ที่มา : เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ

http://www.thaihealth.or.th/

 

ปัจจุบันมีประชากรทั่วโลกป่วยด้วยภาวะหัวใจล้มเหลว (Heart failure) ประมาณ 26 ล้านคน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 46% ภายในปี พ.ศ. 2573 ซึ่งจำนวน 1 ใน 5 คน ที่มีอายุมากกว่า 40 ปี จะมีโอกาสเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวในช่วงใดช่วงหนึ่งของชีวิต

 

 

จากข้อมูลผู้ป่วยที่เข้ารักษาตัวด้วยโรคหัวใจล้มเหลวในศูนย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ พบว่าปี 2558 มีจำนวน 652 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 2557 ประมาณ 45 % อัน เนื่องจากการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนไปของคนไทย ทั้งละเลยต่อคุณภาพอาหาร การออกกำลังกาย การเผชิญกับความเครียด รวมถึงการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยผู้ป่วยมีอาการได้หลากหลายตั้งแต่อาการน้อยจนถึงอาการมาก จึงต้องมีวิธีรักษาที่หลากหลายตั้งแต่การดูแลตัวเอง (self-care) การรับประทานยา การใส่เครื่องช่วยให้หัวใจทำงานดีขึ้น จนถึงการปลูกถ่ายหัวใจสำหรับผู้ป่วยระยะสุดท้าย

ด้วยเล็งเห็นถึงภารกิจการช่วยเหลือผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวให้สามารถต่อสู้กับสภาวะของโรคและดำเนินชีวิตได้ตามปกติมากขึ้น เร็วๆนี้ คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจึงได้จัดการประชุม Chulalongkorn Heart Failure Scientific Meeting 2016 เพื่อเผยแพร่ความรู้และวิทยาการเทคโนโลยีใหม่ๆ ในการรักษาผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลว

ผู้ช่วยศาสตราจารย์แพทย์หญิงศริญญา ภูวนันท์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านภาวะหัวใจล้มเหลวและอายุรศาสตร์การปลูกถ่ายหัวใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์หัวใจและหลอดเลือด คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประธานผู้จัดการประชุม กล่าวว่า ภาวะหัวใจล้มเหลวเป็นกลุ่มอาการที่มีสาเหตุมาจากความผิดปกติของการทำงานของหัวใจจนหัวใจมีความอ่อนแรงและไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายได้ตามที่ต้องการ สาเหตุที่พบบ่อย ได้แก่ โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ  โรคลิ้นหัวใจ โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (myocarditis) โรคความดันโลหิตสูง หรือ โรคกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรงโดยไม่ทราบสาเหตุ (Cardiomyopathy)

ซึ่งผู้ป่วยแต่ละรายจะมีอาการและการดำเนินโรคต่างกัน  ส่วนมากผู้ป่วยมักมีอาการคั่งของน้ำที่เป็นส่วนประกอบของเลือดตามอวัยวะต่างๆ เช่น ปอด ทำให้ผู้ป่วยมีอาการหายใจเหนื่อย หอบ นอนราบไม่ได้ หรือต้องตื่นขึ้นมานั่งเป็นพักๆ ผู้ป่วยอาจมีอาการขาบวม และตับหรือทางเดินอาหาร ผู้ป่วยอาจมีอาการจุกแน่น คลื่นไส้อาเจียน

การรักษาภาวะหัวใจล้มเหลวที่ประสบความสำเร็จ จนผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันได้ และมีชีวิตที่ยืนยาวขึ้น ต้องอาศัยความร่วมมือที่ดีระหว่างทีมแพทย์และพยาบาลกับผู้ป่วย

โดยผู้ป่วยต้องสามารถดูแลตัวเอง (self-care) ได้ด้วยการปฏิบัติตัวอย่างเคร่งครัด อันเป็นกุญแจสำคัญทำให้สามารถควบคุมภาวะหัวใจล้มเหลวได้ดี ไม่มีอาการแทรกซ้อนและไม่ต้องนอนโรงพยาบาล ดังนี้

การงดเค็ม เนื่องจากอาหารเค็มจะทำให้ผู้ป่วยมีภาวะน้ำคั่งและอาการแย่ลงเร็ว

การชั่งน้ำหนัก ควรทำเป็นประจำทุกวันในเวลาที่ใกล้เคียงกันและเครื่องชั่งเครื่องเดียวกัน เพราะน้ำหนักเป็นตัวชี้วัดภาวะน้ำคั่ง หรืออาการหอบเหนื่อยที่กำลังมาเยือน หากว่าน้ำหนักเพิ่มขึ้นเร็วต้องรีบพบแพทย์หรือโทร.รายงานแพทย์ทันที

รับประทานยา ผู้ป่วยจำเป็นต้องเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของยาที่รับประทานอย่างละเอียด พร้อมรับประทานยาอย่างเป็นประจำตามที่แพทย์แนะนำ

ออกกำลังกาย ผู้ป่วยจำเป็นต้องการออกกำลังกายอย่างถูกวิธี อย่างเบาๆ ไม่หักโหม และภายใต้คำแนะนำของแพทย์ อาทิ การเดินเร็ว การขี่จักรยาน การว่ายน้ำ โดยต้องไม่ลืมเตรียมพร้อมร่างกาย (Warm up) ทุกครั้งก่อนออกกำลังกาย และหยุดพักทันทีหากเริ่มมีอาการเหนื่อย หอบ แน่นหน้าอก

กรณีที่ผู้ป่วยทำการรักษาด้วยวิธีการต่างๆ ตั้งแต่รับยา ทำบอลลูนขยายหลอดเลือดหัวใจการใช้เครื่องมือ อาทิ การใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจเพื่อให้กล้ามเนื้อหัวใจบีบตัวประสานงานดี ขึ้น Cardiac Resynchronization Therapy (CRT), การใส่เครื่องกระตุกไฟฟ้าชนิดฝัง (Implantable Cardioverter Defibrillator ; ICD) เป็นต้น แต่ผู้ป่วยยังไม่มีอาการที่ดีขึ้น แพทย์จะต้องพิจารณาสู่วิธีการรักษาขั้นสุดท้ายด้วยการปลูกถ่ายหัวใจ

ซึ่งนำหัวใจของผู้ที่ภาวะสมองตาย สมองไม่ทำงานเนื่องจากมีเลือดออกในสมองแล้วนำมาเย็บต่อกับเส้นเลือดของผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลว ทำให้หัวใจกลับมาเต้นทำงานปกติแทนที่หัวใจที่ล้มเหลว ภายหลังการปลูกถ่ายฯ ผู้ป่วยยังต้องรับยากดภูมิคุ้มกัน เพื่อป้องกันร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันมาต่อต้านหัวใจที่ถูกนำมาปลูกถ่าย ทั้งนี้การปลูกถ่ายหัวใจจะสามารถทำให้ผู้ป่วยมีอัตรารอดชีวิตเฉลี่ยอยู่ที่ 70-80 % ผู้ป่วยส่วนใหญ่จึงมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้เช่นเดิมหรือใกล้เคียงเดิม