ที่มา : MGR Online
http://www.thaihealth.or.th/
พ่อโพสต์ตารางชีวิตเสาร์-อาทิตย์ลูกชาย บังคับดูหนังสือ ห้ามหลับ สลับพักผ่อนทุก 2 ชั่วโมง อวดช่วยลูกมีวินัยสอบเข้าโรงเรียนได้ โลกออนไลน์วิจารณ์ขรมเข้มงวดเกินไป ด้านจิตแพทย์เด็กชี้จัดตารางชีวิตลูกเป็นเรื่องดี แนะแบ่ง 4 ช่วงวัย จัดตารางให้ช่วงอนุบาลหวังฝึกวินัย จัดตารางร่วมกันช่วงประถม มัธยมให้ลูกจัดตารางเอง พ่อแม่แค่เตือนและดูแลห่างๆ ช่วยลูกบริหารจัดการตัวเองเป็น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้สังคมออนไลน์มีการแชร์ภาพและข้อความในเฟซบุ๊กของคุณพ่อท่านหนึ่ง ซึ่งได้โพสต์รูปภาพตารางกิจกรรมวันเสาร์-อาทิตย์ของลูกชาย โดยระบุว่าเป็นกฎเหล็กที่ลูกชายต้องทำตาม ตั้งแต่สมัยเรียนมัธยมศึกษาตอนต้น จึงส่งผลให้สามารถได้โรงเรียนที่ต้องการ ซึ่งตารางกิจกรรมนั้นกำหนดให้ต้องตื่นนอน 08.00 น. และตั้งแต่ 10.00 น. ให้ทำการบ้าน อ่านหนังสืออยู่ภายในห้องเป็นเวลา 2 ชั่วโมง สลับกับเวลารับประทานอาหารและพักผ่อนทุก 2 ชั่วโมง และย้ำว่าเป็นความปรารถนาดี เพราะความมุ่งมั่นและขยันจะทำให้ไปถึงความสำเร็จโดยง่าย พ่อแม่ไม่ได้อยู่กับลูกไปตลอดชีวิต ลูกจึงต้องขยันและเรียนให้มาก จะได้มีวิชาติดตัว ประกอบอาชีพเลี้ยงตัวเองได้ ทำให้มีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักทั้งเห็นด้วยว่าเป็นการสร้างวินัยให้ลูก และไม่เห็นด้วยเพราะมองว่าเป็นการเข้มงวดจนเกินไป
นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ จิตแพทย์ด้านเด็กและวัยรุ่น กรมสุขภาพจิต กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า การจัดตารางเวลาชีวิตเป็นเรื่องที่ดีมาก ซึ่งตนมักย้ำกับทุกครอบครัวที่เข้ามาปรึกษาเสมอว่าให้ทุกครอบครัวมีการจัดตารางเวลาชีวิตของลูก แต่วิธีการและเป้าหมายนั้นต้องแตกต่างกันออกไปตามแต่ละช่วงวัยของลูก ซึ่งควรแบ่งเป็น 4 ช่วงวัย คือ 1.ระดับชั้นอนุบาล พ่อแม่จะเป็นคนจัดตารางเวลาให้เด็กอย่างคร่าวๆ เป้าหมายไม่ใช่เพื่อให้เด็กทำตามตารางนั้นได้ 100% แต่ให้เด็กเกิดความเคยชินและเรียนรู้เกี่ยวกับการมีระเบียบวินัยเรื่องเวลา เพื่อเป็นพื้นฐานเมื่อถึงวัยที่เหมาะสม 2.ระดับชั้นประถม พ่อแม่มีหน้าที่ "ชี้แนะ" ในการจัดตารางเวลา จึงเสนอว่าแต่ละครอบครัวควรรวมหัวประชุมกัน แลกเปลี่ยนความคิดของกันและกัน เพื่อให้เกิดตารางที่เหมาะสมที่สุด โดยเด็กรู้สึกว่านั่นคือ "ตารางของเขาเอง" และจะได้ออกมาเป็นตารางที่ทุกคนทั้งพ่อแม่และลูกยอมรับว่าเหมาะสมกับช่วงวัยและช่วงเวลานั้นๆ โดยข้างล่างอาจมีช่องว่างให้ พ่อ แม่ ลูก เซ็นชื่อ โดยลูกมีหน้าที่ทำ พ่อแม่มีหน้าที่ช่วยเหลือสนับสนุน และมาคอยปรับจูนตารางนั้นด้วยกันอีกหลายๆ รอบ
นพ.วรตม์ กล่าวว่า 3.ระดับชั้นมัธยมต้น พ่อแม่มีหน้าที่ "เตือน" ให้ลูกจัดตารางเวลาเอง อธิบายให้ลูกเข้าใจเกี่ยวกับการมีระเบียบวินัยในการเรียน รู้จักรับผิดและรับชอบจากผลที่เกิดขึ้นมาจากความตั้งใจของตนเอง นอกจากนี้ ยังต้องสอนให้ลูกรู้จักการพักผ่อนที่เหมาะสม เพื่อให้ร่างกายได้ฟื้นฟูกลับมาพร้อมสำหรับการเรียนต่อไป และ 4.ระดับชั้นมัธยมปลาย พ่อแม่มีหน้าที่เอาน้ำเอาขนมให้ลูกกิน นั่งดูตารางที่ลูกจัดและรอลุ้นอยู่ห่างๆ รอดูอย่างมั่นใจในผลผลิตที่ตัวเองสร้างไว้ตั้งแต่ครั้งลูกยังเป็นเด็ก บอกตัวเองเสมอว่าลูกโตพอแล้วที่จะรับผิดชอบชีวิตตัวเอง ไม่ใช่เบบี๋อีกต่อไป ซึ่งจะดีกว่าการไปบังคับเขาทั้งหมด การมาจัดตารางเวลาให้ลูกชั้นมัธยมปลาย เตือนให้ดื่มนม ห้ามแอบหลับ ตรงนี้ถือว่าช้าไปเกือบสิบปีแล้ว ตรงนี้ต้องทำตั้งแต่ยังอนุบาล ส่วนระดับมัธยมปลายต้องให้เขาได้จัดการชีวิตของเขาเอง อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดนี้ก็ขึ้นกับเด็กแต่ละคนด้วย
"ผมเชื่อว่าพ่อแม่ทุกคนรักลูก และมีความคาดหวังในตัวลูก อยากให้ลูกประสบความสำเร็จ ยิ่งบางคนมีลูกคนเดียวยิ่งคาดหวังเข้าไปใหญ่ แต่ความคาดหวังที่สูงมากเกินไป มักจะนำไปสู่การกำกับจัดการที่ไม่เหมาะสม เช่น การเข้าไปวุ่นวายมากเกินความจำเป็น การบังคับกดดัน หรือแม้กระทั่งการใช้ความรุนแรงที่กระทบทั้งทางร่างกายและจิตใจ เมื่อเด็กถูกขีดเส้นให้เดินตลอดเวลา ถึงเวลาก็เลยเดินเองไม่เป็น โตไปก็จะกลายเป็นคนที่ไม่กล้าตัดสินใจ แม้แต่จัดตารางเวลาของตัวเองยังทำไม่ได้เลย แล้วอีกหน่อยจะเป็นเจ้าคนนายคนจัดตารางเวลาให้คนอื่นได้อย่างไร จะต้องมีคนมาคอยจัดการชีวิตให้ตลอดไปหรือ บางครั้งพ่อแม่มักลืมนึกไปว่า นั่นคือความคาดหวังในหัวของพ่อแม่ ไม่ใช่ของตัวเด็ก และชีวิตที่เห็นนั้นเป็นของตัวเด็ก ไม่ใช่ของพ่อแม่ พ่อแม่บางคนชอบใช้ลูกเหมือนเป็นชีวิตรอบที่สองของตัวเอง และสุดท้าย พ่อแม่ทุกคนไม่สามารถอยู่กับลูกได้ตลอดชีวิตของเขา คุณจึงมีแค่ช่วงเวลาสั้นๆ ในการสอนเขา ให้เขาสามารถใช้ชีวิตบนลำแข้งของตัวเองในยามที่คุณไม่อยู่แล้ว ดังนั้น ผมจึงมักเตือนคนรอบตัวและคนไข้เสมอว่า อย่าเลี้ยงลูกให้โตไปเป็นเด็กอนุบาล" นพ.วรตม์ กล่าว