ที่มา : เว็บไซต์สยามรัฐ

http://www.thaihealth.or.th/

 

องค์การอนามัยโลกแนะนำให้ผู้ใหญ่-เด็กลดบริโภคน้ำตาลประเภท free sugar เหลือไม่เกิน 5% จากที่เคยบริโภคหรือไม่เกิน 25 กรัม หรือ 6 ช้อนชาต่อวัน เพื่อดีต่อสุขภาพ

แต่การบริโภคน้ำตาลของคนไทย สูงสุดถึง 20 ช้อนชาต่อวัน ส่งผลให้เป็นโรคไม่ติดต่อที่เรื้อรัง เช่น อ้วน เบาหวานความดัน หัวใจ หลอดเลือดหัวใจ พบว่า ปริมาณน้ำตาลที่ใช้กับอุตสาหกรรมเครื่องดื่มสูงสุดในบรรดาน้ำตาลที่บริโภคทางอ้อม โดยกลุ่มเป้าหมายหลักคือวัยทำงาน

จากการสำรวจปี 56 พบมีน้ำตาลซองวางจำหน่าย 17 ผลิตภัณฑ์ ส่วนใหญ่มีขนาดบรรจุ 8 กรัม รองลงมา 6 กรัม ขณะที่การผลิตน้ำตาลซองเพื่อใช้ในโรงแรมส่วนใหญ่มีขนาด 8 กรัมและเมื่อดูพลังงานในการทานอาหารว่าง-กาแฟช่วงพักเบรกประชุม พบว่าสูงถึง 150-350 กิโลแคลอรี ทั้งๆ ที่ไม่ควรเกิน100 กิโลแคลอรี

กรมอนามัยจึงร่วมกับเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) องค์การอาหารและยา (อย.) เพื่อ เปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค ด้วยมาตรการ คนไทยอ่อนหวาน เริ่มจากรณรงค์ภาคประชาชน ราชการ ขอความร่วมมือโรงแรม ร้านอาหาร ร้านกาแฟให้เปลี่ยนไปใช้น้ำตาลซองในปริมาณที่เหมาะสม คือ 4 กรัม (เท่ากับ 1 ช้อนชา) เพื่อสุขภาพ และเสนอมาตรการนี้เข้าสู่ ครม.ด้วย

นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการองค์การอาหารและยา (อย.) ระบุอยากให้ภาครัฐเริ่มเป็นตัวอย่าง ให้หน่วยงาน รัฐประชาชน โรงแรมใช้น้ำตาลซอง 4 กรัมมากขึ้น และขอความร่วมมือผู้ผลิตเพื่อเป็นทางเลือกผู้บริโภค

ที่ผ่านมาสาเหตุที่น้ำตาลขนาด 4 กรัม มีน้อยในตลาดเพราะสั่งผลิตน้อย ผู้ผลิตจึงไม่ให้ความสนใจ ซึ่ง อย.ไม่คาดหวังว่าคนไทยจะลดกินหวานน้อยลงอย่างรวดเร็ว แต่คนที่รักสุขภาพ กลัวอ้วน กลัวโรคก็มีไม่น้อย

สุจินต์ เจียรจิตเลิศ เลขาธิการสมาคมโรงแรมไทย กล่าวว่า ปัญหาที่พบคือต้นทุนน้ำตาลซอง 4 กรัมเท่าเดิม แต่ปริมาณน้ำตาลลดลง หรือบางโรงแรมไม่กล้าสั่งผลิต เพราะไม่มั่นใจมาตรการ จึงอยากให้ทำต่อเนื่อง เป็นต้น

"คนไทยไม่ชอบกาแฟขมก็เพิ่มน้ำตาลกลบแทนที่จะใส่กาแฟให้น้อยลง จึงต้องเปลี่ยนค่านิยมในการใช้ด้วย" ทั้งนี้ จำต้องอาศัยความร่วมมือของทุกๆ ฝ่าย และใช้ทุกๆ กลไก เพื่อนำไปสู่ความสำเร็จ