ที่มา : เว็บไซต์ไทยรัฐ

http://www.thaihealth.or.th/

 

ถึงแม้ในช่วง 3-4 ปีนี้เทรนด์ออกกำลังกายรักษาสุขภาพมาแรง แต่ยังเป็น สัดส่วนที่น้อยมากเมื่อเทียบกับพฤติกรรมเสี่ยงของมนุษย์ยุคดิจิตอล ทั้งพฤติกรรมหน้าจอ พฤติกรรมเนือยนิ่ง และวิถีชีวิตของพนักงานออฟฟิศ ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้บั่นทอนสุขภาพอย่างยิ่ง

เพื่อให้ทุกท่านมีทางเลือกในการดูแลตัวเองมากขึ้น ผมขอแนะนำให้รู้จักคำว่า กิจกรรมทางกาย หรือ Physical Activity คือ การเคลื่อนไหวร่างกายในอิริยาบถต่างๆจากการทำงานของกล้ามเนื้อซึ่งก่อให้เกิดการใช้และเผาผลาญพลังงาน ใครมีกิจกรรมทางกายมากขึ้น สุขภาวะก็ดีขึ้น โอกาสป่วยก็ลดลง

กิจกรรมทางกายแบ่งได้ 3 ประเภท 1.กิจกรรมที่เกี่ยวกับการทำงาน ได้แก่งานทุกประเภทที่ต้องใช้แรงงาน รวมไปถึง “งานบ้าน” 2.กิจกรรมเกี่ยวกับการเดินทางไปมายังที่ต่างๆ เช่น การเดินหรือขี่จักรยานตั้งแต่ 10 นาทีขึ้นไปเพื่อไปทำงาน จ่ายตลาด หรือไปทำธุระ 3.กิจกรรมนันทนาการ เช่น เล่นกีฬา ออกกำลังกาย

ก่อนหน้านี้การรณรงค์ให้คนใส่ใจดูแลสุขภาพจะพูดกันแค่ออกกำลังกายและเล่นกีฬาเท่านั้น (ซึ่งหลายคนมักมีข้ออ้างต่างๆนานาที่จะหลีกเลี่ยงการออกกำลังกาย อาทิ ไม่มีเวลา เหนื่อย ขี้เกียจ ทำไม่ไหว) ทั้งๆที่กิจกรรมทางกายประเภทที่ 1 และ 2 ก็ส่งผลดีต่อสุขภาพร่างกายเช่นกัน

การปั่นจักรยานหรือเดินแทนการขับรถ การลงรถเมล์ก่อนถึงจุดหมาย 1 ป้ายแล้วเดินต่อไปยังจุดหมาย การเดินขึ้นบันไดแทนการใช้ลิฟต์ วิธีต่างๆเหล่านี้ถ้าทำตั้งแต่ 10 นาทีขึ้นไปจะช่วยให้สุขภาพแข็งแรงขึ้น อยู่ที่ว่าคุณใจแข็งและมีวินัยพอที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตัวเองหรือเปล่า

ถ้าผมจำไม่ผิดย้อนหลังกลับไปไม่เกิน 5 ปี ช่วงที่ คุณหมอประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ อายุประมาณ 60 กว่าๆ คุณหมอเดินขึ้นบันไดไปทำงานที่ชั้น 34 อยู่เสมอ ถึงวันนี้อายุเข้าหลัก 7 แล้วก็ยังดูฟิตปั๋งอยู่เลย ถ้าใครจะลองปฏิบัติดูบ้าง เอาแค่ขึ้นชั้น 10 ก็พอ รับรองเดือนเดียวเห็นผล แต่ให้ทำเฉพาะเดินขึ้นเท่านั้น ขาลงห้ามเดินลงบันไดเด็ดขาด ไม่อย่างนั้นหัวเข่าเสียหมด

จากข้อมูลทางการแพทย์พบว่า กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เช่น โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจและสมอง โรคถุงลมโป่งพอง โรคมะเร็ง โรคความดัน โรงอ้วนลงพุง ฯลฯ เป็นปัญหาสุขภาพอันดับหนึ่งของประเทศ ประมาณ 70% ของสาเหตุการเสียชีวิตมาจากกลุ่มโรคนี้ เฉพาะปี 2557 มีคนไทยเสียชีวิตด้วยโรคกลุ่มนี้ถึง 5 แสนคน ทั้งๆ ที่เราสามารถลดความเสี่ยงในการเป็นโรคกลุ่มนี้ได้ด้วย “กิจกรรมทางกาย”

นอกจากนี้มีงานวิจัยบ่งชี้ว่าการมีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอจะทำให้เด็กมีสุขภาพจิตดีขึ้น ผลการเรียนดีขึ้น ส่วนผู้ใหญ่ก็จะทำให้เรื่องเซ็กซ์ดีขึ้น ทั้งในแง่ของคุณภาพและปริมาณ

ช่วงปลายปีนี้จะมีการประชุมระดับโลกที่ประเทศไทย โดย สสส.ได้รับเกียรติจาก องค์การอนามัยโลก ให้เป็นเจ้าภาพจัด การประชุมนานาชาติว่าด้วยการส่งเสริมกิจกรรมทางกายและสุขภาพ ครั้งที่ 6 (The 6th ISPAH ; International Congress on Physical Activity and Public Health) เอาไว้ช่วงนั้น ผมจะเล่าให้ฟังถึงเนื้อหาสาระและประโยชน์ที่ได้จากการประชุมให้ทราบอีกครั้ง

ความคาดหวังในส่วนของไทยคือผลักดันให้เกิดการส่งเสริมกิจกรรมทางกายอย่างยั่งยืน แต่ถ้าตอนนี้ท่านผู้อ่านเกิดแรงกระตุ้นแล้ว ไม่ต้องรอปลายปีครับ ออกสตาร์ตได้เลย