ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
http://www.thaihealth.or.th/
ไม่พูดถึงคงไม่ได้สำหรับโรคประจำตัวผู้สูงอายุ ที่มาพร้อมกับอากาศที่ร้อนระอุแตะ 40 องศา แถมอุณหภูมิที่แสนจะอบอ้าวนี้คาดว่าจะยาวนาน และจะร้อนสูงถึง 44.4 องศาเซลเซียส
ซึ่งเหตุผลหลักที่ต้องมีประกาศเตือนผู้สูงอายุเกี่ยวกับดูแลสุภาพในช่วงที่อุณหภูมิสูงนั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากสุขภาพร่างกายที่ไม่ค่อยแข็งแรงของผู้สูงอายุ ประกอบกับคนวัย 60 ปีมักมีโรคเรื้อรังแทรกซ้อนอยู่ ประจวบเหมาะกับการที่ร่างกายมีอุณหภูมิสูงขึ้นจากแสงแดด ย่อมทำให้เกิดการเจ็บป่วยได้ง่ายกว่าคนวัยหนุ่มสาว...
งานนี้จึงไม่พลาดต่อสายตรงไปยัง รศ.นพ.ประเสริฐ อัสสันตชัย หัวหน้าสาขาเวชศาสตร์ผู้สูงอายุ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกัน คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ได้เผยให้ถึงทราบถึงโรคยอดฮิตของผู้สูงวัย พร้อมกับการป้องกันและดูแลสุขภาพยามที่ต้องออกแดดเปรี้ยงมาฝากกัน
"โรคท้องเสีย"
นพ.ประเสริฐ บอกให้ฟังเกี่ยวกับโรคนี้ว่า "โรคท้องเสีย" นั้นถือเป็นโรคที่พบได้ค่อนสูงในผู้สูงอายุ เนื่องจากอากาศที่ร้อนจัดนั้นจะทำให้อาหารบูดหรือเน่าเสียได้ค่อนข้างง่าย และในอาหารดังกล่าวจะปนเปื้อนไปด้วยเชื้อแบคทีเรียชนิดที่เป็นสาเหตุของโรคท้องร่วง อาทิ "เชื้อซาลโมเนลลา" ทำให้เกิดอาการท้องเสียเรื้อรัง อาจนานเป็นปี ในเด็กทารกและผู้สูงอายุหากได้รับเชื้อนี้ เชื้ออาจไชทะลุผ่านผนังลำไส้เข้าไปในอวัยวะต่างๆ ทำให้อวัยวะภายในอักเสบได้ นอกจากนี้ยังมี "เชื้ออีโคไล" ที่เป็นเชื้อที่ทำให้ท้องเสียบ่อยที่สุด ทำให้ถ่ายอุจจาระเหลว แต่อาการมักไม่รุนแรง เพราะทั้งเด็กและผู้ใหญ่มีภูมิต้านทานอยู่บ้างแล้ว หรือ "เชื้อสแตฟฟีโลค็อกคัส"ทำให้เกิดอาหารเป็นพิษ อาเจียนและท้องเสีย เป็นต้น ดังนั้นการดูแลรักษาและป้องกันสุขภาพให้กับผู้สูงวัยหากเกิดอาการท้องเสียนั้น หมอแนะนำว่า ให้ผู้สูงอายุจิบน้ำเกลือผสมน้ำต้มสุกให้บ่อยที่สุด ก็จะช่วยบรรเทาอาการช็อก หมดสติ จากการสูญเสียน้ำขณะท้องเสียได้ หรือหากอาการยังไม่ดีขึ้น รีบมาพบแพทย์ให้เร็วที่สุด
"โรคลมแดด" หรือ "ฮีตสโตรก" (Heat Stroke)
สำหรับโรคลมแดดนั้น คุณหมอประเสริฐอธิบายให้เข้าใจว่า "โรคนี้เกิดจากการร่างกายของผู้สูงอายุจะรักษาความร้อนในร่างกายให้สม่ำเสมอ จึงจำเป็นต้องขับถ่ายความร้อนออกมาผ่านทางเหงื่อ เราจึงสังเกตได้ว่าเวลาที่อากาศร้อนจัดก็จะมีเม็ดเหงื่อผุดที่ใบหน้าของเรา ซึ่งในระหว่างที่ร่างกายขับเหงื่อเพื่อลดความร้อนในตัวนั้น ร่างกายของเราก็จะเสียน้ำและเกลือแร่เป็นจำนวนมาก ซึ่งผู้สูงอายุบางรายเสียทั้งน้ำและเหงื่อในปริมาณมากและฉับพลัน นั่นจึงเป็นสาเหตุให้เกิดอาการหน้ามืดและเวียนหัวคล้ายกับอาการบ้านหมุน ตัวแดง หน้าแดง ซึ่งอาการดังกล่าวถือเป็นอาการเบื้องต้น แต่หากอาการของโรคลมแดดรุนแรงขึ้นจากการที่ผู้สูงอายุมีโรคประจำตัวอย่าง โรคไต, โรคความดัน, โรคเบาหวาน ก็จะทำให้ความรุนแรงของโรคลมแดดเป็นมากขึ้น หากอาการของโรคดำเนินมาถึงจุดนี้ก็จะทำให้ผู้สูงอายุหมดสติ และอาจทำให้พิการหรือเสียชีวิตได้ครับ ดังนั้นแนะนำว่าผู้สูงอายุไม่ควรตากแดดในช่วงเที่ยงวัน หรือเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้งในช่วงบ่ายโมงไปถึงบ่าย 4 โมงเย็น แต่หากจำเป็นต้องสัมผัสแดดควรใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำเช็ดตัวเพื่อลดความร้อนในร่างกาย"
"โรคผิวหนังแสบ แดง เป็นผื่น"
การสัมผัสแสงยูวีเป็นเวลานานๆ โดยปราศจากสิ่งป้องกัน จะทำให้ผิวหนังของผู้สูง อายุเกิดอาการไหม้ เกรียม แสบ และแดงเป็นผื่นได้ ดังนั้นนอกจากดื่มน้ำให้มากกว่าปกติ เพื่อสร้างความชุ่มชื่นให้กับร่างกาย รวมไปถึงผิวพรรณแล้ว การทาครีมกันแดดที่มีค่าป้องกันรังสียูวีมากกว่า 50 ปี ก็ช่วยป้องกันแดด ที่สำคัญยังช่วยปกป้องผิวหนังของผู้สูงอายุจากการลอก คัน ได้เช่นเดียวกัน
ทิ้งท้าย คุณหมอประเสริฐ บอกถึงวิธีการดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุในช่วงอากาศร้อนไว้เบื้องต้นว่า "1.เลี่ยงการอยู่ในสถานที่ ที่มีแสงแดดจ้ามากเกินไป เพื่อป้องกันการเกิดโรคลมแดดและผื่นแดงตามร่างกาย 2.จิบน้ำเปล่าให้บ่อยที่สุด 3.ผู้สูงอายุควรอยู่ในที่มีลมพัดโกรก หรือในสถานที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก เช่น ระเบียงบ้าน ใต้ต้นไม้ นั่งเล่นในสวนสาธารณะ ขณะแดดอ่อน 4.สวมแว่นกันแดด และกางร่มก่อนออกจากบ้าน 5.สวมใส่เสื้อผ้าเนื้อบางเบา เพื่อช่วยระบายอากาศขณะออกไปสัมผัสแดดจ้า"