ตาเป็นหน้าต่างและประตูสู่การเรียนรู้สำหรับเด็กที่ช่วยเปิดสมองในการเรียนรู้โลกกว้าง

 

Eye-Q หมายถึง การเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ โดยผ่านทางสายตา ได้แก่ การอ่าน การเขียน การวาดภาพ การมองภาพบนกระดานดำ หรือจอคอมพิวเตอร์ การมองเห็นความสวยงามของธรรมชาติ การมองเห็น และแยกแยะความเหมือน/ความแตกต่างของสิ่งแวดล้อมรอบตัว การจดจำรายละเอียดของตัวหนังสือและการดูรูปภาพโดยผ่านทางสายตาและเข้าสู่การสั่งการของสมอง ดังนั้น การเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ผ่านทางสายตาจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในเด็กที่มักจะเกิดการเรียนรู้จากการใช้สายตาในการมองดูสิ่งต่าง ๆ รอบตัวเป็นสิ่งแรก เพราะฉะนั้นการดูแลรักษาดวงตาและสายตาของเด็ก ๆ ให้เป็นปกติจึงเป็นสิ่งที่สำคัญ และไม่ควรละเลยเป็นอย่างยิ่ง
       
          อาการที่สังเกตได้ว่าเด็กมีปัญหาของดวงตา คือ

1. ตาแดงมีน้ำตาไหล
          2. คันตามีขี้ตามากผิดปกติ
          3. ตาแห้งแสบตาบ่อย ๆ
          4. ตามัวมองอะไรไม่ชัด
          5. เด็กบ่นว่าเจ็บตา มีบาดแผลที่ตา

          อาการที่สังเกตได้ว่าเด็กมีปัญหาทางด้านสายตา คือ

          1. ให้มือขยี้ตาบ่อย ๆ
          2. กะพริบตาถี่ ๆ
          3. มีอาการปวดศีรษะเมื่อใช้สายตามาก
          4. ต้องปิดตาข้างหนึ่งเวลาที่ตั้งใจใช้สายตามองดู
          5. ถือหนังสือชิดหน้ามากเวลาอ่านหนังสือ
       
          เด็กที่มีปัญหาในด้านสายตามักจะส่งผลให้มีปัญหาทางด้านการเรียนรู้ตามมา สาเหตุเพราะมีสายตาที่ไม่ดีจึงทำให้เห็นตัวหนังสือ หรือภาพไม่ชัด หรือพลาดตกหล่นจากบรรทัดของประโยคที่ควรอ่าน ซึ่งมีผลทำให้มีปัญหาทางด้านของการเรียนรู้นั่นเอง
       
         เมื่อไหร่ควรจะไปหาจักษุแพทย์
       
         1. เด็กอายุตั้งแต่สามปีขึ้นไปควรไปตรวจตา 
โดยระบบคอมพิวเตอร์ของจักษุแพทย์อย่างน้อยปีละหนึ่งถึงสองครั้ง เด็กๆจะได้รับการตรวจสอบโดยการอ่านจากกระดานภาพ หรือกระดานตัวเลข ซึ่งสามารถบอกว่าเด็กมีปัญหาในการใช้สายตาได้ในระดับหนึ่ง โดยปกติจะใช้ระยะเวลาในการตรวจประมาณ 2 ชั่วโมง โดยจักษุแพทย์จะเป็นผู้ทดสอบให้เด็กๆดูภาพ หรือจุดต่างๆและบอกจำนวนตัวเลขทั้งใกล้และไกล มองด้านซ้ายและขวา โดยปิดตาข้างใดข้างหนึ่ง เพื่อความถูกต้องและแม่นยำมากขึ้นจะมีการดูภาพ ซึ่งประกอบด้วยสีที่หลากหลายและมีรูปร่างที่แตกต่างกัน โดยแพทย์จะถามว่าเห็นชัดหรือไม่ นอกจากนี้ ยังตรวจดูความดันตา การขยายม่านตา และกระจกตา
       
        2. หลังจากที่ตรวจสุขภาพตาแล้ว พบว่า มีอาการผิดปกติ แพทย์อาจแนะนำให้ใส่แว่นตาซึ่งสำหรับเด็กแล้วควรใส่กรอบพลาสติกและเลนส์พลาสติกเพราะมีน้ำหนักเบา และไม่ควรให้เด็กใส่คอนแทคเลนส์ก่อนอายุ 10 ปี เพราะเป็นการยากต่อการดูแลรักษาความสะอาดสำหรับเด็ก
       
        3. สำหรับเด็กที่มีปัญหาเรื่องตาขี้เกียจ
 จักษุแพทย์จะใช้วิธีการปิดตาข้างหนึ่ง หรืออาจใช้วิธีหยอดน้ำยาในตาข้างที่ดีให้มองไม่ชัด และเพื่อให้ตาอีกข้างสามารถจะทำงานได้มากขึ้น แว่นตาอาจไม่สามารถจะช่วยได้มากนัก ในกรณีของเด็กที่มีตาเขอาจใช้การผ่าตัดกล้ามเนื้อตาเข้าช่วย เพื่อจะทำให้ตามองได้ตรงมากขึ้น
        
        4. สำหรับเด็กที่มีปัญหาทางด้านสายตาแต่เป็นนักกีฬา การใช้แว่นสายตาควรได้รับการแนะนำจากแพทย์ เพราะการเล่นกีฬาอาจไม่สะดวกในการใส่แว่นเพราะทำให้เกิดการได้รับบาดเจ็บได้ง่าย จักษุแพทย์สามารถช่วยในการเลือกแว่นตาที่เหมาะสมสำหรับเด็ก โดยการใช้กรอบที่มีความคงทน เช่น ซิลิโคน เป็นต้น ส่วนเด็กเล่นกีฬากลางแจ้งควรใส่แว่นสายตากันแดดเพื่อป้องกันการได้รับแสงอุตตราไวโอเลตมากเกินไป
       
        การปฐมพยาบาลตาเบื้องต้น
       

        เมื่อได้รับบาดเจ็บเรื่องมีสิ่งใดเข้าตา ไม่ควรใช้มือขยี้ตา เพราะนั่นจะทำให้กระทบกระเทือนมากขึ้น หากมีผงเข้าตาควรให้เด็กใช้วิธีกะพริบตาถี่ ๆ หลาย ๆ ครั้ง น้ำตาจะช่วยล้างสิ่งที่เข้าตาได้ หรือล้างด้วยน้ำสะอาด หากเด็กได้รับการกระทบกระเทือนที่ดวงตา ได้แก่ สารเคมีเข้าตา หรือมีเลือดไหลออกจากตา ควรนำส่งแพทย์ทันที
       
         มีหลายคนบอกว่าตาเป็นหน้าต่างของหัวใจแต่ผู้เขียนอยากบอกว่าตาเป็นหน้าต่างและประตูสู่การเรียนรู้สำหรับเด็กที่ช่วยเปิดสมองในการเรียนรู้โลกกว้าง ดังนั้น เราจึงควรรักษาสุขภาพตาของเด็กให้ดี เพราะ “Eye-Q ดี เพิ่ม IQ”

 

ที่มา : http://www.thaihealth.or.th/