ที่มา : เว็บไซต์โพสต์ทูเดย์
http://www.thaihealth.or.th/
“อะโครเมกาลี” เป็น “โรคหายาก” แต่ก็มีความรุนแรงและทำให้ผู้ป่วยอาจได้รับอันตรายมากกว่าที่ควรจะเป็น
นพ.ธวัชชัย พีรพัฒน์ดิษฐ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรศาสตร์ต่อมไร้ท่อ โรงพยาบาลศิริราช เล่าให้ฟังเกี่ยวกับโรค ว่า โรคอะโครเมกาลีเป็นโรคเรื้อรังที่มาจากความผิดปกติของฮอร์โมน โดยเกิดจากเนื้องอกของต่อมใต้สมอง สร้างฮอร์โมนที่ควบคุมการเจริญเติบโตของร่างกาย (โกรธฮอร์โมน) สูงผิดปกติ ทำให้ร่างกายสร้างฮอร์โมนที่กระตุ้นการเจริญเติบโตมากเกินไป
หากฮอร์โมนกระตุ้นการทำงานตั้งแต่เด็ก ร่างกายของผู้ป่วยจะสูงใหญ่เกินปกติเหมือนมนุษย์ยักษ์ ขณะที่หากเกิดในภาวะผู้ใหญ่ ร่างกายจะค่อยๆ ยืดออกผิดปกติ ทั้งมือ เท้า อวัยวะภายใน รวมถึงหน้าตา ทั้งปาก จมูก กระดูกหน้าผาก คางยื่น รวมถึงลิ้นโตคับปาก
“ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่เราพบจะอยู่ที่อายุ 40-60 ปี โดยตอนแรกจะไม่แสดงอาการใดๆ แต่จะเริ่มแสดงออกอย่างช้าๆ เช่น ปากเริ่มใหญ่ขึ้นหรือมือเท้าเริ่มใหญ่ขึ้น จนทำให้มารักษาช้าเกินไป และมักพบในผู้ป่วยที่เริ่มมีอายุมากขึ้น จึงอยากให้ความรู้เรื่องโรคนี้เพิ่ม เพื่อให้ผู้ป่วยและคนรอบข้างตระหนักถึงอาการ เพื่อให้พบแพทย์ได้ทันท่วงที” คุณหมอธวัชชัยเล่าให้ฟัง
นอกจากนี้ ยังมีโอกาสสูงในการเกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ เช่น อาจเกิดความผิดปกติของระบบลิ้นหัวใจ ทำให้อาจเกิดหัวใจวาย โรคหลอดเลือดหัวใจ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน รวมถึงภาวะเส้นเลือดในสมองอุดตัน ขณะเดียวกันยังอาจเกิดปัญหาจากการมองเห็น เนื่องจากมีการกดเบียดเส้นประสาทตา ซึ่งทั้งหมดมีความเสี่ยงทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้
สำหรับวิธีรักษา มีตั้งแต่ใช้ยา ฉายแสง รวมถึงผ่าตัดออก ซึ่งจะทำให้หายขาดได้ อย่างไรก็ตามสำหรับผู้ป่วยที่อาจได้รับอันตรายจากการผ่าตัดก้อนเนื้องอก จะใช้วิธีใช้ยาร่วมกับการฉายแสง แต่ปัญหาปัจจุบันคือราคายายังคงมีราคาสูง
หากพบได้รวดเร็วและได้รับการดูแลอย่างทันท่วงที อาการแทรกซ้อนของโรคอะโครเมกาลียังมีโอกาสหายขาด ด้วยเหตุนี้หากสงสัยว่าเป็นจึงควรพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อให้ทำการวินิจฉัยอย่างละเอียดต่อไป