ปัจจุบันทุกวันนี้เราจะได้ยินข่าวอยู่เสมอว่า ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ แต่ก็มิได้อธิบายในรายละเอียดว่า สังคมผู้สูงอายุนั้นความหมายลึกซึ้งเพียงใด

 

เพื่อความเข้าใจผู้เขียนขออ้างอิงถึงคำนิยามขององค์การสหประชาชาติ "ผู้สูงอายุ" คือ ประชากรทั้งเพศชายและหญิงที่มีอายุมากกว่า 60 ปี โดยนับตั้งแต่อายุเกิด ส่วนประเทศไทย "ผู้สูงอายุ" ตามพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 หมายความว่า บุคคลซึ่งมีอายุเกินกว่า 60 ปี บริบูรณ์ขึ้นไป และมีสัญชาติไทย

ส่วนคำว่า "สังคมผู้สูงอายุ" องค์การสหประชาชาติ แบ่งเป็น 3 ระดับ

ระดับที่ 1 การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) คือ การที่มีประชากร (ชายหญิง) อายุ >60 ปี เกินกว่า 10% หรือมีประชากรอายุ >65 ปี เกิน 7% ของประชากรทั้งประเทศ

ระดับที่ 2 สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) คือ การที่มีประชากร (ชายหญิง) อายุ >60 ปี เกินกว่า 20% หรือมีประชากรอายุ >65 ปี เกิน 14% ของประชากรทั้งประเทศ

ระดับที่ 3 (Super Aged Society) คือ การที่มีประชากร (ชาย-หญิง) อายุ >65 ปี เกินกว่า 20% ของประชา กรทั้งประเทศ

จากบทความของ คุณชมพูนุท พรหมภักดิ์ เรื่อง "การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ของประเทศไทย" สอดคล้องกับคำนิยามข้างต้นนั้นและคาดการณ์ล่วงหน้าไว้ว่า ปัจจุบันประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว และจากการพยากรณ์ประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ในเวลาเพียง 20 กว่าปีเท่านั้น ในขณะที่กลุ่มประเทศที่เป็นคลื่นระลอกแรกของสังคมผู้สูงอายุซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ใช้เวลาค่อนข้างมาก เช่น ฝรั่งเศส 115 ปี/ สวีเดน 85 ปี/ออสเตรเลีย 73 ปี/สหรัฐอเมริกา 69 ปี เป็นต้น ทำให้ประเทศเหล่านี้มีเวลาปรับ ตัว ปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคมเพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุเพียงพอ ขณะที่กลุ่มประเทศที่เป็นคลื่นลูกที่สอง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศกำลังพัฒนา ใช้เวลาสั้นกว่ามาก เช่น ชิลี 27 ปี/จีน 26 ปี/ไทย 22 ปี/สิงคโปร์ 19 ปี

ในประเทศไทยสถิติของผู้สูงวัยถ้านับอายุก่อนเกษียณตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป จนถึงวัยเกษียณ 60 ปี และเพิ่มขึ้นไปตามลำดับนั้นจะพบว่า มากกว่า 45% ของผู้สูงวัยเหล่านี้จะเริ่มมีโรคประจำตัวบางอย่าง หรือหลายอย่างหลายประการสะสมขึ้นเรื่อย ๆ ยกตัวอย่างเช่น เบาหวานในผู้สูงอายุ โรคปวดข้อ ข้อเสื่อม เข่าเสื่อม ปวดคอ ปวดหลัง ความดันโลหิตสูง หลอดโลหิตตีบ อาจจะตีบบางส่วนที่หัวใจหรือตีบบางส่วนที่สมอง นอนไม่หลับ นอนกรน โรคของต่อมลูกหมากในเพศชายและมีอีกหลาย ๆ โรคในเพศหญิง โดยเฉพาะเมื่ออายุสูงมากขึ้นโรคมะเร็งก็เริ่มจะเข้าเบียดเบียน ความจำมักจะถดถอย

สรุปรวมความแล้วคงถึงเวลาที่จะให้ความรู้ทางวิชาการสำหรับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 35 หรือ 45 หรือ 55 ปีในปัจจุบัน ควรจะเริ่มเตรียมตัวเข้าสู่วัยผู้สูงอายุและเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุตามคำจำกัดความข้าง ต้นนั้นได้อย่างสง่าผ่าเผยแข็งแรงทั้งร่างกายและ จิตใจ และสมอง ห่างไกลจากโรคความจำเสื่อมและสามารถเป็นผู้สูงวัยที่มีคุณค่าทางปัญญา สามารถหาความรู้เพิ่มเติมและดูแลลูกหลานได้อย่างทันสมัย หลาย ๆ คนยังอาจสามารถจะประกอบอาชีพส่วนตัวได้ หารายได้เพิ่มเติมได้ สามารถค้นคิดสิ่งใหม่ ๆ หรือเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เป็นอาหารสมอง และยังเป็นการหารายได้เพิ่มเติมได้อีกต่างหาก

ข้อแนะนำทางวิชาการสิ่งแรกก็คือ ควรจะต้องเริ่มตรวจเช็กสุขภาพประจำปีอย่างสม่ำเสมอ ทำให้จุดอ่อนหรือปมด้อยต่าง ๆ ของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง เบาหวานระยะเริ่มแรก หรือแม้แต่มะเร็งระยะเริ่มแรก ก็จะต้องรีบรักษา ปรับเปลี่ยนและปรับปรุงให้จุดอ่อนและจุดด้อยต่าง ๆ นั้นกลับเข้ามาสู่สมดุล กลับเข้ามาสู่ความใกล้เคียงปกติให้ได้ ชีวิตจึงจะยืนยาวอย่างทรงคุณค่าและไม่ต้องพึ่งพาใครมากนัก

เรื่องอาหารก็มีความสำคัญมีผู้กล่าวไว้ในทางวิชาการของ กรมพัฒนาแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือกว่า ยามเจ็บป่วยเราต้องเข้าโรงพยาบาลเพื่อทำการรักษา แต่ยามที่ยังไม่เจ็บป่วยก็เข้าโรงพยาบาลได้เพื่อทำจุดอ่อนและจุดด้อยของสุขภาพให้เป็นจุดสมดุลเป็นจุดที่เข้มแข็งดังปกติตามวัย เรื่องที่ผมกล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นศาสตร์แห่งการเรียนรู้ที่เรียกกันว่า "เวชศาสตร์ชะลอวัย" สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้เผยแพร่ความรู้ไปแล้วว่า อาหารไทยหลาย ๆ อย่างประกอบด้วยสมุนไพรไทยที่มีคุณค่าและมีประโยชน์ต่อร่างกายนอกจากจะช่วยชะลอวัยได้แล้ว ยังสามารถมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ เพิ่มภูมิต้านทานต่อร่างกายและหลายอย่างมีฤทธิ์ต้านมะเร็งอีกด้วย เป็นที่ทราบและกล่าวขวัญกันแพร่หลายกันแล้วว่า แกงเหลืองของภาคใต้ แกงส้ม แกงเลียง โดยใช้เครื่องแกงสูตรไทยและภูมิปัญญาไทยเดิมทั้งหลายเหล่านั้นมีฤทธิ์ต้านมะเร็ง นอกจากนั้นพืชผักหลายอย่างที่เราคุ้นเคย เช่น บัวบก มะเขือเทศ น้ำมันมะพร้าว ฟักข้าว ขมิ้นชัน ที่เรารับประทานเป็นอาหาร หรือเป็นน้ำคั้นก็ล้วนเป็นสมุนไพรที่ทรงคุณค่าต่อร่างกาย

ข้อมูลจากแหล่งอ้างอิงหลาย ๆ แหล่ง เช่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้กล่าวถึงคุณประโยชน์ของใบบัวบกไว้มากมาย นอกจากจะมีฤทธิ์ทั่ว ๆ ไปของสมุนไพรในการต้านอนุมูลอิสระ ชะลอความเสื่อมของเซลล์ของอวัยวะต่าง ๆ ทั่วร่างกายแล้ว ยังช่วยบำรุงสมอง ช่วยทำให้ความจำดีขึ้น มีสารที่ช่วยการทำงานของสื่อประสาทที่ช่วยให้ผ่อนคลาย ไม่เครียดง่าย ทำให้หลับพักผ่อนได้ดีขึ้น รวมทั้งมีข้อแนะนำวิธีรับประทานที่ถูกต้องไว้ด้วย ซึ่งผมจะขอไม่กล่าวไว้ ณ ที่นี้

มะเขือเทศที่เรารู้จักกันดีแต่ความนิยมรับประทานมะเขือเทศยังไม่มากนักสำหรับคนไทย เมื่อเทียบกับประชาชนในโลกตะวันตก มะเขือเทศอุดมไปด้วยวิตามินซี วิตามิน บี 1 บี 2 วิตามินเอ ธาตุแคลเซียม ฟอสฟอรัส เหล็ก อย่างอุดมสมบูรณ์ และยังมีสารออกฤทธิ์ประเภทไลโคพีน (Lycopene) แคโรทีนอยด์ เบต้าแคโรทีน และกรดอะมิโน เป็นต้น ซึ่งสารออกฤทธิ์สำคัญทั้ง 4 อย่างดังกล่าวแล้วนั้นมีคุณค่าบำรุงร่างกายมากมายรวมทั้งป้องกันโรคสมองเสื่อม และมีการค้นพบทางวิชาการจากต่างประเทศด้วยว่า หากจะได้รับคุณค่าทางอาหารที่ดีแล้ว ควรจะรับประทานน้ำมะเขือเทศมากกว่ารับประทานผลมะเขือเทศสด ซึ่งในประเทศไทยโครงการหลวงได้ผลิตน้ำผลไม้ที่ขึ้นชื่อและมีรสอร่อยมากก็คือ "น้ำมะเขือเทศดอยคำ" รับประทานวันละ 1 แก้ว ก็จะเป็นอาหารบำรุงร่างกายอย่างดียิ่ง

โดยสรุปผู้ที่กำลังจะเข้าสู่ผู้สูงวัยควรจะรีบปกป้องสุขภาพ ปิดจุดอ่อน เพิ่มจุดแข็ง โดยการตรวจเช็กสุขภาพและทำการรักษาตามหลักวิชาการ อาหารประจำวันควรเร่งศึกษาเข้าสู่อาหารสมุนไพรไทยแบบภูมิปัญญาไทย ซึ่งสามารถนำมาปรุงรสและปรุงแต่งให้มีรสอร่อยตามความต้องการได้ทุกประเภท ทุกประการ ผักบุ้งไทย ผักคะน้าไทย กระเทียม หอมแดง หอมหัวใหญ่ แตงกวา ล้วนจัดได้ว่าเป็นอาหารประเภทสมุนไพรที่หาง่ายและมีคุณประโยชน์ทั้งสิ้น หากสนใจสมุนไพรที่ค่อนข้างหายากแต่ทรงคุณค่าตามภูมิปัญญาไทยยังมีอีกหลายชนิด เช่น ฟักข้าว ขมิ้นชัน ดอกอัญชัน ส้มแขก ใบเมี่ยง ถั่วอินคา เสาวรส เป็นต้น

ทั้งหลายทั้งมวลนี้ เพื่อเป็นการเตรียมตัวให้ประชาชนของประเทศไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างงามสง่า และมีคุณค่าของชีวิตสมบูรณ์แบบ

 

 

ที่มา : เดลินิวส์ โดย นายแพทย์สุรพงศ์ อำพันวงษ์

http://www.thaihealth.or.th/