ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์
http://www.thaihealth.or.th/
สิ่งไม่คาดฝันอาจเกิดขึ้นได้ เพราะโรคอัลไซเมอร์ เป็นอาการซึ่งเกิดจากการทำงานของสมองผิดปกติหลายด้านพร้อมกันแบบค่อยเป็นค่อยไป ส่งผลให้ระบบความจำและความคิดด้านต่างๆ เสื่อม
คนที่เป็นโรคนี้จะไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ บุคลิกภาพและพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไป ระยะต้นอาจกระทบต่อชีวิตประจำวัน จนในระยะสุดท้ายจะสูญเสียความจำทั้งหมด อาการจะค่อยๆ แย่ลงจนถึงช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ และเสียชีวิตเพราะอาการแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น โรคอัลไซเมอร์พบมากขึ้น อันเป็นผลจากสัดส่วนของผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในเมืองไทย ซึ่งอาการนี้ไม่ได้ส่งผลเฉพาะตัวผู้ป่วยเท่านั้น แต่กระทบต่อคนรอบข้างชนิดที่เรานึกไม่ถึง
ดังนั้น ผู้ป่วยโรคนี้จึงต้องมีคนดูแลอย่างใกล้ชิด ซึ่งถือว่ามีความสำคัญกับผู้ป่วยที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ นอกเหนือจากการดูแลระแวดระวังอุบัติเหตุไม่ให้เกิดขึ้น ดูแลโภชนาการ การได้รับยาอย่างต่อเนื่องและพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ตามนัดแล้ว การอยู่ร่วมกับผู้ป่วยอย่างเข้าอกเข้าใจ ทำความเข้าใจและยอมรับกับภาวะสมองเสื่อมของผู้ที่ป่วยกำลังเผชิญอยู่โดยการให้กำลังใจ ให้ทำกิจกรรมที่ช่วยฝึกความจำและชะลออาการสมองเสื่อม เช่น ไปทำกิจกรรมหรือเข้ากลุ่มกับผู้สูงอายุด้วยกันในระยะเริ่มต้นของโรคที่ความจำยังบกพร่องไม่มาก
นอกจากการดูแลผู้ป่วยแล้ว สิ่งที่ต้องตระหนักและให้ความสำคัญไม่แพ้กันก็คือผู้ดูแลผู้ป่วย ที่ต้องดูแลร่างกายและจิตใจของตัวเองให้แข็งแรงอยู่เสมอด้วย การดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ตลอดเวลาอาจทำให้มีความเครียดหรือปัญหาด้านอารมณ์ต่างๆ เช่น ท้อแท้กับปัญหาที่เผชิญอยู่ บางครั้งอาจรู้สึกผิดหรือไม่มั่นใจกับสิ่งที่ทำลงไป
ดังนั้นต้องดูแลสุขภาพจิตของตัวเองด้วย เพราะคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยอัลไซเมอร์ขึ้นอยู่กับผู้ดูแล ซึ่งหากใครต้องการความรู้ที่ถูกต้อง มูลนิธิโรคอัลไซเมอร์แห่งประเทศไทย มีกิจกรรมอบรมให้ความรู้ในการดูแลผู้ป่วยโรค อัลไซเมอร์ให้แก่ญาติผู้ป่วย หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการดูแลผู้ป่วย โรคอัลไซเมอร์เป็นประจำทุกปี ซึ่งสามารถติดตามข่าวสารได้ที่ www.alz.or.th