เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นธรรมดาของชีวิตที่ทุกคนไม่มีทางหนีพ้น ต่างกันแต่เพียงว่าใครจะมีวิธีรับมือกับความเป็นไปดังกล่าวอย่างไรเท่านั้น 

 

ความแก่ชราหรือการสูงวัยซึ่งเป็นหนึ่งในสภาวะที่เราหลีกไม่ได้นั้น นอกจากจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านร่างกาย ความคิด สติปัญญา ตลอดจนการดำเนินชีวิตและบทบาทในสังคมแล้ว ยังส่งผลกระทบในด้านจิตใจอย่างมากด้วย ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือ การที่ผู้สูงอายุรู้สึกว่าตนเองไม่มีคุณค่า ท้อแท้ สิ้นหวัง ทางออกของปัญหานี้อยู่ที่ลูกหลานต้องคอยดูแลเอาใจใส่ ไม่ทำเหมือนผู้สูงอายุเป็นภาระ ขณะเดียวกันผู้สูงอายุก็ควรต้องรู้จักปรับตัวและเปลี่ยนแปลงความคิด ความรู้สึกของตนเองด้วย สารานุกรมจิตวิทยา เล่ม ๑ อักษร A-B ฉบับราชบัณฑิตยสภา มีคำอธิบายเกี่ยวกับแนวทางการใช้ชีวิตวัยสูงอายุให้มีคุณค่าและมีความสุข สรุปได้ดังนี้

แนวทางแรกคือ การยอมรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตามวุฒิภาวะ ผู้สูงอายุต้องมีการรับรู้เกี่ยวกับตนเองอย่างถูกต้องตามความเป็นจริง และใช้ประสบการณ์ในอดีตทั้งที่ประสบความสำเร็จและความผิดพลาดให้เป็นประโยชน์แก่สังคมและส่วนรวมมากที่สุด แนวทางทางที่ ๒ คือ การมีเจตคติที่ดี  หากผู้สูงอายุรับรู้และยอมรับตนในสภาพที่เป็นจริง ก็จะมีความภูมิใจในตน ซึ่งจะทำให้สุขภาพจิตและบุคลิกภาพดีขึ้น

นอกจากนี้ การยึดหลักธรรมะ รู้จักปฏิบัติตนตามทางสายกลาง ไม่ยึดมั่นถือมั่น จิตใจก็จะมีแต่ความสงบ ทำให้การดำเนินชีวิตในวัยสูงอายุประสบความสำเร็จและมีคุณค่าได้ แนวทางสุดท้ายคือ การใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ หากิจกรรมที่ถนัดทำ ใช้ประสบการณ์และความรู้ที่มีให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ไม่หวงวิชา ถ่ายทอดความรู้ให้แก่คนรุ่นหลัง ขณะเดียวกันก็รู้จักค้นคว้าหาความรู้ใหม่ ๆ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด และหมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ  ผู้สูงอายุไม่ควรปล่อยให้ตนเองมีเวลาว่างมากจนเกินไป ควรพยายามหางานทำเพื่อไม่ให้เกิดความเบื่อหน่าย ผู้สูงอายุที่เกษียณอายุราชการในระยะแรกอาจเกิดความรู้สึกซึมเศร้า รู้สึกไร้ค่า แต่ถ้ามีการเตรียมตัวเตรียมใจรับการเปลี่ยนแปลง โดยหากิจกรรมที่ถนัดและสนใจไว้รองรับ ก็จะช่วยลดความรู้สึกดังกล่าวลงได้

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ โดย อารยา ถิรมงคลจิต

http://www.thaihealth.or.th/