ที่มา : MGR Online 

http://www.thaihealth.or.th/

โดย : ศ.พญ.ศรีศุภลักษณ์ สิงคาลวณิช สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี และผศ.ดร.พญ.จิตติมา ฐิตวัฒน์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล

 

โรคติดเชื้อที่แสดงอาการบนผิวหนัง พบได้ทั้งในเด็กและในผู้ใหญ่ แต่ลักษณะของผื่น บริเวณที่เกิดโรค ความรุนแรงแตกต่างกัน โดยเชื้อที่ก่อโรคมี 4 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ เชื้อไวรัส แบคทีเรีย รา และปาราสิต แบ่งเป็นโรคที่พบบ่อย ได้ดังนี้

เชื้อไวรัส

โรคอีสุกอีใส เกิดจากเชื้อวาริเซลลา-ซอสเตอร์ (varizella-zoster) ติดต่อทางการหายใจ เริ่มจากมีไข้ ขณะเดียวกันก็จะมีตุ่มแดง ๆ คัน กระจายไปตามใบหน้า ลำตัว ต่อมาตุ่มแดงเปลี่ยนเป็นตุ่มใส ๆ คล้ายหยดน้ำ ต่อมาอีก 2-3 วันก็จะตกสะเก็ด ตุ่มใหม่มากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้ผื่นมีหลายแบบอยู่ในคนเดียวกัน ในเด็กผื่นจะน้อย อาการไม่มาก ผู้ใหญ่มักจะมีอาการรุนแรงและมีตุ่มขึ้นมากกว่าเด็ก โดยทั่วไปผื่นหายโดยไม่มีแผลเป็น ยกเว้นติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน เมื่อโรคอีสุกอีใสหาย เชื้อไวรัสนี้อาจไปหลบอยู่ที่ปมประสาท เมื่อภูมิคุ้มกันต่อเชื้อต่ำลงจะเกิดโรคงูสวัด ในภายหลังได้

โรคงูสวัด เกิดจากเชื้อไวรัสโรคอีสุกอีใสที่ซ่อนอยู่ในปมประสาทเส้นใดเส้นหนึ่ง แบ่งตัวเพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดการอักเสบที่เส้นประสาท เชื้อกระจายมาที่ผิวหนังเกิดตุ่มเหมือนอีสุกอีใสขึ้นตามบริเวณที่เส้นประสาทเส้นนั้นไปเลี้ยง ปัจจัยกระตุ้นให้เกิดโรคงูสวัด คือการที่ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายต่ำลง จากอายุมากขึ้น โรคมะเร็ง โรคเอดส์ หรือได้รับยากดภูมิ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดตามแนวเส้นประสาทนำมาก่อนหรือเกิดพร้อมกับผื่น ผื่นงูสวัดจะเป็นแนวยาวซีกใดซีกหนึ่งของร่างกายเท่านั้น ไม่พันรอบตัว เพราะเส้นประสาท 1 เส้นเลี้ยงแค่ครึ่งหนึ่งของลำตัว แม้ผื่นงูสวัดหายไปแล้ว ผู้ป่วยจำนวนหนึ่งอาจมีอาการปวดเรื้อรังบริเวณนั้นไม่หายขาด

คนส่วนใหญ่มักคิดว่างูสวัดพบในผู้ใหญ่เท่านั้น แต่ในความเป็นจริง เด็กก็สามารถเป็นโรคนี้ได้ ถ้าเกิดโรคในเด็ก มักได้ประวัติว่าเด็กเคยเป็นอีสุกอีใสเมื่ออายุน้อยกว่า 1 ปี หรือมารดาเป็นอีสุกอีใสระหว่างตั้งครรภ์ ซึ่งลักษณะที่แตกต่างระหว่างโรคงูสวัดในผู้ใหญ่กับในเด็ก คือ เด็กไม่พบอาการปวดเรื้อรังหลังผื่นหาย สำหรับการรักษาให้ยาต้านเชื้อวาริเซลลา-ซอสเตอร์ และการรักษาตามอาการ ได้แก่ ประคบผื่น ทายาที่ช่วยให้ผื่นแห้งเร็ว ให้ยาแก้ปวด ส่วนใหญ่ผื่นมักหายเองได้ในเวลา 1-2 สัปดาห์ การให้ยารับประทานต้านเชื้อไวรัส ถ้าจะให้ได้ผลดี ควรเริ่มให้ภายในเวลา 72 ชั่วโมงแรก หลังจากมีผื่นขึ้น การใช้ยารักษาอื่น ๆ จะขึ้นกับอาการของผู้ป่วยเป็นหลัก

โรคหูดข้าวสุก ติดต่อโดยการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่เป็นโรคหูดข้าวสุก ถึงแม้ว่าโรคนี้จะเป็นโรคที่ไม่อันตรายแต่ก็สามารถติดต่อแพร่กระจายไปยังผู้อื่นได้ ซึ่งจะมีลักษณะเป็นตุ่มนูนมีสีเดียวกับผิวหนังขนาดต่างๆ กัน อาจพบได้มากกว่า 10 ตุ่มขึ้นไป ตรงกลางตุ่มมักบุ๋ม ภายในตุ่มจะพบสารสีขาวแข็งคล้ายข้าวสุก ตำแหน่งที่พบบ่อยในเด็กจะอยู่ตรงช่วงลำตัว หน้าอก หลัง แขนขา ส่วนผู้ใหญ่เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์พบบริเวณอวัยวะเพศ โดยการรักษามีได้หลายวิธีคือ การจี้ไฟฟ้า พ่นไนโตรเจนเหลว ทายา แต่วิธีที่ได้ผลดีที่สุดคือแพทย์จะหนีบเอาตุ่มสีขาวออกให้หมดเพื่อทำลายเชื้อไวรัสภายใน

เชื้อแบคทีเรีย

โรคแผลพุพอง เกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่ปกติอยู่บนผิวหนัง แต่เพิ่มจำนวนมากขึ้น แผลเริ่มจากตุ่มหนองหรือตุ่มน้ำใส ต่อมาตกสะเก็ดแห้งสีน้ำผึ้งติดแน่น พบที่หน้า แขน ขา ติดต่อจากแผลไปยังส่วนอื่น ๆ โดยการแกะเกา พบในเด็กก่อนวัยเรียน สัมพันธ์กับการไม่รักษาความสะอาด ความชื้น อากาศร้อน ผู้ใหญ่พบน้อยมาก รักษาโดยใช้ยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียทา อาจให้ยาปฏิชีวนะรับประทานเพื่อลดการแพร่กระจายของเชื้อ

เชื้อรา

เกลื้อน เชื้อเกลื้อนเป็นเชื้อราปกติอยู่บนผิวหนัง ในภาวะความมันและความชื้นเหมาะสม จะเพิ่มจำนวนก่อโรคได้ จึงพบได้บ่อยในช่วงวัยรุ่นถึงวัยกลางคน โดยเฉพาะคนที่มีผิวมัน เหงื่อออกมาก ผิวหนังชื้นอยู่เสมอ พบประปรายในเด็กโตแถวคาง หน้าหู ลักษณะของผื่นจะเป็นวงเล็ก ๆ เริ่มจากรอบรูขุมขน อาจขยายรวมกันเป็นปื้นใหญ่ บนผื่นจะมีขุยละเอียด ถ้าใช้เล็บขูดจะเห็นขุยชัดขึ้น ผื่นมีได้หลายสี ตั้งแต่สีขาว สีแดงจนถึงสีน้ำตาล พบบริเวณที่มันและชื้น ได้แก่ หน้าอก หลัง ไหล่ ต้นคอและต้นแขน อาจไม่มีอาการหรือคันเล็กน้อยรักษาด้วยแชมพูกำจัดเชื้อรา เช่น 20% sodium thiosulfate หรือ 2.5% selenium sulfide หรือ ketoconazole โดยทาแชมพูทั่วบริเวณที่มันและชื้น เช่น ลำตัว ต้นแขน ต้นขา ทิ้งไว้ 5-10 นาทีแล้วล้างออก ถ้าฟอกมากเกินไป อาจเกิดการระคายเคืองที่ผิวหนังได้

กลาก เป็นโรคที่คนทั่วไปมักได้ยินชื่อบ่อย ๆ กลากเป็นโรคติดเชื้อราที่ผิวหนัง เล็บและเส้นผม เกิดจากการใช้สิ่งของร่วมกับคนเป็นโรค ติดจากดิน หรือจากสัตว์ ร่วมกับผิวหนังชื้น โดยกลากบริเวณในร่มผ้า เรียกว่า โรคสังคัง กลากที่ฝ่าเท้า และง่ามนิ้วเท้า เรียก ฮ่องกงฟุต โดยกลากที่ผิวหนังเริ่มจากเป็นตุ่มแดงแล้วค่อยๆ ขยายลามออกไปเป็นวง ขอบเขตชัดเจน แดงนูนและมีสะเก็ด บริเวณผิวหนังตรงกลางผื่นเมื่อขยายออกแล้วจะเหลือรอยเพียงเล็กน้อยจนเกือบปกติ ขอบผื่นอาจมีตุ่มน้ำใสหรือเป็นหนองขึ้นอยู่กับชนิดของเชื้อและปฏิกริยาจากภูมิต้านทานของผู้ป่วย บางครั้งผื่นอาจลามติดต่อกันหลายวง จนมีลักษณะเป็นวงแหวนซ้อนกัน มักมีอาการคัน

กลากในเด็ก พบบ่อยที่ศีรษะ ผื่นเป็นขุยสีเทา ผมร่วง หัก หรืออักเสบมากเป็นตุ่มฝีหนองสลับกับร่องรอยของการอักเสบที่หายเองเป็นแผลเป็น เรียกว่า ชันนะตุ ในผู้ใหญ่ไม่ค่อยพบกลากที่เส้นผมแต่พบกลากที่เล็บบ่อยกว่าเด็ก

หากเป็นผื่นที่มีขอบชัด ให้สงสัยว่าเป็นโรคกลาก การทายาสเตียรอยด์ ผื่นอาจดีขึ้นแต่ไม่หายและลามออกเรื่อย กรณีเป็นกลากที่ผิวหนังควรใช้ยาทาฆ่าเชื้อรา ทาวันละ 2 ครั้ง นาน 4-6 สัปดาห์ ในรายที่เป็นโรคบนผิวหนังที่หนา เช่น ที่ฝ่ามือและฝ่าเท้า อาจต้องใช้ระยะเวลาในการรักษานานกว่าปกติ ในส่วนของการรับประทานยาฆ่าเชื้อรา จะใช้ในกรณีที่เป็นผื่นบริเวณกว้าง กลากที่เล็บ หรือ กลากที่ศีรษะ ซึ่งควรปรึกษาแพทย์

ปาราสิต

โรคหิด เกิดจากไรชนิดหนึ่ง ติดต่อโดยการสัมผัสใกล้ชิดผู้เป็นโรค อาการคือ เป็น ตุ่มน้ำใสหรือตุ่มแดง ทั่วตัวแขนขา ผื่นมากบริเวณที่อุ่น ซอกพับ เช่น ง่ามนิ้วมือ ง่ามนิ้วเท้า ข้อมือ ข้อเท้า รักแร้ หัวนม สะดือ ก้น และอัณฑะ ผู้ป่วยคันมากโดยเฉพาะเวลากลางคืน หากเกามากอาจเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ทำให้เป็นตุ่มหนองร่วมด้วย หิดในเด็กพบผื่นหรือตุ่มใสที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้าได้บ่อย และมีตุ่มนูนแดงคันที่อวัยวะเพศ หิดในผู้ใหญ่จะไม่เป็นตุ่มใสและมักไม่พบที่ฝ่ามือฝ่าเท้า ทุกคนในบ้านควรได้รับการรักษาพร้อมกันหมด ถึงแม้จะไม่มีอาการ เพราะบางคนอาจติดหิดแล้วแต่ยังไม่มีอาการก็ได้ โดยทายาตั้งแต่คอลงไปจนถึงปลายเท้าให้ทั่วทั้งตัว โดยเฉพาะบริเวณซอกพับ ยกเว้นศีรษะและหน้า ให้ทายาตอนเย็นหลังอาบน้ำเสร็จ ทายาทิ้งไว้ทั้งคืนถึงเช้าแล้วจึงอาบน้ำล้างยาออก ควรนำเสื้อผ้า ผ้าปู ปลอกหมอน ผ้าห่ม ที่ใช้อยู่ทั้งหมดไปซักในน้ำร้อน

เหา ตัวเหา อาศัยอยู่บนหนังศีรษะและเส้นผม อาศัยเลือดบนหนังศีรษะเป็นอาหาร โรคนี้เกิดการติดต่อและการแพร่กระจายจากศีรษะสัมผัสกันโดยตรง และจากการใช้สิ่งของร่วมกัน อาทิ หวี แปรงผม หมวก ผ้าเช็ดศีรษะ หมวกกันน็อค ผู้ป่วยส่วนมากไม่มีอาการผิดปกติ บางคนอาจมีอาการคัน หนังศีรษะแดงเป็นขุยหรือเป็นสะเก็ด อาจพบรอยเกาที่บริเวณหนังศีรษะ ตัวเหาพบยากเพราะคลานหลบตามเส้นผมได้ แต่ไข่เหานั้นพบได้ง่ายมักพบมากที่บริเวณท้ายทอยและหลังใบหู วิธีกำจัดเหามีหลายแบบอาจใช้ครีม เจล หวี หรือยากิน ไม่ว่าจะใช้วิธีใดต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของการรักษาวิธีนั้นๆ อย่างเคร่งครัด ในเด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี ไม่ควรซื้อยาใช้เอง ควรให้การรักษาทุกคนในครอบครัวพร้อม ๆกัน แม้ว่าจะยังไม่มีอาการของความผิดปกติ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายโรค

โดยสรุปหากมีผื่นผิวหนัง หรือคันโดยไม่ทราบสาเหตุ ไม่ควรซื้อยามารับประทานหรือยาทาเอง ควรพบแพทย์เพื่อการวินิจฉัยและการรักษาที่ถูกต้อง ไม่ควรเกา หรือ แกะ เพราะจะทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนและมีการกระจายของโรคเพิ่มขึ้น ควรปรึกษาแพทย์ผิวหนังดีที่สุด