ที่มา : โลกวันนี้วันสุข โดย รศ.นพ.อนิรุธ ภัทรากาญจน์
http://www.thaihealth.or.th/
อุบัติการณ์ของผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นทั่วโลก สาเหตุที่พบบ่อยในผู้ใหญ่ได้แก่ ไตเสื่อมจากเบาหวาน และภาวะความดันเลือดสูง
สาเหตุโรคไตเรื้อรังที่พบบ่อยในเด็กแตกต่างจากในผู้ใหญ่ สาเหตุที่พบบ่อยในเด็ก ได้แก่ ความผิดปรกติแต่กำเนิดของไตและทางเดินปัสสาวะ โรคไตชนิดที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม
อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมการดำเนินชีวิตที่ไม่เหมาะสมของเด็กในปัจจุบัน อาจส่งผลให้เกิดปัญหาทางสุขภาพรวมถึงโรคไตได้ในอนาคต เช่น การมีกิจกรรมประจำวันส่วนใหญ่ที่ไม่ได้ใช้พลังงาน การมีชั่วโมงการออกกำลังกายที่น้อยเกินไป การรับประทานอาหารและเครื่องดื่มที่ไม่เหมาะสม เช่น การกินอาหารประเภทแป้ง ไขมัน หรืออาหารและเครื่องดื่มรสหวานที่มากเกินไป ทำให้เกิดโรคอ้วน ส่งผลให้เกิดโรคไตเรื้อรังตามมา ซึ่งอาจจะพัฒนาต่อไปเป็นไตวายระยะสุดท้ายได้
การตรวจพบความผิดปรกติของไตในเด็ก และได้รับการดูแลรักษาที่เหมาะสมตั้งแต่แรกเริ่ม รวมทั้งการหลีกเลี่ยงปัจจัยต่างๆ ที่อาจก่อให้เกิดโรคไตเรื้อรัง จะสามารถลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไตเรื้อรัง และชะลอการเกิดภาวะไตวายระยะสุดท้ายได้
สาเหตุของโรคไตในเด็กจะแตกต่างกันตามช่วงอายุ ในเด็กเล็กสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากความผิดปรกติแต่กำเนิดในโครงสร้างของไตหรือระบบทางเดินปัสสาวะ เช่น ภาวะอุดกั้นของระบบทางเดินปัสสาวะ ภาวะเนื้อไตเจริญผิดปรกติ ในเด็กโตมักเกิดจากภาวะไตอักเสบจากสาเหตุต่างๆ เช่น ไตอักเสบที่เกิดตามหลังการติดเชื้อแบคทีเรียที่ลำคอหรือผิวหนัง โรคเอสแอลอี (ซึ่งเป็นหนึ่งในโรคระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายที่มีปฏิกิริยาต่อเนื้อเยื่อตนเองจนทำให้เกิดความเสียหาย)
เด็กที่มีโรคไตอาจมีอาการแสดงต่างๆ ให้สังเกตได้ เช่น มีความผิดปรกติของปัสสาวะ ได้แก่ สีผิดปรกติ สีแดงหรือสีน้ำล้างเนื้อ มีปริมาณปัสสาวะน้อยหรือมากเกินปรกติ มีการขับถ่ายปัสสาวะบ่อยหรือน้อยครั้งเกินปรกติ ต้องเบ่งเวลาถ่ายปัสสาวะ มีปัสสาวะหยดตลอดเวลา หรือมีอาการของการติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะ มีท้องโตจากไตหรือระบบทางเดินปัสสาวะที่ขยายขนาดผิดปรกติ มีอวัยวะเพศภายนอกที่ผิดรูป ความดันเลือดสูงจากโรคไตอักเสบ ไตวาย หรือหลอดเลือดไตมีการตีบตัน การเจริญเติบโตช้าจากการทำงานของไตที่เสื่อมลง กล้ามเนื้ออ่อนแรงจากการทำงานของไตที่ผิดปรกติในการปรับสมดุลเกลือแร่ในร่างกาย
โรคไตในเด็กบางชนิดอาจป้องกันได้ ตั้งแต่เป็นทารกในครรภ์ โดยที่หญิงมีครรภ์ควรมีการตรวจติดตาม และดูแลโดยสูติแพทย์อย่างสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงสารเคมีหรือยาบางชนิดที่อาจเป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ ในวัยที่เริ่มควบคุมการขับถ่าย ให้ฝึกเด็กขับถ่ายโดยวิธีที่เหมาะสม สอนให้ทำความสะอาดบริเวณอวัยวะที่ใช้ขับถ่ายอย่างเหมาะสม หลีก เลี่ยงภาวะท้องผูก หลีกเลี่ยงขนมหรือเครื่องดื่มที่มีรสหวาน ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ป้องกันภาวะน้ำหนักเกิน ซึ่งอาจนำไปสู่โรคความดันเลือดสูงและโรคเบาหวานได้ในอนาคต
นอกจากนั้น พ่อแม่และผู้ดูแลเด็กที่เป็นโรคไต ควรทำความเข้าใจในโรคไตชนิดที่เด็กเป็น เข้าใจแนวทางการดูแลรักษา เข้าใจประโยชน์และผลข้างเคียงของแต่ละวิธีการรักษาและยาแต่ละชนิด เข้าใจวิธีปฏิบัติตนสำหรับโรคไตชนิดที่เด็กเป็น สำหรับเด็กโตและวัยรุ่นควรให้เด็กได้ร่วมวางแผนในการใช้ยา และการปฏิบัติตนตามที่แพทย์แนะนำ คอยเป็นกำลังใจให้แก่เด็ก เป็นที่ปรึกษาให้แก่เด็กเมื่อมีปัญหาในการปฏิบัติ และที่สำคัญควรปรึกษาแพทย์ผู้รักษาทุกครั้งเมื่อมีปัญหาในการใช้ยาหรือการปฏิบัติตน