ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์  

http://www.thaihealth.or.th/

 

ในการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2559 เมื่อวันที่ 8 เม.ย. เห็นพ้องต้องกันว่าควรกำหนดชื่อ 6 โรคที่ต้องเฝ้าระวังเพิ่มเติม ตามที่องค์การอนามัยโลกประกาศให้มีการเฝ้าระวังการระบาดข้ามประเทศ คือ เชื้อไวรัสมาร์บวร์ก โรคติดเชื้อไวรัสเฮนดรา โรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์ ไข้ลาสซา ไข้เลือดออกไครเมียนคองโก และไข้เวสต์ไนล์

ซึ่งในรายละเอียดเรื่องนี้ นพ.อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค อธิบายให้ฟังว่า โรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์ก นั้นผู้ป่วยจะมีอาการไข้สูงเฉียบพลัน อ่อนเพลีย ปวดกล้ามเนื้อ และปวดศีรษะมาก ตามมาด้วยอาการเจ็บคอ อาเจียน ท้องเสีย และมีผื่นนูนแดงตามตัว มีอาการเลือดออกง่ายซึ่งมักเกิดร่วมกับภาวะตับถูกทำลาย ไตวาย มีอาการทางระบบประสาทส่วนกลาง ช็อก อวัยวะหลายระบบเสื่อมการทำงาน และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้

โรคติดเชื้อไวรัสเฮนดรา เกิดจากม้าเป็นตัวพาหะนำโรค ซึ่งจะทำให้มีอาการไข้สูง ปวดศีรษะ เจ็บคอ วิงเวียน ซึม สับสน หรืออาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ ในระยะแรกมักพบอาการปอดอักเสบ ในรายที่มีอาการรุนแรงจะมีอาการระบบทางเดินหายใจล้มเหลว และอาจถึงขั้นเสียชีวิต

โรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์ มีสุกรเป็นพาหะนำโรค โดยอาการคล้ายเป็นหวัด มีไข้สูง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ สมองอักเสบ บางรายอาจมีอาการของระบบทางเดินหายใจร่วมด้วย หรืออาจมีอาการไข้ร่วมกับอาการทางระบบประสาท  เช่น วิงเวียนศีรษะ เดินโซเซ ซึม สับสน หรือชัก มีอาการเคลื่อนไหวของลูกตาผิดปกติ  แขนและขามีการกระตุก ความดันโลหิตและชีพจรแปรปรวน อัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 40% ในกรณีที่รอดชีวิตจะพบ 20% มีความบกพร่องของระบบประสาท

โรคไข้ลาสซา จะมีไข้ ปวดศีรษะ เจ็บคอ ไอ อาเจียน ท้องร่วง เจ็บหน้าอก และปวดบริเวณช่องท้อง อาการจะยังคงมีอยู่ตลอด หรืออาจจะไข้สูงเป็นระยะ มีอาการตาอักเสบ คออักเสบ เป็นหนอง 80% อาการไม่รุนแรง แต่ในรายที่มีอาการรุนแรงและมีเลือดออก ช็อก หน้าบวม คอบวม จะมีปริมาณเกล็ดเลือดลดลง และการทำงานของเกล็ดเลือดผิดปกติ และกว่า 25% มีอาการหูหนวกจากพยาธิสภาพที่เส้นประสาทสมองคู่ที่ 8

โรคนี้พบการระบาดที่แอฟริกาตะวันตก โดยมีหนูเป็นพาหะ ระยะฟักตัว 6-21 วัน รักษาได้ด้วยยาไรบาวิรินภายใน 6 วันแรก การป้องกันคือต้องควบคุมหนู และสัตว์กัดแทะเป็นพิเศษ

โรคไข้เลือดออกไครเมียนคองโก อาการจะเริ่มอย่างเฉียบพลัน โดยมีไข้ ปวดกล้ามเนื้อ มึนงง ปวดคอร่วมกับคอแข็ง ปวดหลัง ปวดศีรษะ เจ็บตา ใบหน้าแดง และกลัวแสง บางรายอาจพบอาการคลื่นไส้ อาเจียนและเจ็บคอในระยะแรก ซึ่งพบร่วมกับอาการท้องร่วงและปวดท้อง ต่อมาจะมีอารมณ์แปรปรวน สับสน ก้าวร้าว จากนั้นจะมีอาการง่วง ซึมเศร้า หัวใจเต้นเร็ว ต่อมน้ำเหลืองโต มีเลือดออกใต้ผิวหนังและเยื่อบุต่าง ๆ เช่น ปาก เพดานปาก ลำคอ และพบเลือดออกจากส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น กระเพาะอาหาร เลือดปนมากับปัสสาวะ มีเลือดกำเดา และเลือดออกจากเหงือก บางรายอาจพบอาการตับอักเสบ

โรคไข้เวสต์ไนล์ เกิดจากยุง Culex spp. เป็นพาหะ พบที่แคนาดา เวเนซุเอลา แอฟริกา ยุโรป ตะวันออกกลาง เอเชียตะวันตก และออสเตรเลีย ระยะฟักตัวของโรค 5-15 วัน ซึ่งกว่า 80% ไม่แสดงอาการ ส่วนที่แสดงอาการไม่รุนแรงพบว่าจะมีไข้ ปวดศีรษะ หนาวสั่น เหงื่อออก มีผื่นที่ผิวหนัง อ่อนเพลีย ต่อมน้ำเหลืองอักเสบ ซึม ปวดข้อ และมีอาการคล้ายไข้หวัด หรือไข้หวัดใหญ่ บางรายมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน และจะดีขึ้นภายใน 7 วัน

ส่วนรายที่อาการรุนแรง จะมีอาการทางสมองร่วมด้วย เช่น สมอง หรือเยื่อหุ้มสมองอักเสบ มีไข้สูง คอแข็ง ซึม ชัก และหมดสติ  ปัจจุบันยังไม่มียาหรือวิธีการเฉพาะ ทำได้เพียงแค่ให้การรักษาตามอาการเท่านั้น

"ปัจจุบันยังไม่พบรายงานโรคทั้ง 6 โรคนี้ในประเทศไทย แต่ที่มีการประกาศเฝ้าระวังก็เป็นการยกระดับการควบคุมป้องกันโรค เพราะอย่างที่ทราบกันดีว่าปัจจุบัน การเดินทางมีการเชื่อมต่อกันหมดทั่วโลก" นพ.อำนวย กล่าวในตอนท้าย