ที่มา : ผู้จัดการรายวัน 360 องศา

http://www.thaihealth.or.th/

 

ขึ้นชื่อว่าของหวาน น้อยคนนักที่จะไม่ชอบ แม้จะทราบดีถึงพิษภัยที่แฝงมากับความหวาน แต่ก็อดใจไว้ไม่ได้ ยิ่งอากาศร้อนๆ แบบนี้ คนส่วนใหญ่ก็อดไม่ได้ที่จะดื่มกินอะไรหวานๆ เย็นๆ ที่ทำให้ชื่นใจ ดังนั้น สิ่งที่ทุกคนควรรู้ก็คือ ความหวานมีผลเสียอย่างไรต่อร่างกายของเรา และปริมาณน้ำตาลที่เหมาะสมสำหรับเราคือเท่าไร

รศ.ดร.ประไพศรี ศิริจักรวาล จากสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่า การบริโภคน้ำตาลปริมาณมากจากเครื่องดื่ม ขนมหวาน หรือจากน้ำตาลโดยตรง เป็นต้นเหตุของฟันผุ เนื่องจากแบคทีเรียในปากจะเปลี่ยนน้ำตาลให้เป็นกรด ซึ่งจะไปกัดกร่อนเคลือบฟัน ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้นก็คือ การบริโภคน้ำตาลปริมาณสูงเป็นประจำ จะกลายเป็นพลังงานส่วนเกินที่ร่างกายเก็บสะสมไว้ในรูปของไขมัน ส่งผลให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น และอ้วนในที่สุด ภาวะอ้วนจะนำไปสู่โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs (Non-Communicable diseases) ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น

จากการสำรวจของกรมอนามัย และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริม สุขภาพ (สสส.) พบว่า คนไทยบริโภคน้ำตาลมากถึงวันละ 20 ช้อนชา เกินกว่าปริมาณแนะนำถึงกว่า 3 เท่า ในขณะที่สถิติผู้ป่วยโรคเบาหวานและโรคอ้วนก็พุ่งสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว โดย เฉพาะเด็กๆ ที่ชอบดื่มน้ำอัดลม น้ำหวาน หรือแม้แต่จะดื่มนม พ่อแม่ก็ยังซื้อนมรสหวานให้ แถมยังมีขนมหวานและไอศกรีม เด็กไทยจำนวนมากในยุคนี้จึงมีภาวะน้ำหนักเกิน และพบว่าเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ป่วยเป็นโรคเบาหวานเพิ่มมากขึ้น

ดังนั้น การจำกัดการบริโภคน้ำตาลจึงจำเป็นต้องเริ่มตั้งแต่เด็กๆ ถ้าเลยวัยเด็กมาแล้วก็ต้องเริ่มตั้งแต่วันนี้ เพราะหากเกิดความเคยชินกับรสหวาน คือต้องหวานถึงจะเรียกว่าอร่อย ก็จะทำให้ติดรสหวานและเพิ่มปริมาณการบริโภคน้ำตาลมากขึ้น พ่อแม่ผู้ปกครองควรตระหนักถึงปัญหาสุขภาพที่จะเกิดกับลูกหลานในวันข้างหน้า โดยการเลือกนมหรืออาหารต่างๆ ให้ดี และปรุงอาหารโดยที่ไม่ต้องเติมน้ำตาล

การติดน้ำตาลหรือติดรสหวานนั้น มาจากนิสัยการกินตั้งแต่วัยเด็ก พบว่าเด็กที่ถูกพ่อแม่เลี้ยงด้วยนมรสหวาน ดื่มน้ำหวาน และกินขนมหวานปริมาณมากโดยที่ไม่มีการควบคุม จะคุ้นเคยกับรสชาติหวาน และมีแนวโน้มที่จะกินน้ำตาลหรือของหวานเพิ่มมากขึ้นเมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ ลักษณะของคนติดหวานจะมีความต้องการอยากกินของหวานอยู่เสมอ ช่วงที่มีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำหรือไม่ได้รับน้ำตาล อาจเกิดอาการซึมเศร้า อารมณ์ฉุนเฉียวง่าย และขาดสมาธิ

กองโภชนาการ กรมอนามัย มีข้อแนะนำในการลดการกินหวานว่า วิธีการคือค่อยๆ ลดปริมาณน้ำตาลใน 1 วันลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพราะหากงดปุบปับเลย แทนที่จะลดได้ อาจทำให้เกิดอาการอยากของหวานมากขึ้นอีก ซึ่งจะส่งผลให้บริโภคน้ำตาลมากกว่าเดิม และอาจทำให้เกิดความท้อใจจนกลายเป็นว่าไม่สามารถที่จะลดน้ำตาลได้

การลดการบริโภคน้ำตาลใน 1 วัน อาจเริ่มจากลดการเติมน้ำตาลในอาหารและเครื่องดื่มลงจากปริมาณเดิมสัก ฝ-1 ช้อนชา และค่อยๆ ลดลงอีกในวันต่อๆ มา ลดการดื่มน้ำอัดลม น้ำหวานต่างๆ และน้ำผลไม้ที่มีน้ำตาลสูง หันมารับประทานผลไม้สดโดยไม่ต้องจิ้มเกลือน้ำตาล อาจเลือกใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาล และเพิ่มการออกกำลังกาย เพื่อช่วยให้เกิดการเผาผลาญน้ำตาลส่วนเกิน ไม่ให้มีการเปลี่ยนรูปเป็นไขมันสะสมอยู่ในร่างกาย

อีกวิธีหนึ่งที่มีความสำคัญในการลดและควบคุมปริมาณน้ำตาลอย่างได้ผล ก็คือการอ่านฉลากโภชนาการ ซึ่งจะบอกให้ทราบถึงปริมาณที่แน่นอนของน้ำตาลในผลิตภัณฑ์นั้นๆ ทำให้เราสามารถลดหรือหลีกเลี่ยงผลิตภัณฑ์ที่มีปริมาณน้ำตาลสูง รวมถึงสามารถเปรียบเทียบและเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ได้อย่างเหมาะสมอีกด้วย

น้ำตาล 1 กรัม ให้พลังงาน 4 กิโลแคลอรี แต่น้ำตาลเป็นแหล่งพลังงานที่ไม่มีสารอาหารใดๆ ยกตัวอย่าง เช่น หากเรารับประทานผลไม้ เรายังได้รับวิตามินและแร่ธาตุต่างๆ ด้วย แต่น้ำตาลให้แต่พลังงานเท่านั้น ไม่มีสารอาหารอื่น ในแต่ละวัน เราได้รับพลังงานหลักจากแหล่งอาหารคาร์โบไฮเดรตเป็นประจำอยู่แล้ว เช่น ข้าว ก๋วยเตี๋ยว ขนมปัง ซึ่งมีสารอาหารอื่นที่มีประโยชน์ต่อร่างกายด้วย และยังได้รับน้ำตาลธรรมชาติจากผลไม้ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานและวิตามินแร่ธาตุอีกด้วย น้ำตาลจึงแทบจะไม่มีความจำเป็นต่อร่างกาย

องค์การอนามัยโลกแนะนำว่า ปริมาณน้ำตาลที่เติมในอาหาร ไม่ควรเกินร้อยละ 10 ของปริมาณพลังงานทั้งหมดที่ได้รับในแต่ละวัน ข้อแนะนำในการบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพที่ดีของคนไทยก็ระบุไว้ชัดเจนว่า น้ำมัน เกลือ น้ำตาล กินแต่น้อยเท่าที่จำเป็น และได้มีการกำหนดปริมาณน้ำตาลในแต่ละวันไว้ว่า ไม่ควรเกิน 4 ช้อนชา สำหรับผู้ที่ต้องการพลังงาน 1,600 กิโลแคลอรี ไม่เกิน 6 ช้อนชา สำหรับผู้ที่ต้องการพลังงาน 2,000 กิโลแคลอรี และไม่เกิน 8 ช้อนชา สำหรับผู้ที่ต้องการพลังงาน 2,400 กิโลแคลอรี โดยได้มีการเผื่อไว้สำหรับการได้รับน้ำตาลจากอาหารอื่นโดยไม่ทราบปริมาณ

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้จดจำได้ง่ายและเกิดความเข้าใจตรงกัน จึงมีการแนะนำปริมาณน้ำตาลสำหรับคนทั่วไปไว้ว่า ในแต่ละวันไม่ควรบริโภคน้ำตาลเกิน 6 ช้อนชา หรือ 24 กรัม (น้ำตาล 1 ช้อนชา จะเท่ากับประมาณ 4 กรัม) โดยให้คำนึงถึงสุขภาพและโรคประจำตัวของแต่ละบุคคลด้วย ปริมาณ 6 ช้อนชาที่ว่านี้ ไม่ได้หมายความว่าในแต่ละวันจะต้องตั้งเป้าว่ากินน้ำตาลได้ 6 ช้อนชา แต่ควรลดปริมาณน้ำตาลต่อวันให้น้อยที่สุด