ที่มา : กระทรวงสาธารณสุข

สหประชาชาติได้กำหนดนิยามว่าหากประเทศใดที่ประชากรอายุ 60 ปีขึ้น ไปมากกว่าร้อยละ 7 เป็นสัญญาณแสดงว่าประเทศนั้นกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย และจะเป็นสังคมสูงวัย โดยสมบูรณ์เมื่อสัดส่วน เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 20

 

 

ซึ่งข้อมูลล่าสุดจากการที่ปัจจุบันประเทศไทยมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้น ประมาณร้อยละ 10-15 ของทั้งประเทศ หรือราวสิบล้านคน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยในอนาคตอันใกล้

ทุกข์ของคนสูงวัย

สงัด สิทธิรุ่ง ผู้สูงอายุจังหวัดสมุทรสงคราม นอกจากการมีรายได้น้อย ก็ยังต้องรับภาระเลี้ยงดูสมาชิกในครอบครัว ได้แก่ลูกที่เป็นผู้พิการและหลานในวัยเรียน ด้วยความสามารถเท่าที่มีสงัดจึงประกอบอาชีพเผาถ่านขาย ซึ่งไม่ได้สร้างรายได้แน่นอนมาก ทุกวันนี้จึงอาศัยรายได้เบี้ยยังชีพเดือนละ 600 บาทเป็นรายได้หลักที่จะถูกแบ่งมาจุนเจือสมาชิกในครอบครัว ขณะที่ตัวของเขาเองมีโรคประจำตัวหลายโรค ทั้งหัวใจ เบาหวาน ความดัน กระเพาะ เป็นต้น เรณู ภู่อาวรณ์ นายกสมาคมพิทักษ์สิทธิ ผู้บริโภค จังหวัดสมุทรสงคราม เล่าอาการตนเองที่ป่วยเป็นโรครูมาตอยด์ แต่กลับต้องเผชิญปัญหาสุขภาพซ้ำซ้อนจากอาการแพ้ยารักษา ที่ได้รับจากโรงพยาบาลจนทำให้ตาสูญเสียการมองเห็นทั้งสองข้าง

เรณูเล่าว่า ด้วยความเป็นคนบ้านนอก อ่านฉลากยาไม่ค่อยรู้เรื่อง กินยาไปได้ไม่นาน ตาก็เริ่มมอง ไม่เห็น

"กลับไปบอกหมอ ก็ไม่พบว่าเป็นอะไร หมอก็สั่งจ่ายยาตัวเดิมอีก จนไม่หาย เริ่มมีคนบอกว่าเราอาจมีอาการแพ้ยา พอหยุดยาก็เริ่มปวดจนร้องไห้ จนตอนนี้ตามองไม่เห็นสองข้าง และกลายเป็นผู้พิการ ก็ได้แต่คิดว่าตอนนี้ใครจะดูแล ทำกับข้าวให้เรากิน"

ทองม้วน นพแก้ว ผู้สูงอายุที่มีโรคเสื่อมสภาพตามวัย ได้แก่ เบาหวาน ข้อเข่า ซื้อยามาบริโภคเองจากโฆษณาชวนเชื่อ หมดค่ายาไปหลายเงินแต่อาการไม่ดี ด้านสุธารัตน์ กิจติเวชกุล ผู้สูงอายุเขตเมือง ออกตัวว่าแม้ส่วนตัวไม่ได้ประสบปัญหาเรื่องความเป็นอยู่มากนัก หากแต่การได้เห็นความทุกข์ของคนอื่น หรือเพื่อนบ้านที่นอกจากมีโรคภัยไข้เจ็บแล้วยังต้องเผชิญปัญหาเรื่องการหารายได้เลี้ยงชีพ

หลักประกันบั้นปลายชีวิต

เหล่านี้คือส่วนหนึ่งของภาพสะท้อนผู้สูงอายุในประเทศไทย แม้ความเป็นผู้สูงวัยจะมีปัญหาหลักคือความเสื่อมภาพของร่างกาย แต่การถ่ายทอดประสบการณ์ดังกล่าวได้ชี้ให้เห็นถึงปัญหาที่มากกว่าเรื่องสุขภาพที่พวกเขาต้องเผชิญปัญหาหลักประกันด้านสุขภาพ ทั้งการโดนหลอกลวงเพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์และการไม่ได้รับสิทธิคุ้มครอง ผู้บริโภค แม้กระทั่งเรื่องรายได้ก็มีผลกระทบ ต่อเนื่องกับเรื่องสุขภาพ

ชุลีพร ด้วงฉิม เครือข่ายผู้บริโภคกรุงเทพฯ อดีตผู้บริหารจากรัฐวิสาหกิจออกมาทำงานด้านจิตอาสา มองว่าสังคมไทยไม่เคยได้รับการถูกจัดระเบียบเรื่องคุณภาพชีวิตมาก่อน วันนี้เรากำลังย่างเข้าสู่ภาระปัญหาที่เป็นสิ่งที่ สั่งสมมาจากในอดีต เมื่อเข้าสู่สังคมสูงวัย และ น่าจะถึงเวลาที่ต้องยอมรับเรื่องหลักประกันรายได้ก่อนที่ประชาชนเข้าสู่ภาวะสูงวัย เพราะหากรัฐไม่จัดการตั้งแต่วันนี้ อีกยี่สิบปีข้างหน้าสังคมผู้สูงอายุจะมากขึ้น จะยิ่งสร้างภาระปัญหามากว่าที่เป็นอยู่

ชุลีพรบอกว่าโดยส่วนตัวเอง ถึงแม้เป็นผู้สูงวัยในเมือง เคยมีหน้าที่การงานที่มั่นคง แต่ก็ไม่ได้ถือว่ามีความมั่นคงในชีวิตแท้จริง ด้วยปัจจุบันค่าครองชีพที่สูงขึ้น พร้อมเผยถึงข้อเท็จจริงว่ามีคนทำงานรัฐวิสาหกิจทุกวันนี้ที่ออกมาแล้วกลายเป็นคนสิ้นไร้ไม้ตอก็มีมาก เพราะบางคนยังมีภาระหนี้สิน ผ่อนบ้านอยู่

"ถ้าออกมาแล้วอยู่บ้านเฉยๆ ไม่ได้ออกมาเคลื่อนไหวทำงาน โรคภัยไข้เจ็บก็จะเกิดขึ้น เราก็ไม่กล้าเรียกร้องจากลูกหลานเพราะเกรงว่าจะสร้างภาระให้ลูกหลาน"

ส่วนกรณีที่มักมีบางคนพูดว่า ผู้สูงอายุทำไมไม่รู้จักเก็บออมไว้ตั้งแต่ตอนวัยทำงาน เธอแสดงความคิดเห็นว่าหากมองบริบทของความเป็นจริง ที่ว่าคนเราเกิดมาด้วยต้นทุนที่ไม่ได้เท่ากันทุกคน ก็จะทราบว่าทุกคนไม่ได้มีโอกาสที่จะเช่นนั้นได้ "ไม่ใช่ว่าเขาไม่ทำหรือไม่อยากทำ แต่บางเขาขาดโอกาสดังกล่าว"

สอดคล้องกับแนวคิดของ เชษฐา แสนสุข เครือข่ายผู้สูงอายุในชุมชนแออัด กล่าวว่าปัจจุบันด้วยภาระทางครอบครัว แต่ละคนมีความสามารถ ส่งลูกให้มีการศึกษาก็ถือว่าดีแล้ว ฉะนั้นทำให้วันนี้ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ไม่มีหลักประกันเลย บำเหน็จบำนาญชีวิตไม่มี อย่างไรก็ตาม มองว่าทุกวันนี้ แม้ผู้สูงอายุจะได้รับเบี้ยสูงอายุเป็นหลักประกันรายได้จากภาครัฐ แต่ก็มีความกังวลว่าหากวันหนึ่งเกิดความเปลี่ยนแปลงในอนาคตและทำให้ หลักประกันนี้หมดไป ก็อาจจะยิ่งสถานการณ์แย่กว่านี้

"ในชุมชนมีผู้สูงอายุเยอะ 130 ท่าน ซึ่งความที่เราอยู่ในเมืองหลวงอาจมองว่ามีความจริญต่างๆ แต่ยังมีความทุกข์ทั้งทางกายและจิตใจ สิ่งที่เราทำได้จึงการเข้าไปเป็นอาสาสมัครคอยดูแลเสริมสร้างสุขภาพจิตให้เขาคลายความทุกข์ได้บ้าง"

ถึงสูงวัย ก็คือผู้บริโภค

นพ.วิชัย โชควิวัฒน์ กรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข กล่าวว่าแม้ผู้สูงอายุที่ผ่านประสบการณ์ชีวิตมามาก อาจดูเหมือนเท่าทันโลก แต่จริงๆ แล้วยังมีความเปราะบางเสี่ยงต่อการถูกล่อลวงได้ง่าย สอง ความเปราะบางด้วยปัญหาของวัยที่ส่งผลต่อปัญหาเรื่องสุขภาพ ที่จำเป็นต้องได้รับการรักษา จนทำให้มีแนวโน้มอาจถูกหลอกลวงการรักษาจากระบบการซื้อบริการการแพทย์ที่มีราคาสูงไม่มีจรรยาบรรณ สามเปราะบางเพราะความต้องการสินค้าและบริการที่ใช้เสริมสร้างสุขภาพ เพราะหวังว่าจะช่วยให้ร่างกายกลับมาแข็งแรง หายป่วยไข้ สี่ ความเปราะบางจากการที่ลูกหลานห่วงใยมากเกินไป จนผู้สูงอายุกลายเป็นหนูทดลอง

ดังนั้นหากผู้สูงอายุที่มีเวลาว่างมาก ทำให้เสี่ยงต่อ โอกาสเป็นเหยื่อของการล่อลวง จึงควรพัฒนาตัวผู้สูงวัยให้เข้มแข็งขึ้น โดยการส่งเสริมผู้สูงอายุให้ทำงาน ไม่ว่าจะเป็นงานที่มีรายได้ หรืองานที่อาจเน้นคุณค่ามากกว่ารายได้ทั้งนี้เพื่อให้ผู้สูงอายุมีโอกาสรับรู้ข้อมูลข่าวสารเท่าทันโลกมากขึ้น

นพ.วิชัยกล่าวต่อว่าจากการสำรวจ ทำให้พบว่าร้อยละ 85 ที่ช่วยตัวเองได้ อีกร้อยละ 13 ที่เป็นผู้สูงอายุติดบ้านแต่ยังสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ส่วนเพียงร้อยละ 1.7 ที่ติดเตียง เราต้องมีมาตรการช่วยเหลือฟื้นฟูให้ผู้สูงอายุทั้งสองกลุ่มหลังสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ สามารถออกจากบ้านได้ จึงจำเป็นต้องมีระบบหรือกลไกที่เข้ามาคุ้มครองและดูแลให้การช่วยเหลือตามความเหมาะสม และมีการจัดการอย่างถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาตัวผู้สูงวัยให้เข้มแข็งขึ้น การส่งเสริมการพัฒนากลุ่มองค์กรที่เกี่ยวกับผู้สูงอายุ หรือการสร้างเครือข่ายและเชื่อมโยงเครือข่ายให้เกิดขึ้น

"ผู้สูงอายุในอดีตอาจเป็นวัยที่ต้องพึ่งพิง แต่เราต้องเปลี่ยนทัศนคติใหม่ว่าผู้สูงอายุควรเป็นพลังของสังคม ไม่ใช่ภาระสังคม"

ด้าน ชุลีพร มองว่าการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคเป็นนโยบายที่ดีมาก แต่ยังไม่เคยเกิดผลจริง แต่หากภาครัฐหันมาส่งเสริมสนับสนุนให้คนในชุมชนมีโอกาสดูแลจัดการกันเอง จะช่วยทำให้เกิดความเข้มแข็ง และส่งผลถึงการดูแลสุขภาพและคุณภาพชีวิตของในชุมชน

สุดท้ายเธอบอกว่ามนุษย์เราทุกคนต้องการศักดิ์ศรี หลักพื้นฐานคือเรื่องเงิน หากทุกคนมีหลักประกันรายได้ที่เพียงพอต่อการยังชีพ เขาก็ไม่เป็นภาระของสังคม