ที่มา : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
http://www.thaihealth.or.th/
จิตแพทย์ย้ำคุมเข้มการใช้ไลน์-เฟซบุ๊กในกลุ่มเด็ก เล่นมากเสี่ยงสมาธิสั้น-อารมณ์รุนแรง ไม่ควรใช้เกินวันละ 3 ชั่วโมง ควรเล่นครั้งละประมาณ 30 นาที สลับทำกิจกรรมอื่นเพื่อให้ร่างกายและสายตาได้พักผ่อน
พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์การใช้โซเชียลมีเดีย ทั้ง เฟซบุ๊ก ไลน์ ถือว่าได้รับความนิยมจากทุกกลุ่มวัย แต่ทุกคนก็ไม่ควรมองข้ามว่าการเล่นโซเชียลมีเดียมีทั้งคุณประโยชน์และโทษ หากมีการเล่นเฟซบุ๊ก ไลน์ มากจนเกินไปก็จะส่งผลกระทบได้ใน 2 ส่วน ได้แก่ 1.เกิดการหมกมุ่นลดความสนใจในเรื่องอื่นๆ เสียโอกาสในการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น จากเดิมที่จะต้องมีการสร้างปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง ด้วยการพูดคุยและทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกัน ก็ไม่ได้ทำ เพราะมัวแต่เล่นโซเชียลมีเดีย และ 2.ได้รับผลกระทบจากการได้รับข้อมูลในปริมาณที่มากเกินไป บางครั้งอาจเป็นข้อมูลที่ไม่ได้ผ่านการคัดกรอง จนทำให้เกิดภาวะเครียดได้
นอกจากนี้การเล่นเฟซบุ๊ก ไลน์มากๆ ก็ยังมีผลกับสุขภาพอีกด้วย เพราะหากใช้งานร่างกายโดยไม่ปล่อยให้ร่างกายได้พักผ่อนก็จะส่งผลเสียได้ ทั้งในด้านสายตาที่เมื่อใช้เพ่งกับหน้าจอนานเกินไปก็จะทำให้สายตาเกิดอาการเมื่อยล้า และหากเล่นโดยไม่เคลื่อนไหวร่างกาย นั่งในท่าเดิมนานๆ ก็จะเกิดการสะสมและทำให้เกิดภาวะน้ำหนักตัวเกินได้
รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวอีกว่า ปัญหาที่จะพบในระยะยาวคือ เรื่องของสัมพันธภาพของคนรอบข้างที่จะเปลี่ยนไป รวมถึงเรื่องอารมณ์ โดยจากการศึกษาและการเก็บข้อมูลทั้งจากของต่างประเทศและประเทศไทยเอง พบว่าในบางรายที่เล่นโซเชียลมีเดียไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก หรือไลน์ เป็นเวลานานๆ ก็จะมีปัญหา คือ มีอารมณ์ร้อน เนื่องจากใช้ชีวิตอยู่กับเทคโนโลยีที่รวดเร็วมากเกินไป มีอารมณ์รุนแรงหงุดหงิดง่าย ไม่ชอบให้คนรอบข้างมาขัดขวางเวลาในการเล่น อยากใช้เวลาอยู่กับตัวเอง
อย่างไรก็ตามในการเล่นโซเชียลมีเดียควรใช้เวลาในการเล่นเฉลี่ยไม่ควรเล่นนานเกินวันละ 3 ชั่วโมง และทางที่ดีควรเล่นครั้งละประมาณ 30 นาที หลังจากนั้นก็ไปหากิจกรรมอื่นทำ เพื่อให้ร่างกายและสายตาได้พักผ่อน ทั้งนี้ในการกำหนดเวลาการเล่นในช่วงแรกอาจจะยังไม่ชิน แต่พอทำบ่อยๆร่างกายก็จะเกิดความเคยชินไปเอง
"สำหรับกลุ่มอายุที่จะต้องมีการเฝ้าระวังและควบคุมเป็นพิเศษในการใช้โซเชียลมีเดียคือ วัยเด็ก เนื่องจากยังเป็นกลุ่มวัยที่ขาดวุฒิภาวะในการแยกแยะกับสิ่งที่พบเห็นว่าอะไรดีหรือไม่ดี รวมถึงยังไม่มีความยับยั้งชั่งใจที่จะสามารถกำหนดเวลาในการใช้งานได้ ดังนั้นพ่อแม่ผู้ปกครองจึงควรที่จะต้องคอยควบคุม ดูแลและฝึกให้บุตรมีการใช้โซเชียลมีเดียในเวลาที่พอเหมาะสม นอกจากนี้ยังควรสังเกตอาการของบุตรที่มีการใช้โซเชียลมีเดียตลอด หากบุตรมีอาการผิดปกติ เช่น มีความสนใจในบุคคลรอบข้างลดลง มีอารมณ์รุนแรงขึ้น ไม่มีสมาธิ เป็นต้น ควรรีบให้คำแนะนำ และมีการตั้งเงื่อนไข พร้อมทั้งกำหนดเวลาในการเล่นเพื่อป้องกันเด็กกลายเป็นคนมีสมาธิสั้นหรืออารมณ์รุนแรงจนยากที่จะควบคุมได้" พญ.พรรณพิมล กล่าว