ที่มา : มติชนออนไลน์
http://www.thaihealth.or.th/
“ร้อน ร้อน ร้อน…” กับสภาพอากาศที่ร้อนอบอ้าว กรมอุตุนิยมวิทยาประเมินว่า กลางเดือนเมษายนนี้ อากาศจะร้อนจัด อุณหภูมิสูงสุดอาจสูง 43-44 องศาเซลเซียส
งานนี้นอกจากต้องหาวิธีคลายร้อนแล้ว ข้อควรระวังคือ อะไรที่ไม่ควรปฏิบัติช่วงหน้าร้อน นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แนะนำว่า ขณะนี้สภาพอากาศในประเทศร้อนอบอ้าวมาก โดยเฉพาะในช่วงกลางวัน อุณหภูมิบางแห่งสูงถึง 40 องศาเซลเซียส เกินอุณหภูมิปกติของร่างกายซึ่งมีระดับที่ 37 องศาเซลเซียส จึงมีความเป็นห่วงสุขภาพประชาชนอาจมีการเจ็บป่วยจากอากาศร้อน โดยหากได้รับความร้อนสูง ร่างกายจะพยายามระบายความร้อนออก โดยการปรับเปลี่ยนอัตราและการหมุนเวียนโลหิต เพื่อทำให้ร่างกายมีอุณหภูมิปกติ อย่างไรก็ตาม การดี่มน้ำก็สามารถช่วยได้ แต่เครื่องดื่มที่ไม่ควรดื่มในช่วงที่สภาพอากาศร้อน ก็คือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด ไม่ว่าจะดื่มโดยใส่น้ำแข็งหรือไม่ใส่ก็จะมีผลกระทบต่อร่างกายอย่างมาก ยิ่งหากมีโรคประจำตัว อาจถึงขั้นเกิดภาวะช็อกและเสียชีวิตได้
“โดยเฉพาะหากเป็นผู้มีโรคประจำตัวอยู่แล้ว เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจยิ่งมีความเสี่ยงมากขึ้นไปอีก เนื่องจากในสภาวะที่อากาศร้อนอบอ้าวจะทำให้แอลกอฮอล์ถูกดูดซึมผ่านเข้าสู่กระแสโลหิตได้เร็ว และจะเพิ่มแรงดันโลหิตให้สูงขึ้นกว่าช่วงที่มีอากาศหนาวเย็นหรือในช่วงที่มีอากาศปกติ โดยฤทธิ์ของแอลกอฮอล์จะทำให้หลอดเลือดฝอยใต้ผิวหนังขยายตัว ทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่ผ่านทางเหงื่อและทางปัสสาวะได้ง่ายขึ้นไปอีก ส่งผลให้ร่างกายขาดน้ำรุนแรงซึ่งอาจทำให้ช็อกหมดสติ และมีโอกาสเสียชีวิตได้ แม้แต่คนที่ไม่มีโรคประจำตัว ฤทธิ์แอลกอฮอล์ก็ส่งผลกับอวัยวะภายใน ทั้งตับ ไต หัวใจ โดยเฉพาะระบบประสาท สมอง ประกอบกับภาวะอากาศที่ร้อนและแล้ง จะมีผลให้ประชาชนเกิดความเครียด อารมณ์หงุดหงิดได้ง่ายขึ้น” นพ.โสภณ กล่าว
นพ.โสภณ บอกอีกว่า ดังนั้น ในกลุ่มผู้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จึงอยู่ใน 6 กลุ่มเสี่ยงที่ต้องระวังช่วยภัยร้อน ซึ่งประกอบด้วย 1.ผู้ที่ทำงานหรือทำกิจกรรมกลางแดด เช่น ออกกำลังกาย กรรมกร ก่อสร้าง เกษตรกร 2.เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีและผู้สูงอายุ 3.ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคความดันโลหิตสูง 4.คนอ้วน 5.ผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพอ และ 6.ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยกลุ่มเหล่านี้ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงก่อโรคที่อันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ คือ โรคลมแดด หรือ ฮีทสโตรก (Heat Stroke) นั่นเอง โดยข้อมูลจากสำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค ระบุในระยะเวลา 10 ปี ตั้งแต่ปี 2446-2556 มีผู้เสียชีวิตจากโรคลมแดดรวม 196 ราย เฉพาะช่วงเดือนมีนาคม- เมษายน 2556 มีผู้เสียชีวิตจากลมแดด 20 ราย ส่วนใหญ่เป็นเพศชายอายุมากกว่า 60 ปี รองลงมาผู้มีอาชีพรับจ้าง ผู้มีโรคประจำตัวและดื่มสุรา โดยเสียชีวิตในบ้านมากที่สุด รองลงมาที่ทำงานและในรถยนต์ ส่วน ปี 2556-2558 มีรายงานผู้เสียชีวิต 25, 28 และ 41 รายตามลำดับ
นพ.อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวถึง อาการของผู้ที่เป็นลมแดดว่า ส่วนใหญ่จะอ่อนเพลีย คลื่นไส้อาเจียน ไม่มีเหงื่อออก รู้สึกกระหายน้ำมาก ตัวร้อนขึ้นเรื่อยๆ จนทำให้ความร้อนในร่างกายสูงกว่า 40 องศาเซลเซียล ปวดศีรษะ ความดันโลหิตต่ำ หัวใจเต้นเร็ว หายใจเร็ว เพ้อ ชัก มึนงง หน้ามืด หากไม่ได้รับการดูแลอย่างทันท่วงทีอาจทำให้หมดสติและเสียชีวิตได้ หากพบผู้มีอาการโรคลมแดด ขอให้รีบนำเข้าที่ร่ม อากาศถ่ายเทสะดวก ให้นอนราบยกเท้าทั้งสองข้างขึ้นสูงเพื่อเพิ่มการไหลเวียน ถอดเสื้อผ้าให้เหลือน้อยชิ้น คลายชุดชั้นใน ใช้ผ้าชุบน้ำเย็น น้ำแข็งประคบตามซอกคอ หน้าผาก รักแร้ ขาหนีบร่วมกับใช้พัดลมเป่า เพื่อระบายความร้อนและลดอุณหภูมิร่างกายให้ต่ำลงอย่างรวดเร็วที่สุด หากไม่หมดสติให้ดื่มน้ำเปล่ามากๆ และนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็ว หรือโทรสายด่วน 1669 ทั้งนี้ จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค พบว่า การเสียชีวิตเนื่องจากอากาศร้อน ในปี 2558 มีจำนวน 56 คน ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง ถึง 46 คน ช่วงอายุ 45-64 ปี และสูงสุด อายุ 79 ปี และจากข้อมูลพบว่า จังหวัดที่มีอุณหภูมิสูงสุด คือ จังหวัด ตาก ประมาณ 40-42 องศาเซลเซียส และเดือนที่มีรายงานสูงสุด คือเดือนเมษายน