ที่มา : เว็บไซต์บ้านเมือง
http://www.thaihealth.or.th/
ในสังคมปัจจุบันมีคนจำนวนไม่น้อยที่ยังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับเรื่องโรคทางจิตเวชอยู่ เช่น ในภาพยนตร์โทรทัศน์ ตัวแสดงที่รับบทเป็นผู้ที่มีอาการทางจิต ก็ถูกถ่ายทอดออกมาในลักษณะเหม่อลอย งุนงง สับสน เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย เดี๋ยวจำญาติได้ เดี๋ยวก็จำไม่ได้ พูดจาไม่รู้เรื่อง ผมเผ้ารุงรัง ไม่ใส่ใจตัวเอง เก็บตัวเงียบ ไม่สุงสิงกับใคร เป็นต้น ซึ่งคนเหล่านี้มักถูกคนในสังคมเรียกว่า “โรคจิต”
คำว่า “โรคจิต” นั้นจริงๆ เป็นเพียงคำที่ใช้เรียกกว้างๆ ของผู้ที่มีอาการดังกล่าวเท่านั้น ซึ่งในความเป็นจริง โรคจิตมีด้วยกันหลายชนิด แต่ละชนิดมีลักษณะอาการแตกต่างกันออกไป แต่พอจะแบ่งได้เป็น 6 กลุ่มใหญ่ๆ ได้แก่ โรคจิตเภท โรคจิตหลงผิด โรคจิตที่เกิดจากโรคอารมณ์แปรปรวน โรคจิตชนิดเฉียบพลัน โรคจิตที่เกิดจากโรคทางร่างกาย โรคจิตที่เกิดจากสารต่างๆ หรือยา
น.พ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า “โรคจิตเภท (Schizophrenia)” เป็นกลุ่มอาการของโรคที่มีความผิดปกติของความคิด ทำให้ผู้ป่วยมีความคิดและการรับรู้ไม่ตรงกับความเป็นจริงส่งผลเสียต่อการดำเนินชีวิตประจำวันเช่น การดูแลตัวเอง การใช้ชีวิตในสังคม ซึ่งเดิมนั้นเชื่อกันว่า โรคจิตเภทมีสาเหตุมาจากการเลี้ยงดูในวัยเด็กที่ไม่ถูกต้อง ทำให้เด็กเมื่อโตขึ้นป่วยเป็นโรคจิตเภท แต่ปัจจุบันเชื่อว่าสาเหตุหลักเป็นเรื่องของความผิดปกติของ ระบบสารเคมีในสมอง และ ความผิดปกติในส่วนอื่นๆ ของสมอง ส่วนการเลี้ยงดูจากครอบครัวนั้น พบว่า การใช้อารมณ์ต่อกันสูง เช่น ชอบตำหนิติเตียนผู้ป่วย มีท่าทีไม่เป็นมิตร หรือเข้าไปจู้จี้ยุ่งเกี่ยวกับผู้ป่วยมากเกินไป มีผลต่อการกำเริบของโรค เชื่อว่าผู้ป่วยนั้นมีจุดอ่อนบางอย่างอยู่แล้ว เมื่อพบกับสภาพกดดันไม่ว่าจะเป็นเรื่องทางร่างกาย จิตใจ สภาพแวดล้อม ยาหรือสารต่างๆ ก็อาจทำให้เกิดอาการของโรคจิตเภทขึ้นมาหรือทำให้อาการที่มีอยู่นั้นแย่ลงได้
ทุกวันที่ 24 พ.ค.ของทุกปี เป็น “วันโรคจิตเภท” โดยปีนี้กรมสุขภาพจิตได้จัดกิจกรรมรณรงค์เมื่อวันเสาร์ที่ 14 พ.ค.ที่ผ่านมา ในประเด็น “ชีวิตที่มีความหวังและความหมาย : Hope and Meaning of Life” เพื่อสร้างความตระหนักและลดอคติในสังคมที่มีต่อโรคจิตเภท รณรงค์ให้สังคมและประชาชนเห็นถึงความสำคัญ เกิดความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคจิตเภท การดูแลรักษา การเข้าให้ถึงบริการ เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่าการเข้าไม่ถึงบริการรักษา เกิดจากปัญหาที่สำคัญคือ เรื่องตราบาป ที่ญาติหรือผู้ป่วยคิดถึงเรื่องนี้และความไม่เป็นที่ยอมรับของสังคม หรือมีความเข้าใจผิดไม่ทราบว่าโรคนี้เป็นอาการป่วยอย่างหนึ่ง อยากวิงวอนให้ประชาชน ตลอดจนขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่จะช่วยกันเปิดโอกาสให้ผู้ที่อยู่กับโรคจิตเภทได้แสดงศักยภาพและมีที่ยืนในสังคมอีกครั้ง
“อย่างไรก็ตาม ขอย้ำว่า “โรคจิตเภท” สามารถรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพให้กลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้ เส้นทางสู่การหายป่วย คือ 1.ตรวจพบแต่เนิ่นๆ รักษาให้เร็วและต่อเนื่อง 2.ได้รับการสนับสนุนจากครอบครัว ชุมชน และสังคม มีสภาพแวดล้อมความเป็นอยู่ที่มั่นคง มีระเบียบ และสงบ มีคนพูดคุยแบ่งปันประสบการณ์และความรู้สึกแก่กันได้ 3.ได้ทำกิจกรรมที่มีความหมายต่อชีวิต ได้แก่ การเรียน งานอาชีพ งานอดิเรก และ 4.ดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง หลีกเลี่ยงการดื่มสุรา ใช้สารเสพติด ซึ่งเหล่านี้จะช่วยให้อาการหายไปโดยเร็วนำไปสู่การดำเนินชีวิตตามความคาดหวังและวาดฝันไว้ได้”
ด้าน พ.ญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า สัญญาณเตือนของ “โรคจิตเภท” ที่สามารถสังเกตได้เช่น ไม่สนใจตัวเอง บางครั้งนั่งนิ่งไม่เคลื่อนไหว มีความคิดผิดเพี้ยนจากความเป็นจริง มีอาการหลงผิด คิดว่าคนอื่นจะมาทำร้าย มีอาการประสาทหลอน หูแว่ว ได้ยินเสียงคนมาสั่งให้ทำโน่นทำนี่ ได้ยินคนมาพูดคุยกับตน ทั้งๆ ที่ความจริงไม่เป็นเช่นนั้น รวมทั้งเห็นภาพหลอน ซึ่งหากสงสัยว่าตัวเองหรือผู้ใกล้ชิดมีอาการดังกล่าวสามารถปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 หรือรีบปรึกษาแพทย์ เพื่อรับการบำบัดรักษาที่เหมาะสมตั้งแต่เริ่มแรก โดยสามารถเข้าถึงบริการได้ง่ายทั้งสถานพยาบาลของรัฐและเอกชน และไม่ใช่เรื่องน่าอายแต่อย่างใด แต่หากไม่ได้รับการรักษา ย่อมส่งผลกระทบ ตั้งแต่ทำให้ตกงาน คุณภาพชีวิตเสื่อมถอย รวมทั้งในรายที่อาการหนักมากๆ ไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องหรือรักษาไม่ต่อเนื่อง จะทำให้มีความหวาดระแวงสูง กลัวคนอื่นมาทำร้าย นำไปสู่การก่อเหตุรุนแรง สังคมหวาดกลัว ตอกย้ำตราบาปให้ผู้ป่วยมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ภายใต้ พ.ร.บ.สุขภาพจิต พ.ศ.2551 หากพบเห็นผู้ที่มีอาการทางจิตที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อสาธารณะ สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่ รพ. เจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง หรือสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ./1669) เพื่อขอความช่วยเหลือในการนำส่ง รพ.ได้ทันที ขณะเดียวกัน การจะส่งต่อหรือเผยแพร่ภาพหรือข้อมูลใดๆ ของผู้ป่วยไม่ว่าจะด้วยช่องทางหรือวิธีใดก็ตาม ต้องระมัดระวังและไม่ควรทำอย่างยิ่ง ซึ่งหากผู้ใดฝ่าฝืน มีบทลงโทษจำคุกและปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ เนื่องจากผู้ป่วยจิตเวชมีสิทธิคุ้มครองให้ได้รับการบำบัดรักษา รวมทั้งสิทธิคุ้มครองในการเปิดเผยข้อมูล
พ.ญ.บุญศิริ จันศิริมงคล ผอ.รพ.จิตเวชนครสวรรค์ราชนครินทร์ กล่าวว่า เมื่อผู้ป่วยกลับสู่ชุมชนจะได้รับการติดตามต่อเนื่อง เพื่อป้องกันอาการกำเริบและการป่วยซ้ำ โดยได้นำแนวคิดการฟื้นคืนสู่สภาวะ (recovery model) มาปรับใช้ ด้วยหลักการที่ว่า ผู้ป่วยจิตเวชมีศักยภาพที่จะฟื้นคืนชีวิตกลับเข้าสู่สังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรีและพึ่งพาตนเองได้ มีโอกาสใช้ชีวิตได้อย่างปกติเหมือนคนทั่วไป ซึ่งจากการดำเนินงานภายใต้นโยบายขับเคลื่อนแผนพัฒนาระบบบริการสุขภาพ รพ.จิตเวช ยังคงรับส่งต่อดูแลผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังยุ่งยากซับซ้อนจากพื้นที่ เช่น รพ.จิตเวชนครสวรรค์ราชนครินทร์ มีคลินิกจิตเวชนครสวรรค์สัญจร เพื่อให้ผู้ป่วยรับยาต่อเนื่องในชุมชน คลินิกเฉพาะทางจิตเภท (คลินิก ใจดี) และค่ายอุ่นใจเพื่อให้ครอบครัวฝึกดูแลผู้ป่วย ตลอดจนมีการพัฒนา รพ./สถาบันให้เป็นศูนย์เชี่ยวชาญความเป็นเลิศ (Excellence center) เพื่อการพัฒนาแนวทางการดูแลผู้ป่วยจิตเภทที่ทันสมัยและเหมาะสม
ในขณะที่อดีตผู้อยู่กับปัญหาโรคจิตเภทอย่าง คุณเครือวัลย์ เที่ยงธรรม กรรมการสมาคมสายใยครอบครัว กล่าวว่า ความหวังและกำลังใจเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับผู้ที่กำลังเจ็บป่วย ที่จะช่วยให้สามารถก้าวข้ามผ่านความเจ็บป่วยนั้นไปได้ หากผู้ป่วยได้รับการบำบัดรักษาและดูแลอย่างถูกวิธี ก็สามารถกลับคืนสู่สถานภาพเดิมที่เคยเป็นก่อนหน้าได้ ปัจจัยแรกและสำคัญที่สุดคือผู้ป่วยต้องยอมรับก่อนว่า ตนเองมีอาการและเปิดใจที่จะทำการรักษา ครอบครัวยอมรับพามารักษาในระยะเริ่มต้น แพทย์ และยามีประสิทธิภาพ โดยขอวิงวอนสังคมอย่าตีตราผู้ป่วยว่าเป็นคนไม่ดีหรือน่ากลัว หรือเรียกคนที่ทำอะไรไม่ดี ทำอะไรแปลกๆ รุนแรง หรือเรียกฆาตกรว่า โรคจิต ไม่เพียงแต่ทำให้ผู้ที่เป็นโรคนี้เสียใจแล้วยังทำให้ไม่กล้าไปรักษา ต้องทนอยู่กับโรค ทำให้โอกาสในการหายลดน้อยลง ในความเป็นจริงผู้ที่ป่วยเป็นจิตเภท มีข่าวรุนแรงบ้างเป็นบางครั้ง และที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะไม่ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง และปัจจุบันก็ยังมีผู้ป่วยอีกจำนวนมากที่กำลังรอคอยเวลาที่จะได้กลับคืนสู่สังคม แต่จะกลับมาได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการเปิดใจ ให้โอกาส และกำลังใจจากสังคม ที่จะยอมรับว่า โรคจิตเภท ก็เป็นเหมือนโรคเรื้อรังทั่วไป หากได้รับการรักษาที่ดีแล้ว สามารถกลับคืนสู่สังคม และครอบครัวที่พวกเขารักได้เช่นกัน