ที่มา : เว็บไซต์สยามรัฐ 

http://www.thaihealth.or.th/

โดย ธนลักษณ์ อ่อนเกตุพล 

 

การบริโภคยาเกินความจำเป็น นอกจากจะสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุแล้วยังเป็นอันตรายต่อสุขภาพในระยะยาว

ฉบับที่แล้วเราพูดถึงพฤติกรรมการบริโภคยาแบบ “D.I.Y” ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าแพร่หลายมากในหมู่คนไทย ชนิดที่เป็นอะไรนิดอะไรหน่อยก็ต้องพึ่งยา แม้แต่มีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อจากการทำงานมา ก็ต้องพึ่งยา ปวดหัวตัวร้อนหน่อยก็ต้องพึ่งยา อึดอัดแน่นท้องอาหารไม่ย่อยหน่อยก็ต้องพึ่งยา และอีกสารพัดอาการ แม้แต่อาการกินไม่ได้นอนไม่หลับก็ต้องพึ่งยา...เอะอะก็ไปซื้อยามากินๆ ไม่รู้จะกินกันไปทำไมนักหนา ทั้งๆที่ก็รู้กันว่ากินไปเข้าแล้วก็ไปเป็นภาระกับตับกับไต แต่ก็ยังไม่วายกินกันอยู่นั่นแหละ

ในที่นี้เรากำลังพูดถึงการบริโภคยาเกินความจำเป็น ซึ่งนอกจากจะสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุแล้วยังเป็นอันตรายต่อสุขภาพในระยะยาวด้วย และการบริโภคยาชนิดใดต่อเนื่องเป็นเวลานานๆและมียาชนิดนั้นตกค้างอยู่ในร่างกายมากๆ นั้นทำให้มีโอกาสที่จะแพ้ยาตัวนั้นได้ง่ายในวันข้างหน้าเมื่อต้องใช้ยาตัวนั้นซ้ำอีกครั้ง

จริงอยู่การแพ้ยาไม่ได้มีโอกาสเกิดขึ้นได้ง่ายๆ กับทุกคน แต่ไม่ใช่ว่าจะไม่มีโอกาสเกิดขึ้นเลย โดยเฉพาะคนที่มีอาการภูมิแพ้เป็นโรคประจำตัวจะมีโอกาสแพ้ยาได้ง่ายกว่าคนปกติทั่วไป เพราะคนที่มีอาการภูมิแพ้เรื้อรังนั้นระบบภูมิคุ้มกันจะไวต่อสิ่งกระตุ้นมากกว่าปกติ เช่นเดียวกับไวต่อยามากกว่าคนปกติทั่วไป จึงมีความเสี่ยงแพ้ยามากกว่าคนอื่น ซึ่งไม่ต่างจากอาการแพ้อาหารทะเล แพ้เกสรดอกไม้ หรือแพ้อะไรต่างๆนานา คนที่เป็นภูมิแพ้จึงควรระมัดระวังในการใช้ยามากกว่าคนปกติ

อาการแพ้ยาที่เกิดขึ้นกับแต่ละคนนั้นจะมีดีกรีแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับว่ากับว่าแพ้มากน้อยแค่ไหน และแพ้จากสาเหตุระบบภูมิคุ้มกันทำงานไวกว่าปกติ หรือแพ้จากฤทธิ์ยาโดยตรง ซึ่งถ้าแพ้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานไวกว่าปกติอาการจะไม่ค่อยรุนแรงเท่าแพ้จากฤทธิ์ยาโดยตรง แต่ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคนอีกเช่นกัน ไม่สามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้าว่าใครจะมีอาการแพ้มากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับว่าใครจะ “ฟลุคประหลาด” กว่าใคร แต่ที่แน่ๆคือไม่มีใครอยากฟลุคประหลาดกับเรื่องนี้หรอก จริงไหมคะ

งั้นเรามาดูกันว่าอาการที่เริ่มตั้งแต่เล็กน้อยไปจนถึงปานกลางและจนถึงขั้นรุนแรงนั้นมันมีอาการอย่างไรกันบ้าง ในรายที่แพ้ไม่รุนแรงจะมีแค่อาการผื่นคันลมพิษ หรือตุ่มใสๆขึ้นมาตามตัว หรือมีอาการหน้าบวม ปากบวม ซึ่งมักจะเกิดจากการแพ้ยาปฏิชีวนะ พวกเพนนิซิลิน ซัลฟา เต็ตตร้าไซคลีน สเตร็ปโตมัยซิน เป็นต้น

ในรายที่แพ้ปานกลางจะมีอาการคลื่นไส้อาเจียน แน่นหน้าอก ใจสั่น หายใจลำบาก ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดจากการใช้ยาฉีด

ส่วนในรายที่แพ้รุนแรงจะมีอาการไม่ต่างจากแพ้ปานกลางเท่าใดนัก แต่จะมีอาการลักษณะเดียวกันนั้นรุนแรงกว่า และจะมีอาการความดันต่ำ เป็นลม หมดสติ หยุดหายใจ อาการแพ้ยารุนแรงนี้จะเกิดขึ้นแบบเฉียบพลัน นั่นหมายถึงว่าอาจเสียชีวิตเฉียบพลันได้เช่นกัน

อาการแพ้ยาเฉียบพลันที่เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันไวต่อยามากกว่าปกตินี้ เมื่อเกิดขึ้นแล้วจะกระทบต่อการทำงานของระบบต่างๆในร่างกายหลายระบบพร้อมๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นผิวหนัง ระบบทางเดินหายใจ ระบบหัวใจและหลอดเลือด และระบบทางเดินอาหาร ซึ่งในรายที่อาการรุนแรงมากๆอาจทำให้เกิดภาวะระบบทางเดินหายใจตีบตันอย่างรุนแรงจนหายใจไม่ได้ และตัวบวมเพราะเส้นเลือดทั่วร่างกายขยายตัว ทำให้ระบบไหลเวียนของเลือด และระบบการทำงานของหัวใจล้มเหลว อาจเสียชีวิตเฉียบพลันได้หากรักษาไม่ทัน

ปฏิกริยาภูมิแพ้รุนแรงเฉียบพลันแบบนี้ เรียกว่า “แอแนฟิแล็คซิส” สามารถเกิดขึ้นได้ในทุกเพศทุกวัย ตั้งแต่เด็กแรกเกิดไปจนถึงผู้สูงอายุ ซึ่งมีการเก็บสถิติในสหรัฐอเมริกาและยุโรปพบได้ 3- 60 คนต่อประชากร 100,000 คน ซึ่งคาดเป็นอัตราที่ใกล้เคียงกันทั่วโลก ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากยาปฏิชีวนะพวกเพนนิซิลิน อาหารทะเล รวมถึงแพ้พิษแมลงต่างๆ เป็นตัวกระตุ้น

อาการแพ้ยารุนแรงเฉียบพลันอีกแบบหนึ่งที่เกิดขึ้นจากการที่ระบบภูมิคุ้มกันตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นที่เข้าสู่ร่างกายอย่างผิดปกติ จนทำให้เกิดอาการแพ้ตามผิวหนังและเยื่อเมือกบุอวัยวะภายในต่างๆจนผิวไหม้หลุดลอกทั้งผิวหนังภายนอกร่างกายและ เยื่อบุในปาก ลำคอ หลอดหลอดลม หลอดอาหาร ในลูกตา ไปจนถึงช่องคลอดและทวารหนัก ซึ่งจะทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดและเสียชีวิตได้ง่าย หากรักษาไม่ทัน อาการแบบนี้จะพบประมาณ 2-6 คนใน 1,000,000 คน อาการแบบนี้เรียกว่า “สตีเสนส์-จอห์นสัน ซินโดรม”

และประมาณ 10% ของผู้ป่วยอาการสตีเวนส์-จอห์นสันซินโดรมนี้จะมีอาการที่เยื่อบุลูกตา จนอาจทำให้ตาบอดได้ ซึ่งสามารถสังเกตได้ หากมีอาการแพ้ยาที่ส่งผลต่อเยื่อบุลูกตา จะเริ่มต้นด้วยมีอาการคัน เคือง แสบ เจ็บ ปวด จนลืมตาไม่ขึ้น และมีน้ำตาไหลตลอดเวลา หลังจากนั้นเยื่อบุตาก็จะอักเสบอย่างรุนแรง จนเป็นแผล พังผืด เซลล์เนื้อเยื่อบุตาก็จะตาย ทำให้เลนส์ตาขุ่นและเกิดตาบอดเฉียบพลัน

อย่างไรก็ตามเราสามารถสังเกตได้ด้วยตัวเองหากมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นหลังได้รับยาทั้งยากินและยาฉีด หากมีอาการดังที่กล่าวมาแล้ว และอาการดังต่อไปนี้ ไม่ว่าจะเป็นข้อใดข้อหนึ่งหรือหลายๆข้อ ก็ควรรีบไปพบแพทย์อย่ารอให้อาการมันดีขึ้นเอง เช่น อาการมีผื่นขึ้นตามผิวหนัง โดยอาจจะเริ่มที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า ศีรษะ และผื่นจะลามไปทั้งตัว

นอกจากนี้ยังมีอาการคันหนังตา และรอบปากจะบวมเห่อ บางรายอาจะมีผิวหนังบวมทั่วตัว ปากบวม คอบวม รู้สึกเหมือนมีก้อนในคอ เสียงแหบเนื่องจากกล่องเสียและเส้นเสียงบวม หลอดลมตีบ หายใจลำบาก ผู้ป่วยจะกระสับกระส่าย ความดันโลหิตก็จะต่ำลง อ่อนเพลีย ชีพจรเต้นเร็ว หน้ามืดและจะหมดสติภายในไม่กี่นาที

ดังนั้นหลังจากได้รับยาไม่ว่ายากินหรือยาฉีดหากเริ่มมือการผื่นคันที่ยังไม่รุนแรงมากปรากฏขึ้นก็อย่ารีรอให้รีบไปพบแพทย์ก่อนที่จะมีอาการอย่างอื่นตามมาจนอาจได้รับการรักษาไม่ทัน ทั้งนี้หากเกิดกรณีฉุกเฉินแบบนี้ขึ้นท่านก็สามารถใช้บริการรถพยาบาลฉุกเฉิน 1669 ให้พาไปส่งโรงพยาบาลใกล้สุดได้ฟรีค่ะ

ไม่มีใครอยากแพ้ยา แต่เรื่องแบบนี้ไม่สามารถพยากรณ์ล่วงหน้าได้...ดูแลตัวเองนะคะ

 

 

ข้อมูลวิชาการจากรศ.นพ.สมศักดิ์ เทียมเก่า อายุรแพทย์ประสาทวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น