กรมสุขภาพจิตเผย ดาวน์ซินโดรมยังขาดโอกาสเข้ารับบริการทางการแพทย์และการศึกษา พ่อแม่รวมตัวสร้างความเข้มแข็งพึ่งพาตนเอง พร้อมแนะหลัก 3 H เลี้ยงเด็กกลุ่มอาการดาวน์

 

นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า วันที่ 21 มี.ค.ของทุกปี เป็นวันดาวน์ซินโดรมโลก เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจถึงศักยภาพและความสำเร็จของบุคคลที่มีภาวะดาวน์ซินโดรมทั่วโลก โดยในประเทศไทย พบการเกิดภาวะนี้ได้ 1 ใน 800 -1000 ประชากร จากฐานข้อมูลประชากรไทย ปี 2558 มีประชากรที่เป็นดาวน์ซินโดรมอยู่จำนวน 70,000-80,000 คน กลุ่มอาการดาวน์หรือดาวน์ซินโดรม เป็นภาวะที่เกิดจากการที่มียีนหรือสารพันธุกรรม บนโครโมโซมคู่ที่ 21 เกินเป็นสามแท่ง ซึ่งเป็นที่มาของวันที่ 21 เดือน 3 วันดาวน์ซินโดรมโลก

ทั้งนี้ ปัญหาจากโครโมโซมส่งผลต่อพัฒนาการของเด็กตั้งแต่เป็นทารกในครรภ์มารดา เด็กกลุ่มอาการดาวน์มักจะมีรูปร่างหน้าตาที่คล้ายกันในลักษณะเฉพาะตัว โดยความเชื่อเดิมๆ ในอดีตที่ติดอยู่กับปัญหาสุขภา พและพัฒนาการที่ล่าช้าของเด็กกลุ่มนี้มักสร้างตราบาป หรือข้อจำกัดต่อโอกาสในสังคม และสร้างปัญหาในการปรับตัวต่อพ่อแม่ผู้ปกครองอย่างมาก แต่วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่พัฒนาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับความเข้าใจในมุมมองทางจิตใจและสังคม ณ ปัจจุบันทำให้มีการเปลี่ยนแปลงที่มีความหมายต่อการสร้างโอกาสการพัฒนา ทำให้ผู้มีอาการดาวน์สามารถใช้ชีวิตในครอบครัวและสังคมอย่างมีความสุข เป็นสมาชิกที่มีเกียรติและมีคุณค่าในสังคมได้ดังตัวอย่างที่เราพบเห็นได้จากเด็กๆ และสมาชิกหลายท่านในงานวันนี้ เด็กๆของเราสามารถไปโรงเรียนและเรียนรู้ได้ ทำงานได้ พึ่งพิงตนเองได้ และบางคนค้นพบความสามารถที่โดดเด่นได้ เช่น การร้องเพลง การเล่นดนตรี การเป็นวาทยากร การเต้นรำ การเดินแบบ เป็นดารา การเล่นกีฬาบอชชี่ การทำงานศิลปะ เป็นต้น

กรมสุขภาพจิต ได้ตระหนักถึงความสำคัญและได้ให้การส่งเสริมสุขภาพกายใจและการพัฒนาผู้มีอาการดาวน์ โดยมอบหมายให้สถาบันราชานุกูล พัฒนาความพร้อมที่จะเดินหน้าผลักดันการป้องกัน ส่งเสริม และฟื้นฟูดูแลผู้มีอาการดาวน์ แบบครบวงจร จัดบริการและพัฒนาเป็นคลินิกพิเศษเฉพาะด้านและครอบคลุมตั้งแต่แรกคลอด ถึง 18 ปี โดยกุมารแพทย์ จิตแพทย์และทีมนักวิชาการทุกสาขาที่มีความเชี่ยวชาญด้านพัฒนาการ ให้คำปรึกษาเรื่องสุขภาพ การป้องกันโรคแทรกซ้อน พร้อมทั้งการดูแลด้านอารมณ์และการเรียนรู้

ซึ่งการเลี้ยงเด็กกลุ่มอาการดาวน์นั้น มีหลักการสามข้อที่ขอเน้นย้ำ คือ การใช้หลัก 3 H ได้แก่ การดูแลสุขภาพ (Health) การมีความหวัง (Hope) และการดูแลด้วยหัวใจของเรา (Heart) ตลอดจนการส่งเสริมพ่อแม่และสมาชิกในครอบครัว และความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งโรงเรียน สถานประกอบการ เครือข่ายในชุมชน ช่วยกันพัฒนาเด็กให้มีคุณภาพทั้งด้านร่างกายและจิตใจตั้งแต่แรกเริ่มสู่การเติบโตอย่างมีคุณภาพ ทั้งนี้ ขอเป็นกำลังใจให้พ่อแม่ทุกท่านว่าอย่าท้อหรือถอดใจ เพราะเด็กดาวน์สามารถพัฒนาได้ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว

แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ ผอ.สถาบันราชานุกูล เผยว่า ปัจจุบันยังมีประชากรกลุ่มอาการดาวน์ อีกจำนวนมาก ที่ขาดโอกาสในการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ เห็นได้จากอัตราการเข้าถึงบริการของผู้บกพร่องทางสติปัญญา ปี 2556 เพียงร้อยละ 8.4 แสดงให้เห็นว่าการส่งเสริมสุขภาพและกระตุ้นพัฒนาการในเด็กกลุ่มนี้ยังขาดความครอบคลุม นอกจากนี้ ยังขาดโอกาสเข้ารับการศึกษาในโรงเรียนการศึกษาพิเศษหรือโรงเรียนร่วม โดยพบว่า นักเรียนบกพร่องทางสติปัญญาที่อยู่ในโรงเรียนการศึกษาพิเศษและเรียนร่วม ปี 2557 มีเพียงจำนวน 26,250 คน (แหล่งที่มา : สถิติการศึกษาประเทศไทย ปี 2555-2556 กระทรวงศึกษาธิการ) การพัฒนาศักยภาพของเด็กกลุ่มอาการดาวน์เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอิสระได้ต้องอาศัยความร่วมมือกันของทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว ชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เด็กได้รับโอกาสทางการศึกษา และมีโอกาสเรียนรู้ด้านต่างๆตามความชอบและความถนัดโดยไม่กีดกั้น ด้วยความเข้าใจ และยอมรับเพื่อให้เติบโตเป็นสมาชิกที่มีคุณค่าคนหนึ่งของสังคม ได้รับการยอมรับและอยู่ร่วมกับคนอื่นในสังคมได้

การใช้แนวทางการเลี้ยงดูเด็กกลุ่มอาการดาวน์ด้วยหลัก 3H จึงเป็นสิ่งที่เราต้องสนับสนุน และส่งเสริมให้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในการเลี้ยงดู เช่น ด้าน Health:เด็กๆกลุ่มนี้มีโอกาสเกิดโรคของอวัยวะต่างๆ นับตั้งแต่ปัญหาสายตา ปัญหาการได้ยิน ซึ่งรบกวนการเรียนรู้และจำเป็นต้องตรวจประเมินตั้งแต่วัยทารกและติดตามต่อเนื่องทุกปี ปัญหาโรคหัวใจโดยกำเนิด พบได้ถึง 40 เปอร์เซ็นต์ จึงต้องตรวจอย่างละเอียดตั้งแต่เป็นทารก ส่วนปัญหาไทรอยด์ซึ่งพบร่วมได้อีกประมาณมากกว่าหนึ่งในสี่ จึงต้องมีการตรวจทุกๆปี

นอกจากนี้ ด้านร่างกายและวิถีชีวิต เด็กกลุ่มนี้จะเกิดโรคอ้วนและปัญหาแทรกซ้อน เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ฯลฯ ได้ง่าย จำเป็นต้องตรวจสุขภาพและมีการส่งเสริมสุขภาพสม่ำเสมอ เพื่อความแข็งแรงและพัฒนาได้เต็มที่ Hope: เด็กกลุ่มนี้เมื่อมีสุขภาพที่ดีและมีการส่งเสริมโอกาสการเรียนรู้ต่อเนื่องตั้งแต่อายุน้อยๆ จะสามารถพัฒนาตนเองได้อย่างต่อเนื่อง แม้จะด้วยอัตราที่แตกต่างจากเด็กทั่วไปบ้าง ดังนั้น การไม่ปิดกั้นการเรียนรู้ แต่มีการให้โอกาส ให้การแนะนำ ให้การสนับสนุนและให้เวลาแก่เด็ก จะช่วยให้เด็กกลุ่มนี้ "ทำได้" ทั้งในเรื่องการเรียนรู้ ไปโรงเรียน ดูแลตนเอง ช่วยเหลือครอบครัว ประกอบอาชีพและมีชีวิตที่เป็นอิสระและเป็นส่วนหนึ่งที่อยู่ร่วมในสังคมได้อย่างภาคภูมิและ Heart: การดูแลเด็กที่แตกต่างอาจเป็นความเหนื่อยยากของพ่อแม่และครอบครัว โดยเฉพาะในช่วงแรกๆ อย่างไรก็ตาม พ่อแม่ที่สามารถให้ความรัก ให้ความใกล้ชิด เข้าใจและยอมรับเด็กด้วยหัวใจ จะสามารถผ่านพ้นช่วงเวลายากๆไปได้ โดยปัจจุบันนี้ เด็กๆและครอบครัวมีโอกาสในการได้รับสิทธิทางการแพทย์ การศึกษา การประกอบอาชีพและการใช้ชีวิตในสังคมหลายประการ เป็นอีกส่วนที่จะเอื้อให้พ่อแม่สามารถดูแลลูกด้วยหัวใจได้มากขึ้น เช่น โรงเรียนบางชัน (ปลื้มวิทยานุสรณ์) โรงเรียนพิบูลประชาสรรค์ เป็นตัวอย่างโรงเรียนที่เปิดโอกาสให้แก่เด็กมากผอ.สถาบันราชานุกูล กล่าว

ด้าน นายสุชาติ โอวาทวรรณสกุล นายกสมาคมเพื่อคนพิการทางสติปัญญาแห่งประเทศไทย ตัวแทนกลุ่มพ่อแม่เข้มแข็งได้กล่าวถึงสิ่งที่พ่อแม่ทุกคนใฝ่ฝัน คือ การได้รับโอกาสทางการศึกษาอย่างเท่าเทียมของลูกที่เป็นเด็กดาวน์ ปัจจุบันตนเองยอมรับว่าที่ผ่านมายังมีโรงเรียนอีกมากที่ปฏิเสธการรับเด็กพิเศษหรือเด็กกลุ่มที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาเข้าเรียนร่วมในชั้นเรียนปกติ อาจสืบเนื่องมาจากหลายปัจจัยซึ่งส่วนตัวไม่คิดโทษครู อาจารย์ หรือผู้บริหารโรงเรียน ซึ่งปัญหาเหล่านี้ตนเองอยากจะวิงวอนทุกฝ่ายช่วยเหลือและให้โอกาส เพราะเด็กดาวน์นั้นสามารถพัฒนาได้เพียงแต่ช้ากว่าเด็กปกติในวัยเดียวกันเท่านั้น การศึกษาในห้องเรียนร่วมนั้นเป็นสิ่งสำคัญ เพราะเด็กจะได้มีโอกาสเรียนรู้ทักษะด้านต่างๆ ร่วมกับเพื่อนที่อยู่ในวัยเดียวกัน ทำให้เกิดพัฒนาการที่ดีและส่งผลต่อโอกาสการช่วยเหลือตนเองในอนาคตของเด็กกลุ่มนี้

 

 

ที่มา : Local Press Release   

http://www.thaihealth.or.th/