ที่มา : MGR Online       

http://www.thaihealth.or.th/

 

อธิบดีกรมการแพทย์ เผยโรคลมชักเป็นโรคทางระบบประสาท ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักไม่รู้สึกตัวเมื่อมีอาการชัก การดูแลผู้ที่มีอาการชักอย่างถูกวิธีจึงมีความจำเป็น และสำคัญต่อตัวผู้ป่วยมาก เพราะจะช่วยลดความสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้นต่อตัวผู้ป่วยได้

นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โรคลมชักเป็นโรคทางระบบประสาท เป็นสาเหตุของการเกิดภาวะทุพพลภาพทั้งในเด็ก และผู้ใหญ่ โรคลมชักเกิดจากการเปลี่ยนแปลงการทำงานของเซลล์สมองอย่างเฉียบพลัน โดยมีการปล่อยคลื่นไฟฟ้าที่ผิดปกติออกมาจากเซลล์สมองจำนวนมากพร้อมกันจากจุดใดจุดหนึ่ง หรือทั้งหมด

อาการชักมี 2 ประเภท ดังนี้ 1.ชักเฉพาะที่เกิดจากไฟฟ้าในสมองที่ผิดปกติเฉพาะที่มี 2 ลักษณะ คือ การชักแบบมีสติ ผู้ป่วยจะมีการเคลื่อนไหวร่างกายผิดปกติ เช่น แขน ขา ซึ่งผู้ป่วยจะรับรู้ได้ปกติ บางรายอาจมีความผิดปกติของการรับรู้ เช่น ได้กลิ่นแปลกๆ เห็นภาพผิดปกติ ได้ยินเสียงแปลกๆ รู้สึกคุ้นเคยต่อสถานที่ทั้งที่ไม่เคยไปมาก่อน หรือรู้สึกกลัวตกใจก่อนจะมีอาการชัก ส่วนการชักแบบขาดสติเป็นชนิดของการชักที่พบบ่อยที่สุดในผู้ใหญ่ และยากต่อการควบคุมอาการชัก ซึ่งอาจมีอาการเตือนก่อนที่จะไม่รู้ตัว ส่วนมากมีอาการไม่เกิน 3 นาที

ขณะที่เกิดอาการชักผู้ป่วยอาจดูเหมือนรู้สึกตัวแต่ไม่รับรู้สภาพแวดล้อม ขาดสติไม่ตอบสนองต่อคำพูด หรือคำสั่งตามปกติได้ บางครั้งผู้ป่วยจะเหม่อนิ่ง หรือทำพฤติกรรมซ้ำๆ เช่น แสยะยิ้ม เคี้ยวปาก มือจับสิ่งของไม่รู้ตัว พูดซ้ำๆ เดิน วิ่ง โดยไม่มีเป้าหมาย ผู้ป่วยไม่สามารถจำสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานี้ได้ หากมีการจับมัด หรือรัดในขณะที่เกิดอาการชัก ผู้ป่วยอาจโต้ตอบรุนแรง หลังจากชักผู้ป่วยจะหลับ สับสน อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยระยะหนึ่งก่อนจะรู้สึกตัวปกติ และ 2.ชักทั้งตัว เกิดจากกระแสไฟฟ้าผิดปกติกระจายในสมองทั่วๆ ไปตั้งแต่ต้น มักสูญเสียการรู้สึกตัวมีอาการชักเกร็งกระตุก หรือส่งเสียงร้องก่อน และมีอาการกระตุกทั้งตัวอาจกัดลิ้น หรือปัสสาวะราด ส่วนใหญ่จะชักน้อยกว่า 3 นาที หลังชักอ่อนเพลียสักระยะก่อนรู้สึกตัวเป็นปกติ การทราบลักษณะอาการชักจึงมีความสำคัญต่อตัวผู้ป่วย และเป็นประโยชน์ต่อการตัดสินใจเลือกยากันชัก ตลอดจนการรักษาของแพทย์ เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะหายจากอาการชักเมื่อได้รับการรักษาที่เหมาะสม

นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงปัจจัยที่ส่งเสริมให้เกิดการชัก เช่น อดนอน เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แสงกะพริบ เสียงดัง ความเครียด เป็นต้น และหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่อาจเป็นอันตราย เช่น ปั่นจักรยาน ขับรถ ว่ายน้ำ ปีนที่สูง โดยไม่มีผู้ดูแล

อธิบดีกรมการแพทย์ แนะว่า การดูแลผู้ป่วยเมื่อเกิดอาการชักควรจัดท่าให้ผู้ป่วยหายใจสะดวก ปลดเสื้อผ้าผู้ป่วยให้หลวม ศีรษะต่ำเล็กน้อยเพื่อป้องกันไม่ให้สำลักสิ่งแปลกปลอม หรือน้ำลายเข้าไปในปอด เอาสิ่งตกค้างในปากออกให้หมด หากผู้ป่วยเกร็งอ้าปากไม่ได้ ห้ามใช้ไม้กดลิ้นหรือวัตถุใดๆ สอดเข้าไปในปาก หรืองัดปากผู้ป่วยขณะเกร็งกัดฟัน เพราะอาจเกิดอันตรายฟันหักตกลงไปอุดหลอดลมได้ หากมีไข้สูง (อุณหภูมิร่างกายเกิน 38 องศาเซลเซียส) ให้เช็ดตัวลดไข้ ห้ามให้ยากินเพราะอาจสำลักได้ และโทรศัพท์แจ้ง 1669 หรือรีบนำส่งสถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุด หลังการชักผู้ป่วยอาจเพลียหลับไปควรพลิกตะแคงตัว เช็ดน้ำลาย สิ่งที่อุดกลั้นการหายใจ เช่น ฟันปลอม หรือเศษอาหารและอยู่กับผู้ป่วยจนกว่าจะรู้สึกตัวดี โรคลมชักสามารถรักษาได้หากรับการตรวจวินิจฉัย และรักษาตั้งแต่ระยะแรก และการเรียนรู้วิธีรับมือต่อผู้ที่เกิดอาการชัก จะสามารถช่วยให้รับมือต่อโรคลมชักในกรณีฉุกเฉินได้อย่างถูกวิธี