ที่มา : มติชนออนไลน์
http://www.thaihealth.or.th/
แจ๊ค กิลเบิร์ต นักจุลชีววิทยา จากห้องปฏิบัติการแห่งชาติอิลลินอยส์ สหรัฐอเมริกา ผู้เชี่ยวชาญและเคยทำงานวิจัยเกี่ยวกับปริมาณและชนิดของเชื้อแบคทีเรียในห้องน้ำสาธารณะ ซึ่งมีการใช้งานร่วมกันของคนจำนวนมาก
อย่างเช่น ห้องน้ำในมหาวิทยาลัย หรือสถานที่สาธารณะต่างๆ ระบุว่า แม้ว่าผู้ใช้ห้องน้ำสาธารณะจะนำพาเชื้อจุลชีพต่างๆ เข้าสู่ห้องน้ำมากอย่างเหลือเชื่อ อย่างไรก็ตาม สภาวะแวดล้อมต่างๆ ก็ทำให้ห้องน้ำสาธารณะไม่ได้อันตรายมากเท่าที่คิดหรือหวาดกลัวกัน
กิลเบิร์ต ระบุว่า นักวิจัยพบว่าคนเรานำเอาแบคทีเรียเป็นจำนวนมากเข้าไปทิ้งไว้ในห้องน้ำ ทีมวิจัยของกิลเบิร์ตเคยใช้วิธีการตรวจสอบที่ห้องน้ำของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกา ด้วยการปิดทำความสะอาดและจัดการฆ่าเชื้อโรคทั้งหมดในห้องน้ำ จากนั้นเปิดให้ใช้งานกันตามปกติ หลังจากกลับมาตรวจสอบอีกครั้งหนึ่งพบว่า ภายใน 1 ชั่วโมง บนพื้นผิวของห้องน้ำดังกล่าว มีแบคทีเรียโดยเฉลี่ยจำนวนมากถึง 500,000 เซลล์ต่อเนื้อที่ 1 ตารางนิ้ว
ทีมวิจัยพบว่า 92 เปอร์เซ็นต์เป็นแบคทีเรียที่มาจาก 4 ไฟลัมที่เป็นแบคทีเรียซึ่งอาศัยอยู่ในตัวคนเราหรือไม่ก็เกี่ยวข้องกับคนเราคือแบคทีเรียในไฟลัมแอติโนแบคทีเรีย (ส่วนใหญ่พบตามผิวหนัง) และแบคทีเรียในกลุ่มที่พบในลำไส้และระบบย่อยอาหาร ประกอบด้วย แบคเทอรอยดิทีส, เฟอร์ไมคิวทีส และโปรเทโอแบคทีเรีย
แบคทีเรียที่พบบนผิวหนังนั้นมักพบในพื้นที่ของห้องน้ำซึ่งจำเป็นต้องใช้มือสัมผัส เช่น ประตู, ก๊อกน้ำ, ที่นั่ง และอุปกรณ์บรรจุสบู่ล้างมือ ในขณะที่แบคทีเรียที่พบในลำไส้ รวมถึงแบคเทอรอยดิทีส มักพบบริเวณมือจับหรือปุ่มชักโครก และที่นั่งชักโครก แลคโตบาซิลลัส แบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในช่องคลอดของสุภาพสตรี มักพบเห็นมากในห้องน้ำหญิงเป็นปกติ
ข้อสังเกตที่ทีมวิจัยของ แจ๊ค กิลเบิร์ต ตรวจสอบพบก็คือ ถ้าหากปล่อยทิ้งให้ห้องน้ำสาธารณะที่ปนเปื้อนอยู่เฉยๆ แบคทีเรียเหล่านี้ส่วนใหญ่จะตายไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งแบคทีเรียจากระบบลำไส้ ที่ไม่คุ้นเคยกับออกซิเจน, ความเย็น และการขาดอาหารได้นาน สภาพแวดล้อมของห้องน้ำสาธารณะที่เย็น แห้ง เกลี้ยงเกลา ไม่เหมาะกับการดำรงชีวิตของแบคทีเรียส่วนใหญ่ ในทางตรงกันข้ามถ้าหากอากาศอบอุ่น ชื้นและมีสารอาหารสกปรกอยู่ตามพื้น แบคทีเรียเหล่านี้ก็สามารถอยู่ได้นานกว่า
ในส่วนของแบคทีเรียที่พบบริเวณผิวหนัง สามารถทนอยู่ในห้องน้ำสาธารณะได้นานกว่า กิลเบิร์ตระบุว่าบางกลุ่มของแบคทีเรียเหล่านี้สามารถก่อโรคได้ แต่ก็ไม่ได้เข้าสู่ร่างกายของคนเราได้ง่ายมากนัก ตัวอย่างเช่น สตาไฟโลคอคคัส ออเรอัส แบคทีเรียที่พบที่ผิวหนังนั้นสามารถอยู่ในห้องน้ำได้นานก็จริง แต่จะก่อให้เกิดปัญหาหรือก่อให้เกิดโรคก็ต่อเมื่อภูมิคุ้มกันของบุคคลอ่อนแอไม่สามารถป้องกันโรคได้ หรือไม่ก็มีบาดแผลเปิดแล้วไปสัมผัสกับเชื้อบริเวณปากแผลโดยตรง
นอกจากนั้น การรักษาสุขอนามัยตามปกติ อย่างเช่น การล้างมือให้สะอาดก็สามารถทำลายเชื้อแบคทีเรียเหล่านี้ได้แทบทั้งหมด อาทิ แบคทีเรียที่ก่อให้เกิดโรคตับอักเสบชนิดเอ สามารถติดต่อผ่านสุขภัณฑ์อย่างเช่นมือจับชักโครก แล้วใช้มือเดียวกันส่งอาหารเข้าปาก หรือสัมผัสภายในปากโดยไม่ล้างมือ แต่การล้างมือฟอกสบู่อย่างถูกวิธี ก็สามารถทำลายเชื้อนี้ได้เช่นกัน