ที่มา : เว็บไซต์ ASTV ผู้จัดการออนไลน์

http://www.thaihealth.or.th/

 

บทความโดย  ผศ.พญ.ทานตะวัน อวิรุทธ์วรกุล  ภาควิชาจิตเวชศาสตร์  รพ.รามาธิบดี

โรคประหม่ากังวลต่อหน้าสังคม (social phobia หรือ social anxiety) เป็นความกังวลเมื่อต้องไปอยู่ในสถานการณ์ที่รู้สึกว่าตัวเองกำลังถูกจ้องมองจากผู้อื่น กลัวว่าตนเองอาจทำอะไรที่น่าอับอายขายหน้า มักเป็นสถานการณ์ที่รู้สึกว่า กำลังตกเป็นเป้าสายตาของคนหลายคน เช่น การพูดหน้าชั้น การพูดในที่ประชุม หรือแม้กระทั่งการเดินเข้าไปในที่คนเยอะๆ และรู้สึกว่าสายตาหลายๆ คู่กำลังมองมา ก็จะเกิดความประหม่าขึ้นมาอย่างมาก จนบางคนไม่กล้าเดินเข้าไปในที่มีคนมากๆ เพราะกลัวตกเป็นเป้าสายตา โดยบางคนตอนอยู่ในกลุ่มเพื่อน พูดคุยเก่ง พูดจาคล่องแคล่วร่าเริงดีปกติ แต่เมื่อต้องไปพูดหน้าชั้น กลับพูดไม่ออก เกิดอาการประหม่าอย่างมาก

ลักษณะอาการ

มีความกลัววิตกกังวลเกิดขึ้นเอง แม้ทราบว่าไม่มีเหตุผลสมควรที่จะกลัวกังวลขนาดนั้น แต่ก็อดกลัวกังวลไม่ได้ และมีอาการทางร่างกาย เช่น ใจสั่น มือสั่น เสียงสั่น เหงื่อแตก ตัวเย็น มือเท้าชา บางคนใจหวิว เหมือนจะเป็นลม บางคนอาจมีอาการปวดปัสสาวะหรืออุจจาระได้ ด้วยความกังวลทั้งใจและทางกายนี้ ผู้ป่วยจะพยายามหลบเลี่ยงหลีกหนีต่อสิ่งที่กลัวนั้นจนมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน และมักมีอาการต่อเนื่องยาวนานอย่างน้อย 6 เดือนขึ้นไป และเมื่อพูดนำเสนอหรือแสดงออกไปเสร็จ มักจะเก็บความคิดวนไปวนมาและรู้สึกไม่ค่อยพอใจตัวเอง โดยมักเห็นแต่จุดผิดพลาดของตัวเอง จนทำให้เกิดความกลัวกังวล ถ้าต้องพูดหรือแสดงออกในครั้งต่อไป โรคนี้พบได้ 2-3% ในคนทั่วไป

สาเหตุหลักมี 2 ประการ คือ ด้านจิตใจ และด้านร่างกาย

1.สาเหตุด้านจิตใจ

ผลจากอดีต

- เคยมีประสบการณ์อันเลวร้ายในอดีต เช่น เคยพูดหรือแสดงความคิดเห็นต่อหน้าคนอื่นๆ แล้ว ได้รับการตอบรับที่ไม่ดี หรือเกิดความรู้สึกอับอาย ประสบการณ์เลวร้ายนั้น จะกลายเป็นแผลในใจ จนเกิดความรู้สึกฝังใจ

- เคยมีอาการประหม่าตื่นเต้นตอนพูดหรือแสดงออก แล้วถูกคนจับได้ หรือ เกรงว่าคนจะจับได้ เลยเกิดความประหม่า กังวลขึ้นมาทุกครั้งที่ต้องเจอสถานการณ์แบบเดิม

- เด็กที่เติบโตมาในครอบครัวที่พ่อแม่มักวิพากษ์วิจารณ์เด็กตลอด จนเด็กรู้สึกขาดความมั่นใจ มองว่าตนเองไม่เป็นที่น่ายอมรับ หรือพ่อแม่ที่มักทำให้เด็กรู้สึกอับอาย (shame) หรือเด็กที่เติบโตมากับพ่อแม่ที่แคร์สายตาคนอื่นมากๆ อ่อนไหวต่อการวิพากษ์วิจารณ์จากคนรอบตัวอย่างมาก ยึดถือความคิดเห็น หรือคำวิพากษ์วิจารณ์ของคนอื่นมาก เด็กก็จะสั่นไหว อ่อนไหว และแคร์สายตาคนอื่นมากไปด้วยเช่นกัน (ที่เรียกว่า แคร์สื่อมาก)

ผลจากตัวเอง

- มักมองตนเองในแง่ลบ ขาดความเชื่อมั่นในตัวเอง ไม่ค่อยเห็นข้อดีของตนเอง ไม่ค่อยเห็นคุณค่าในตนเอง ไม่เชื่อมั่นในศักยภาพของตนเอง มีความคิดกับตนเองในแง่ลบบ่อยๆ เช่น ถ้าฉันแสดงตัวตนของฉันออกไป คนจะต้องปฏิเสธฉันแน่นอน หรือความคิดเห็นของฉันไม่ได้เรื่อง เป็นต้น

- มีความคาดหวังกับตัวเองมาก มีมาตรฐานกับตัวเองสูง จนไม่ค่อยรู้สึกพอใจกับตัวเองสักที

- รู้สึกว่าตนเองมีปมด้อยอยู่ตลอด มองว่าตนเองสู้คนอื่นไม่ได้ (inferior)

- ขาดความมั่นคงจากภายใน ต้องการการเติมเต็มจากคนภายนอกอย่างมาก จึงสั่นไหว กับสายตาคนอื่นอย่างมาก

- คนที่มีลักษณะวิตกกังวลง่ายอยู่เดิม และมักชอบคิดเรื่องต่างๆ ไปล่วงหน้า โดยเฉพาะมักคิดไปในแง่ลบ

ผลอิทธิพลในสังคม หรือ วัฒนธรรม

- สังคมหรือวัฒนธรรม ที่ใช้ความรู้สึกอับอายต่อสายตาคนอื่นเป็นการลงโทษ

- สังคมที่อ่อนไหวต่อคำวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก

- สังคมที่เน้นเรื่องภาพลักษณ์มาก หรือ มีมาตรฐานสูง

- สังคมที่มักตัดสินคนอื่นๆที่การแสดงออกเป็นหลัก

- สังคมที่อัตราการแข่งขันสูง

- สังคมที่ไม่คุ้นเคย ก่อให้เกิดความรู้สึกโดดเดี่ยว แปลกแยก

- สังคมที่ไม่ทำให้เกิดความรู้สึกมั่นคง ปลอดภัย เป็นสังคมที่เต็มไปด้วยคำตำหนิ เป็นต้น

2.สาเหตุด้านร่างกาย

1) ผลด้านพันธุกรรม พบว่าในญาติพี่น้องของผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ มีโอกาสเป็นมากกว่าคนทั่วไป 2-3 เท่า

2) ผลจากสารสื่อประสาทในสมอง ที่เกี่ยวข้องกับความวิตกกังวลหลั่งผิดปกติ ทำให้เกิดความกลัวกังวลง่ายกว่าคนทั่วไป จนเกิดอาการกังวลขึ้นทั้งทางร่ายกายและทางจิตใจไวกว่าปกติ

การรักษา

1.การรักษาด้านจิตใจ

1) พฤติกรรมบำบัด

- การรักษาโดยการเผชิญสิ่งที่กลัว (exposure therapy)

- การใช้เทคนิกผ่อนคลาย (relaxation technique) เช่น นั่งหรือยืนในท่า ที่สบายๆ หายใจเข้าออกช้าๆ ลึกๆ ไปเรื่อยๆ สัก 3-5 นาที หรืออาจถึง 10 นาที หรือมากกว่านี้ได้ ซึ่งวิธีการนี้หลายคนจะรู้สึกผ่อนคลายมากขึ้นเกิดความสงบมากขึ้น จากร่างกายที่ผ่อนคลายมากขึ้น และ จิตใจที่สงบมากขึ้นทำให้รู้สึกมั่นคงจากภายในมากขึ้นหรือ การจินตนาการถึงสิ่งที่ดี

- การจินตนาการ สถานการณ์จำลอง ที่ตนมักกลัว เพื่อสร้างความคุ้นชินเพื่อลดความกลัวกังวล และถ้ามีการบันทึกความก้าวหน้าของการเผชิญสถานการณ์ที่กลัว จะยิ่งเป็นขวัญและกำลังใจให้กับตนเองได้มากขึ้น

2) การปรับวิธีคิด

- ปรับวิธีคิดที่มองตนเอง หรือ สถานการณ์ต่างๆ รอบตัวแย่เกินจริงไปมาก จนเกิดความวิตกกังวล หรือ มักแปลความสิ่งต่างๆไปในแง่ลบมากเกินไป การรักษาปรับวิธีคิด หรือ วิธีแปลความสิ่งต่างๆให้เหมาะสมตามความเป็นจริง ให้กลับมามองเห็นสิ่งดีๆ เห็นศักยภาพในตนเอง หรือแปลความสถานการณ์รอบข้างได้อย่างถูกต้องเหมาะสมตามความเป็นจริง

3) การทำจิตบำบัด

การทำจิตบำบัดแบบเชิงลึก เพื่อหาที่มาและช่วยแก้ไขปมขัดแย้ง ในจิตใจ ซึ่ง รักษาโดยจิตแพทย์ หรือนักจิตวิทยาคลินิค เพื่อให้กลับมารักและยอมรับตัวเองได้อย่างแท้จริง เกิดความรู้สึกมั่นคงขึ้นภายใน จะลดความสั่นไหวต่อสิ่งแวดล้อมภายนอกลงไปอย่างมาก

2.การรักษาด้านร่างกาย มียาที่ใช้รักษาหลายชนิด

(การใช้ยารักษาควรอยู่ในความดูแลของแพทย์) เช่น กลุ่มยาต้านเศร้า เช่น Serotonon-Specific Reuptake Inhibitors (SSRI) กลุ่มยาคลายกังวล เช่น ยากลุ่ม benzodiazepine และยาในกลุ่ม beta-adrenergic antagonist เช่น propranolol ใช้ในการลดอาการประหม่าทางร่างกาย เช่น ใจสั่น มือสั่น เสียงสั่น เป็นต้น

การมีความกลัวกังวล หรือใส่ใจสายตาต่อสังคมรอบตัวไม่ใช่สิ่งเลวร้าย และ ด้านหนึ่งเป็นสิ่งที่ดีด้วยซ้ำเพราะทำให้เราเกิดการพัฒนาตนเอง เกิดการกลับมาใคร่ครวญตัวเอง เพราะถ้าไม่มีความแคร์หรือใส่ใจสายตาคนรอบข้างเลย อาจทำให้เกิดการกระทำที่ไม่เหมาะสมและไม่รู้ตัว จนอาจเกิดผลเสียหายต่อตนเองและคนอื่นได้

ดังนั้น การมีความกลัวกังวลบ้าง เป็นสิ่งที่ช่วยให้เกิดความใส่ใจต่อสิ่งต่างๆ มากขึ้น ความกลัวกังวลจึงไม่ใช่สิ่งที่น่ารังเกียจ เพียงแต่ถ้ามีมากเกินไปจะกลายเป็นผลเสียต่อตนเองและต่อคนอื่นได้

การกลับมาดูแลตนเองเป็นสิ่งสำคัญ ถ้ามีอาการไม่มาก เราอาจสามารถดูแลตัวเองได้ ด้วยการปรับทัศนะคติใหม่ มองตัวเองและมองสถานการณ์รอบข้างให้ตรงตามความเป็นจริง มองอย่างมีสติมากขึ้น ทันความคิดด้านลบให้บ่อยขึ้น เพราะหลายครั้ง เราคิดมากไปเองหรือฝึกร่ายกายให้อยู่ในความผ่อนคลายมากขึ้น ดังวิธีที่ได้กล่าวข้างต้น

แต่ถ้ามีอาการมาก การพบแพทย์ เช่น จิตแพทย์เป็นตัวช่วยหนึ่งที่อาจช่วยคุณได้ ซึ่งไม่ได้แปลว่าเราเป็นโรคทางจิตหรืออะไร เพียงแต่อาการทางจิตใจบางอย่างมีผลมาจากทางร่ายกายด้วย ดังนั้น การพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ถือว่าเป็นการรู้จักดูแลตัวเอง