ที่มา : เว็บไซต์คมชัดลึก

http://www.thaihealth.or.th/

 

สพฉ.เตือนภัยอากาศร้อนเสี่ยงโรคลมแดดอันตรายถึงตาย : สายตรวจระวังภัย โดยทีมข่าวอาชญากรรม

ท่ามกลางสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าวในช่วงหน้าแล้ง ยิ่งในช่วงเดือนเมษายนนี้แล้ว อุณหภูมิสูงขึ้นในทุกขณะ แดดก็จัดจ้าอาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพได้ง่ายๆ โดยเฉพาะ “โรคลมแดด” หรือ “โรคฮีทสโตรก" (Heat Stroke) ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการหน้าแดง กระหายน้ำ มึนงง วิงเวียนศีรษะ ตัวร้อนจัด คลื่นไส้ อาเจียน หายใจเร็ว เกร็งกล้ามเนื้อ ชัก รูม่านตาขยาย ความรู้สึกตัวลดน้อยลง หากอาการรุนแรงอาจถึงขั้นเป็นลมหมดสติ หัวใจเต้นเร็วแต่แผ่วเบา ถ้าไม่ได้รับการปฐมพยาบาลที่ถูกต้องทันท่วงทีมีอันตรายอาจถึงชีวิตได้

เกี่ยวกับเรื่องนี้ นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน(สพฉ.) บอกว่า โรคลมแดดเกิดขึ้นได้กับทุกคน แม้แต่กับคนที่ร่างกายแข็งแรงก็ตาม โดยคนที่เป็นลมแดดนั้นสมองจะไม่ทำงาน รวมถึงไม่สามารถควบคุมการทำงานของอวัยวะต่างๆ ได้ อุณหภูมิในร่างกายจะเพิ่มสูงกว่าปกติถึง 40 องศา ซึ่งเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องรักษาอย่างเร่งด่วน เพราะมีโอกาสในการเสียชีวิตสูง หากพบแพทย์ไม่ทันท่วงที ประชาชนสามารถสังเกตอาการเบื้องต้นของโรคนี้อย่างง่ายๆ คือ 1.ไม่มีเหงื่อออก 2.กระหายน้ำมาก 3.ตัวร้อนขึ้นเรื่อยๆ และ 4.คลื่นไส้อาเจียน หายใจเร็ว หากเกิดอาการดังกล่าวนี้จำเป็นต้องหยุดพักทันที และรีบโทรแจ้งสายด่วน 1669

นพ.อนุชา แนะว่า สัญญาณเตือนที่สำคัญของโรคลมแดด หรือ ฮีทสโตรก คือ ไม่มีเหงื่อออก แม้อากาศจะร้อนมากก็ตาม แตกต่างจากอาการเพลียแดดทั่วๆ ไปที่จะมีเหงื่อออกด้วย สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงในการเกิดโรคฮีทสโตรก คือ ผู้สูงอายุ เด็ก ผู้ที่อดนอน ผู้ที่ดื่มเหล้าจัด ผู้ที่ทำงานในสภาพอากาศที่ร้อนชื้น และผู้ที่เป็นโรคเรื้อรัง เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหัวใจ และโรคอ้วน รวมถึงนักกีฬา และทหารที่เข้ารับการฝึก โดยไม่มีการเตรียมสภาพร่างกายให้พร้อมที่จะเผชิญกับสภาพอากาศร้อนจัด

 “หากประชาชนประสบเหตุพบเจอผู้ป่วยโรคลมแดด ไม่ต้องตกใจ ให้ตั้งสติให้ดี จากนั้นปฏิบัติการปฐมพยาบาลเบื้องต้นด้วยการลดระดับความร้อนของร่างกายลงให้เร็วที่สุด ด้วยการจัดท่าให้ผู้ป่วยนอนหงาย ยกเท้าให้สูงขึ้นเพื่อช่วยเพิ่มปริมาณเลือดที่ไหลเวียนกลับสู่หัวใจให้มากขึ้น คลายเสื้อผ้าที่รัดแน่นออก เช็ดตัวด้วยน้ำเย็น หรือใช้ถุงใส่น้ำแข็งประคบตามลำคอ ลำตัว แขน-ขา ข้อพับต่างๆ ร่วมกับการใช้พัดหรือใช้พัดลมเป่า จะสามารถช่วยลดความร้อนได้ 0.5-1 องศาฯ ต่อนาที แต่หากผู้ป่วยมีการอาเจียนให้นอนตะแคงก่อน เมื่ออาเจียนแล้วให้นอนหงาย ถ้ายังไม่ดีขึ้นให้ราดน้ำเย็นลงบนตัว เพื่อลดอุณหภูมิร่างกายให้ลดต่ำลง แล้วให้ดื่มน้ำหรือน้ำเกลือแร่เพื่อทดแทน แล้วรีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด” นพ.อนุชา อธิบาย

ขณะเดียวกันสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.)แนะนำวิธีการป้องกันโรคลมแดดหรือฮีทสโตรก ผ่านทางเว็บไซต์ www.thaihealth.or.th ว่า ควรปรับพฤติกรรมสุขภาพด้วยการดื่มน้ำ 1-2 แก้วก่อนออกจากบ้านในวันที่อากาศร้อนจัด สวมใส่เสื้อผ้าที่มีสีอ่อน โปร่ง ไม่หนา น้ำหนักเบา ระบายอุณหภูมิความร้อนได้ดีและป้องกันแสงแดดได้ หากต้องอยู่ท่ามกลางสภาพอากาศร้อนหรือออกกำลังกลางสภาพอากาศร้อน ควรดื่มน้ำให้ได้ชั่วโมงละ 1 ลิตร แม้จะไม่รู้สึกกระหายน้ำก็ตาม ส่วนผู้ที่ทำงานในที่ร่มก็ควรดื่มน้ำ อย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว ก่อนออกจากบ้านควรใช้ครีมกันแดดที่มีค่า SPF15 ขึ้นไป หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดในวันที่อากาศร้อนจัด โดยเฉพาะก่อนการออกกำลังกายหรืออยู่ท่ามกลางสภาพอากาศร้อนเป็นเวลานาน หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และยาเสพติดทุกชนิด

ทั้งนี้สำหรับเด็กเล็กและคนชราควรได้รับการดูแลเป็นพิเศษโดยให้อยู่ในห้องที่มีอากาศระบายได้ดี ส่วนผู้ที่จำเป็นต้องออกไปในที่ที่อากาศร้อนจัด จะต้องรักษาสุขภาพให้แข็งแรง ออกกำลังกายสม่ำเสมอสัปดาห์ละ 3 ครั้ง ครั้งละ 30 นาทีเพื่อให้ร่างกายเคยชินกับสภาพอากาศร้อนจัดนั่นเอง