ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

http://www.thaihealth.or.th/

 

คนไทยนิยมรับประทาน "ขนมจีน" มาช้านาน เพราะเป็นอาหารที่มีคุณค่าทางโภชนา การ สามารถรับประทานกับเครื่องเคียงต่าง ๆ ได้อย่างเข้ากัน ไม่ว่าจะเป็นผัก ไข่ต้ม และแกงต่าง ๆ ทำให้กลายเป็นอาหารจานโปรดของใครหลายคน

แต่ปัจจุบันบางแหล่งผลิตมีการใส่ "สารกันบูด" ลงไปเพื่อเป็นการถนอมเส้นขนมจีนให้เก็บไว้ได้นาน ซึ่งทราบหรือไม่ว่า...ถ้าได้รับเกินปริมาณที่กำหนดจะเป็นสารพิษที่ทำลายสุขภาพให้เจ็บป่วยได้...!!

วันนี้มีคำแนะนำการเลือกรับประทานขนมจีนให้เอร็ดอร่อยปลอด ภัยจากสารกันบูดมาฝากกัน

มลฤดี โพธิ์อินทร์ นักวิชา การด้านวิทยาศาสตร์ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ให้ความรู้ว่าจากการสุ่มตรวจขนมจีนเพื่อหาสารกันบูดตกค้าง 12 ยี่ห้อ ตามแหล่งซื้อขายต่างๆ พบว่า มีการใส่สารกันบูดไม่เกินมาตรฐาน 10 ยี่ห้อ คิดเป็นร้อยละ 83.33 และเกินมาตรฐาน 2 ยี่ห้อ โดยมีสารกันบูดมากถึง 1,121.37 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม และ 1,115.32 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 281 พ.ศ. 2547 กำหนดไว้ว่า อาหารจำพวกพาสตา ก๋วยเตี๋ยว และผลิตภัณฑ์ทำนองเดียวกัน ซึ่งก็รวมถึง "ขนมจีน" ต้องมีค่ามาตรฐานของสารกันบูดหรือ "กรดเบนโซอิก" ไม่เกิน 1,000 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม

สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ ในแต่ละวันร่างกายไม่ควรได้รับปริมาณสารกันบูดหรือวัตถุกันเสียเกินกว่า 5 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ยกตัวอย่างเช่น หากมีน้ำหนักตัวอยู่ที่ 45 กิโลกรัม ไม่ควรได้รับสารกันบูดเกิน 45x5 = 225 มิลลิกรัมต่อวัน ทั้งนี้ การได้รับสารกันบูดอาจมิใช่เพียงจากขนมจีนอย่างเดียว อาหารอื่น ๆ รอบตัว ก็อาจมีการใส่สารกันบูดหรือวัตถุกันเสียด้วย ซึ่งเราไม่สามารถทราบได้เลยว่ามีการใส่มากน้อยแค่ไหน

การได้รับสารกันบูดมากเกินไปย่อมเกิดอันตราย คือ 1. พิษเฉียบพลัน เมื่อได้รับปริมาณสูง เกิดอาการคลื่นไส้ หายใจไม่ออก และหมดสติ, 2. พิษกึ่งเรื้อรังและพิษเรื้อรัง เกิดจากการบริโภคอาหารที่มีสารกันบูด แม้ไม่ต่อเนื่อง แต่ได้รับเป็นระยะ ๆ เป็นเวลานาน อาจก่อให้เกิดมะเร็งลำไส้ นอกจากนี้ยังทำให้ประสิทธิ ภาพการทำงานของตับและไตลดลง ซึ่งก็อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้

ทั้งนี้ สารกันบูดสามารถถูกทำลายได้ด้วยความร้อน อย่างเส้นก๋วยเตี๋ยวมีการลวกก่อนรับประทานจึงลดปริมาณสารกันบูดไปได้บ้าง แต่ขนมจีนเรามักนำมารับประทานเลย ทำให้มีความเสี่ยงมากกว่า ดังนั้น จึงมีการแนะนำผู้บริโภคว่าการเลือกซื้อขนมจีน ถึงแม้ว่าสารกันบูดจะมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น เพราะไม่มีสี ไม่มีกลิ่น แต่สามารถดูจากฉลากที่ระบุว่ามีการขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) หรือไม่ ระบุส่วนประกอบว่าใช้สารกันบูดจำนวนเท่าใด มีวันเดือนปีที่ผลิตและวันหมดอายุหรือไม่ หากไม่มี ก็ไม่ควรเสี่ยงซื้อมารับประทาน หรือเลือกซื้อขนมจีนแบบเส้นสดที่ผลิตสำหรับรับประทานแบบวันต่อวัน เนื่องจากไม่ได้ใส่สารกันบูด

หากใครอยากรับประทานขนมจีนเส้นหมัก เพราะมีความเหนียวนุ่มอร่อยกว่ามีวิธีสังเกตคือ หากแหล่งซื้อนั้นไม่มีฉลากระบุ และเส้นขนมจีนมีสีขุ่นออกสีเหลือง มีไอน้ำขึ้น พลาสติกที่หุ้มหลวม อาจเป็นขนมจีนที่ทิ้งไว้นานหลายวันแล้ว ไม่ควรซื้อมารับประทาน หรืออีกวิธีหนึ่ง เมื่อซื้อมาแล้ว ทดลองเก็บไว้ในอากาศปกติว่าสามารถเก็บไว้ได้นานกี่วัน ซึ่งสารกันบูดในปริมาณปกติจะสามารถอยู่ได้นาน 1-2 วัน แต่หากอยู่ได้นานกว่านี้แล้วยังไม่บูด พึงระวังไว้เลยว่า "ใส่สารกันบูดมาก" เกินปริมาณที่กำหนด

ไม่ควรซื้อมารับประทานอีก!! ทราบแบบนี้แล้ว ใครที่ชื่นชอบ "ขนมจีน" ก็คงจะสามารถเลือกซื้อมาทานได้อย่างปลอดภัย แต่ก็อย่าลืมว่า ควรเลือกทานอาหารที่หลากหลาย โดยเฉพาะอาหารที่ปรุงสุกใหม่ "ลดปัจจัยเสี่ยงจากการสะสมของสารพิษตกค้าง" จากสารกันบูด