ที่มา : www.thairath.co.th 

 

การตั้งครรภ์ของคุณแม่ยุคใหม่มีแนวโน้มในการผ่าคลอดสูงมาก ซึ่งก่อให้เกิดผลข้างเคียงคือ เด็กผ่าคลอดจะขาดโอกาสได้รับภูมิต้านทานตามธรรมชาติผ่านทางช่องคลอด ทำให้มีความเสี่ยงที่จะเจ็บป่วยได้ง่าย ในการประชุมวิชาการประจำปี ครั้งที่ 32 ของสมาคมโรคภูมิแพ้ โรคหืด และวิทยาภูมิคุ้มกันแห่งประเทศไทย “From Diagnosis to Immunotherapy in Allergic Diseases”

ศ.พญ.จรุงจิตร์ งามไพบูลย์ กุมารแพทย์โรคภูมิแพ้ฯ และประธานสมาคมฯ ได้กล่าวถึงการผ่าคลอดเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การพัฒนาภูมิต้านทานในเด็กล่าช้า ในการบรรยายเรื่อง “Delayed Colonization of Gut Microbiotics in C-Section Infants: Causes, Consequence & Solutions” ซึ่งคุณหมอจรุงจิตร์ ให้เหตุผลว่า เพราะพบจุลินทรีย์สุขภาพ“บิฟิโด แบคทีเรีย” ในลำไส้น้อยกว่าเด็กที่คลอดธรรมชาติ ซึ่งจุลินทรีย์สุขภาพนี้ เป็นภูมิต้านทานตั้งต้นที่ส่งผ่านจากแม่สู่ลูกทางช่องคลอดของคุณแม่ เพื่อสร้างรากฐานระบบภูมิต้านทาน โดยระบบภูมิต้านทานนี้มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างตั้งแต่ช่วงแรกของชีวิต หากพลาดช่วงโอกาสทองนี้ ระบบภูมิต้านทานอาจไม่สามารถพัฒนาได้เต็มศักยภาพที่ควรจะเป็น

อย่างไรก็ตาม โภชนาการในช่วงแรกของชีวิต เป็นสิ่งที่คุณแม่สามารถกำหนดได้ จะส่งผลต่อสุขภาพของเด็กในระยะยาว โดยเฉพาะ “นมแม่” มีบทบาทในการเร่งเสริมสร้างภูมิต้านทานที่จำเป็นอย่างยิ่งในเด็กผ่าคลอด เพราะนมแม่มีองค์ประกอบสำคัญ ที่ช่วยส่งเสริมภูมิต้านทานหลายชนิด เช่น โพรไบโอติก (จุลินทรีย์สุขภาพ) และพรีไบโอติก (อาหารของจุลินทรีย์สุขภาพ) ซึ่งทำงานร่วมกัน เพื่อช่วยเร่งเพิ่มปริมาณจุลินทรีย์สุขภาพในระบบทางเดินอาหาร ที่มีเซลล์ภูมิต้านทานมากถึงร้อยละ 70 เด็กที่ทานนมแม่จึงมักจะมีจุลินทรีย์สุขภาพมากกว่าเด็กที่ทานนมผสมสูตรทั่วไป ดังนั้น บุคลากรทางการแพทย์และหน่วยงานต่างๆ ควรช่วยกันสนับสนุนให้เด็กได้รับนมแม่ให้ได้นานที่สุด เพื่อลดผลกระทบจากการผ่าคลอด และส่งเสริมระบบภูมิต้านทานตั้งแต่ช่วงแรกของชีวิต

ในตอนท้ายคุณหมอจรุงจิตร์ยังกล่าวด้วยว่า ช่วงอายุตั้งแต่แรกเกิดถึง 5 ปี นับเป็นช่วงเวลาที่สำคัญอย่างยิ่งในการเสริมสร้างภูมิต้านทานในเด็ก ดังนั้นพ่อแม่ควรให้ความใส่ใจในโภชนาการเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการส่งเสริมการให้นมแม่แก่เด็กที่ผ่าคลอด ซึ่งต้องการการดูแลใส่ใจเป็นพิเศษในการเสริมภูมิต้านทานในช่วงแรกของชีวิต เพราะสุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรงของเด็กจะเป็นต้นทุนสำคัญในการพัฒนาด้านสติปัญญาและด้านอื่นๆที่จำเป็นต่อไป