลงทะเบียนอยู่ที่สถาบันประสาทวิทยา อยู่ประมาท 80 คน ผู้สนใจบริจาคเงินช่วยเหลือผู้ป่วยโรคเอแอลเอส บริจาคได้โดยตรงที่ "กองทุนผู้ป่วยเอแอลเอส" สถาบันประสาทวิทยา โทร. 0-2306-9800 ต่อ 2439