ที่มา : manager.co.th

http://www.thaihealth.or.th/

 

 

กรมสุขภาพจิตแนะ 10 วิธีลดเครียด สร้างสุขสำหรับวัยทำงาน ย้ำ ฝึกสมาธิและสติช่วยงานประสบความสำเร็จ

 นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า จากการสำรวจพบว่าปัญหาสุขภาพที่จิตของวัยทำงานจากการขอรับบริการปรึกษาปัญหาสุขภาพจิต ผ่านสายด่วนสุขภาพจิต 1323 รอบ 6 เดือน ล่าสุด (ต.ค. 58 - มี.ค. 59) พบปัญหาความเครียด หรือวิตกกังวล เป็นปัญหาสำคัญลำดับแรกที่วัยทำงานโทร.เข้ามาปรึกษามากที่สุด จำนวน 6,231 คน (ร้อยละ 40.55) เช่น ปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพกาย โรคเรื้อรัง มีหนี้สิน รองลงมา คือ ปัญหาทางจิตเวช จำนวน 4,845 ราย (ร้อยละ 31.53) และ ปัญหาความรัก จำนวน 1,666 ราย (ร้อยละ 10.84) ตามลำดับ ขณะที่ปัญหาเกี่ยวกับการทำงาน โทร.เข้ามาขอคำปรึกษาจำนวน 256 ราย (ร้อยละ 1.67) เป็นปัญหาเกี่ยวกับสัมพันธภาพกับเพื่อนร่วมงาน เจ้านาย ลูกน้อง ค่าตอบแทนน้อย ต้องการเปลี่ยนงาน ฯลฯ

นพ.เจษฎา กล่าวว่า การลดความเครียดและสร้างสุขสำหรับวัยทำงานนั้น ขอแนะนำ 10 วิธี ประกอบด้วย 1.หมั่นออกกำลังกายและนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ 2.รู้จักพักผ่อนหย่อนใจ พักสมอง พักสายตา ทำกิจกรรมหรืองานอดิเรกที่ชอบ 3.ใช้คำพูดที่ชวนฟัง ทักทาย สวัสดี ขอบคุณ ขอโทษ ชื่นชม ให้กำลังใจ ให้อภัย ไม่พูดส่อเสียดซ้ำเติม 4.จัดการอารมณ์ตั้งสติ ไตร่ตรอง คิดถึงผลดี ผลเสียที่จะตามมาจากการกระทำ 5.สร้างสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนร่วมงาน ยิ้มแย้มแจ่มใส เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เอาใจเขามาใส่ใจเรา

6.บริหารเวลา เรียงลำดับความสำคัญ หรือความเร่งด่วนของงาน 7.กล้าแสดงความคิดเห็นในทางสร้างสรรค์ เปิดใจรับฟังและชี้แจงด้วยเหตุผล 8.สร้างพลังสุขภาพจิตหรือความเข้มแข็งทางใจให้ตนเอง ให้กำลังใจและชื่นชมตนเองเมื่อทำอะไรสำเร็จ บอกกับตนเอง “ฉันมีความสามารถทำได้” อย่ากังวลกับสิ่งที่ยังมาไม่ถึง 9.เก็บออม โดยฝึกให้เป็นนิสัยด้วยการแบ่งรายได้ส่วนหนึ่งเพื่อการออมก่อนการใช้จ่าย และ 10.แก้ปัญหาอย่างถูกวิธี หาสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาและแก้ที่ต้นเหตุ ที่สำคัญ ไม่แก้ปัญหาด้วยอารมณ์ ตลอดจน ไม่ใช้สุรา ยาเสพติด เป็นทางออกในการแก้ปัญหา

“หากไม่สามารถแก้ปัญหาได้ด้วยตนเอง ก็อย่าอายที่จะปรึกษาคนใกล้ชิด หรือคนที่ไว้วางใจ หรือ ขอรับบริการปรึกษาผ่านสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ฟรี ตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ องค์กรและคนทำงานสามารถสร้างความสุขให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืนได้ ซี่งเป็นการยกระดับของความสุขที่เหนือกว่าความสุขทางวัตถุ เงินทอง และเกียรติยศชื่อเสียง ที่ต้องพัฒนาจากส่วนลึกของจิตใจ เกิดเป็นคุณค่าความดีงาม เช่น ความรัก ความรับผิดชอบ ความซื่อสัตย์ เสียสละอดทน ความเห็นอกเห็นใจ และการให้อภัย ฯลฯ ซึ่งคุณลักษณะเหล่านี้ จะแสดงออกอย่างชัดเจน ถ้าคนมีความสงบทางจิตใจ โดย ปัจจุบัน หลายองค์กรที่ทันสมัยและมีวิสัยทัศน์กว้างไกล ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ได้นำ “การพัฒนาสติ” ด้วยการใช้สมาธิและสติเป็นเครื่องมือสร้างสุขและความสำเร็จในการทำงาน และการใช้ชีวิตประจำวัน เพราะการฝึกสมาธิจะช่วยลดอารมณ์ และความเครียดที่สะสมอยู่ในจิตใจ ทำให้สามารถทำงานได้อย่างต่อเนื่องด้วยความสงบ ขณะที่ การฝึกสติ จะช่วยทำให้จิตใจอยู่กับปัจจุบัน อยู่กับงานที่ทำ ไม่ว้าวุ่น และไม่ถูกแทรกแซงด้วยอารมณ์ ซึ่งหากฝึกเป็นประจำสม่ำเสมอจะช่วยป้องกันบรรเทาและบำบัดอาการเจ็บป่วยได้หลากหลาย เช่น ความวิตกกังวล อาการซึมเศร้า พฤติกรรมเสพติด อาการปวดเรื้อรัง นอนไม่หลับ ไมเกรน ภูมิแพ้ หอบหืด” อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว

สำหรับ การฝึกสมาธิ ทำได้โดย 1.ฝึกหยุดความคิดด้วยการรู้ลมหายใจที่ผ่านเข้าออกที่ปลายจมูก  2. ฝึกหยุดความคิดจนเกิดความสงบด้วยการรับรู้ลมหายใจที่ผ่านเข้าออกที่ปลายจมูกอย่างต่อเนื่อง จัดการกับความคิดที่เกิดขึ้นโดยไม่คิดตาม แต่รู้ตัวและกลับมาตามรู้ลมหายใจทุกครั้งที่มีความคิดเกิดขึ้น และ 3. ฝึกหยุดความคิดจนเกิดความสงบและผ่อนคลายด้วยการรู้ลมหายใจอย่างต่อเนื่องและจัดการกับความง่วงด้วยการยืดตัวตรง หายใจเข้าออกลึก ๆ หรือจินตนาการเป็นแสงไฟที่สว่างมาก ๆ ให้หายง่วง แล้วกลับมารู้ลมหายใจอย่างต่อเนื่อง

ส่วน การฝึกสติ สามารถทำได้โดย การรับรู้ลมหายใจเข้าออกในขณะที่ทำงาน หรือทำกิจต่าง ๆ ทั้งทางกาย ทางการสื่อสาร ตลอดจนความรู้สึกนึกคิด ทั้งนี้ องค์กรหรือหน่วยงานต่าง ๆ สามารถเริ่มฝึกได้จากการกำหนดกติกาการประชุมในแต่ละครั้งให้มีการทำสมาธิก่อนการประชุม เน้นการสนทนาอย่างมีสติ เพื่อให้เกิดการฟังอย่างใส่ใจ อภิปรายอย่างสร้างสรรค์ เน้นการแก้ปัญหามากกว่าการเอาชนะ แล้วสรุปการประชุมด้วยความเห็นทางบวก รวมทั้งทำสมาธิก่อนและหลังเลิกงาน หรืออาจสร้างบรรยากาศการทำงานอย่างมีสติ ด้วยการเปิดระฆังสติระหว่างการทำงาน ซึ่งจะส่งเสียงระฆังเป็นระยะ ๆ ตามเวลาที่เรากำหนด เพื่อเตือนให้กลับมารู้ลมหายใจ รู้ในกิจที่ทำ ฯลฯ และการพัฒนาสติให้ได้ผลในระยะยาว และเกิดความสุขที่ยั่งยืนได้นั้น จำเป็นต้องมีการฝึกและนำไปใช้อย่างต่อเนื่อง เมื่อผู้ปฏิบัติเห็นประโยชน์ในการนำไปใช้แล้ว ก็ย่อมขยายผลดีไปสู่ผู้รับบริการ หรือลูกค้า ครอบครัว ชุมชนและสังคมต่อไปได