ที่มา: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ
http://www.thaihealth.or.th/
ช่วงนี้ แทบทุกคนมักบ่นเป็นเสียงเดียวกันถึงอากาศที่ร้อนจัดของบ้านเรา หลายจังหวัดอุณหภูมิสูงเกิน 40 องศาเซลเซียส จนต้องออก คำเตือนให้ประชาชนเลี่ยงทำกิจกรรมนอกบ้านช่วงบ่าย และรักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ มิเช่นนั้นอาจเจ็บป่วยจากภัยร้ายที่มากับฤดูร้อนได้
นอกจากการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และการพักผ่อน อย่างเพียงพอแล้ว สิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้เลย คือ เรื่องของอาหารการกิน โดยเฉพาะหน้าร้อนที่อากาศจะอบอ้าวเป็นพิเศษ จึงควรหลีกเลี่ยงหรือลดปริมาณการทานอาหารผัดอาหารทอด ขนมหวาน รวมถึงผลไม้ ที่มีน้ำตาลมากให้น้อยลง เพราะอาหารเหล่านี้ล้วนให้พลังงานที่สูง ส่งผลให้เกิดความร้อนในร่างกาย หากรับประทานในปริมาณมากอาจเป็นอันตรายได้
นพ.ณัฐวุฒิ ประเสริฐสิริพงศ์ รองอธิบดีกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ในช่วงหน้าร้อน แนะนำให้ประชาชนหันมารับประทานอาหารที่ให้ความเย็นแก่ร่างกายอย่าง พืชผักที่มีรสขม รสเย็น เช่น มะระทรงเครื่องช่วยดับร้อน ถอนพิษไข้ แก้กระหาย บรรเทาอาการร้อนใน แก้อักเสบ เจ็บคอ ส่วนเมนูอาหารแนะนำเป็นแกงเลียงผักร้อนๆ ช่วยขับเหงื่อ ให้ร่างกายเบาสบาย สำหรับของหวานคลายร้อนแนะนำเฉาก๊วยในน้ำเชื่อม กระท้อนลอยแก้ว แช่เย็น และเครื่องดื่มที่เหมาะสมคือ น้ำสมุนไพร เช่น น้ำใบเตย น้ำตรีผลา น้ำตะไคร้ และน้ำกระเจี๊ยบ ส่วนการเลือกรับประทานผลไม้นั้น ควรเน้นไปที่ผลไม้มีปริมาณน้ำสูง เช่น แตงโม มะละกอ แก้วมังกร ซึ่งเป็นอาหารที่ช่วยเพิ่มความสดชื่น และให้ร่างกายเย็นลงได้เป็นอย่างดี
แม้จะเลือกทานอาหารให้เหมาะสมแล้ว อีกสิ่งที่ขาดไม่ได้คือ การตระหนักถึงโรคร้ายที่มากับหน้าร้อน เนื่องจากแบคทีเรีย และเชื้อโรคต่างๆ จะเจริญเติบโตได้ดีเป็นพิเศษในอุณหภูมิที่เหมาะสมโดยเฉพาะช่วงฤดูร้อน
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคในช่วงหน้าร้อนที่พบมากที่สุด คือ โรคติดต่อทางน้ำและอาหาร 5 โรค ได้แก่ อุจจาระร่วง อหิวาต์ อาหารเป็นพิษ ไทฟอยด์ และบิด ซึ่งจำนวนผู้ป่วยจะเริ่มสูงขึ้นตั้งแต่เดือนเมษายนไปสูงสุดในเดือนมิถุนายนหรือกรกฎาคมของทุกปี นอกจากนั้น ยังพบผู้ป่วยโรคลมแดดและลมร้อน บางรายรุนแรงถึงชีวิต เนื่องจากทำกิจกรรมกลางแจ้งในขณะที่อากาศร้อนจัด
สำหรับวิธีการป้องกันโรคในช่วงหน้าร้อนที่ได้ผลดีที่สุด คือ การยึดหลัก กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ ระมัดระวังความสะอาดของอาหาร น้ำดื่ม และน้ำแข็ง การเลือกรับประทานอาหารนั้นควรยึดความสะอาดเป็นสำคัญ หากจะรับประทานอาหารสำเร็จรูปก็ควรเลือกร้านที่สามารถไว้วางใจได้ใน ด้านความสะอาดถูกหลักอนามัย แต่วิธีการที่ดีที่สุดคือการประกอบอาหารเอง โดยเลือกซื้อวัตถุดิบที่ได้มาตรฐาน ประกอบอาหารให้สุกอยู่เสมอ และ รับประทานอาหารทันทีหลังจากที่ปรุงเสร็จ หรือหากทานไม่หมดและต้องการเก็บไว้ทานในมื้อถัดไปก็ต้องมีวิธีในการเก็บรักษาอาหารที่ถูกต้องเหมาะสม ที่สำคัญคือไม่ควรเก็บอาหารเก่าที่ปรุงสุกแล้วเกินกว่า 4 ชั่วโมง เพราะอาจมีการแพร่เชื้อโรคและแบคทีเรียในอาหารได้
อีกหนึ่งอาหารที่เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ คือ การรับประทานอาหาร แช่แข็งเนื่องจากผ่านกระบวนการแช่แข็งที่ทำให้มีอุณหภูมิต่ำกว่า -20 องศาเซลเซียส จึงช่วยยับยั้งการเพิ่มจำนวนของจุลินทรีย์ แบคทีเรีย และเชื่อโรคต่างๆ รวมทั้งชะลอและยับยั้งการทำงานของเอนไซม์บางชนิดที่เป็นสาเหตุในการเน่าเสียของอาหาร และสามารถคงรสชาติและคุณประโยชน์ไว้ได้เทียบเท่ากับอาหารสดที่ปรุงเสร็จใหม่ๆ ได้อีกด้วย