ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

http://www.thaihealth.or.th/

 

สำหรับอุณหภูมิที่ร้อนแสนร้อนของเดือนเมษายนแบบนี้ หลายๆ คนคงเฝ้ารอเทศกาลสำคัญของคนไทยมาช่วยปัดเป่าความร้อนกับประเพณีวันสงกรานต์ซึ่งตรงกับวันที่ 13 เมษายนของทุกปี และถัดมาอีกหนึ่งวันสำหรับวันครอบครัว 14 เมษายน ซึ่งสมาชิกของบ้านมักใช้โอกาสนี้ในการพบปะ รวมญาติได้อยู่พร้อมหน้า และทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกันเพื่อเป็นการกระชับความสัมพันธ์

แต่ไม่ใช่ทุกครอบครัวที่จะมีสมาชิกอยู่พร้อมเพรียงกันอย่างอบอุ่น ด้วยลักษณะวิถีชีวิตของครอบครัวในสังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก สมาชิกในครอบครัวต่างต้องดิ้นรนทำมาหาเลี้ยงชีพ ทำให้บางครั้งไม่ค่อยมีเวลาให้แก่กัน ต้องทิ้งพ่อแม่ ญาติผู้ใหญ่ที่ชราภาพไว้ตามลำพัง เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาความเหงา หรือด้านสุขภาพจิตในผู้สูงอายุ

การแก้ปัญหาความเหงาอาจทำได้หลายประการ หนึ่งในนั้นคือการมีสัตว์เลี้ยงเป็นเพื่อน โดยเฉพาะสัตว์เลี้ยงแสนรู้อย่างสุนัข ซึ่งจากการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับผู้สูงอายุและการเลี้ยงสุนัข พบว่าผู้สูงอายุที่อยู่กับสุนัขตามลำพังบ่อยๆ จะช่วยคลายความเครียดและความเหงาไปได้ ดังนั้นในผู้สูงอายุที่รักสัตว์เลี้ยงจึงมองว่าเจ้าสี่ขาเหล่านี้เป็นดังสมาชิกคนหนึ่งในครอบครัวที่ชดเชยความเหงา อ้างว้างลงได้

ดร.จิตรา ดุษฎีเมธา นักจิตวิทยาและประธานโครงการศูนย์ให้คำปรึกษาและพัฒนาศักยภาพมนุษย์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) กล่าวว่า มนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่ต้องการมีบุคคลอยู่รอบข้างใกล้ชิด แต่เนื่องจากวิถีชีวิตในยุคปัจจุบันของคนเมืองไม่ค่อยได้มีโอกาสดูแลผู้สูงวัยในบ้าน การมีสัตว์เป็นตัวแทนของสิ่งมีชีวิตเข้ามาก็จะทำให้คนชราซึ่งเป็นวัยที่มีความหวั่นไหวทางอารมณ์ค่อนข้างง่าย รู้สึกดี สดชื่นขึ้น ได้มีการปฏิสัมพันธ์กับสัตว์เลี้ยงที่แสดงอาการโต้ตอบได้ เห็นถึงพัฒนาการการเจริญเติบโต ทำให้ท่านรู้สึกมีเพื่อนเล่น มีเพื่อนคุย ผ่อนคลาย

แต่การจะเลือกสัตว์เลี้ยงให้เป็นเพื่อนคลายเหงากับผู้สูงอายุนั้น จำเป็นจะต้องถามความสมัครใจ คำนึงถึงทัศนคติความชอบด้วย ไม่ใช่การยัดเหยียด เพราะนั่นไม่ใช่จุดเริ่มต้นที่ดี หากตัวเขาชอบรักก็เป็นเรื่องที่ดี ทำให้แต่ละวันชีวิตที่อยู่กับบ้านได้มีอะไรให้ทำ ก็สามารถชดเชยความเบื่อหน่ายจากการที่ต้องอยู่คนเดียวลงได้ และยังทำให้ผู้สูงอายุได้ขยับเขยื้อนร่างกายบ้าง ไม่ต้องนั่งจับเจ่าอยู่เพียงอย่างเดียว แต่หากว่าผู้สูงอายุไม่ชอบสัตว์ลูกหลานก็หาสิ่งอื่นๆ มาแทน เช่น การปลูกต้นไม้ หางานอดิเรกอย่างอื่นทำเพื่อเติมเต็มความสดชื่น

โดยข้อระวังในการเลือกสัตว์เลี้ยง ต้องดูว่าผู้สูงอายุมีโรคที่ต้องประจำตัวที่ไม่เหมาะกับสัตว์หรือไม่ เช่น โรคภูมิแพ้ ไปจนถึงชนิดและประเภทของสัตว์เลี้ยง อย่างเช่นสุนัข ที่เหมาะกับผู้สูงอายุควรจะเป็นสุนัขพันธุ์เล็กที่ไม่มีแรงมาก เพราะสุนัขจะชอบแสดงความรักด้วยการวิ่งเข้าหาหรือกระโจนใส่ ดังนั้นหากเลี้ยงสุนัขพันธุ์ใหญ่อาจเป็นอันตรายต่อผู้สูงอายุได้ และควรจะต้องมีลูกหลานคอยช่วยดูแลด้วย

นอกจากนี้ ในการที่ผู้สูงอายุมีความรัก ผูกพันกับสัตว์เลี้ยงอย่างมาก ก็จำเป็นจะต้องมีการเตรียมความพร้อมในการรับมือกับความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นกับสัตว์ เพราะเมื่อวัฏจักร เกิด แก่ เจ็บ ตาย มาถึง ย่อมเกิดความเศร้าโศกเสียใจเป็นอย่างมาก เพื่อป้องกันไม่ให้เสียศูนย์ควรจะหาสิ่งที่มาถ่ายเทความรัก แบ่งส่วนความรักให้กับสัตว์ตัวใหม่เมื่อสัตว์ตัวเก่าเริ่มแก่เฒ่า หาสัตว์รุ่นต่อมาเพื่อทดแทน ไม่ใช่ปล่อยให้สัตว์ตัวเก่าตายก่อนค่อยหาใหม่ทีหลัง

ทั้งนี้ แม้ว่าการเลี้ยงสัตว์ทำให้ผู้สูงอายุมีจิตใจอ่อนโยน ลดความคิดฟุ้งซ่าน ไม่เบื่อหน่าย และที่สำคัญช่วยให้ผู้สูงอายุคลายเหงาได้ แต่อย่างไรก็ตาม ตัวบุตรหลานเองคือบุคคลสำคัญที่สุดที่จะทำให้ญาติผู้ใหญ่ในบ้านของคุณมีความสุข รู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า มีความหมาย เป็นดังร่มโพธิ์ร่มไทรของลูกหลานสืบต่อไป.