
ปัญหา “การนอนกัดฟัน” ถือเป็นปัญหาสุขภาพอย่างหนึ่ง ที่ส่งผลเสียต่อร่างกายของคนทุกเพศทุกวัย และจะทำให้สุขภาพฟันเสื่อม มีปัญหาด้านการบดเคี้ยวอาหาร และเกิดโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น โรคภายในช่องปาก โรคเครียด ปวดศีรษะ ปวดหู
อาการดังกล่าว จะเป็นมากเป็นน้อย ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละคน เพราะจะเกิดขึ้นในเวลาที่เรานอนหลับ เป็นเวลาที่เราไม่รู้สึกตัว บางรายมีอาการกัดฟันจนถึงกับฟันโยก เกิดอารมณ์แปรปรวนรุนแรง วิตกกังวล จนไม่กล้านอนหรือนอนไม่หลับ และจะกลายเป็นปัญหาหนัก ด้านสภาพจิตใจตามมา
ก่อนที่พฤติกรรมนอนกัดฟันจะทำร้ายสุขภาพร่างกายไปมากกว่านี้ ...วันนี้เรามาฟังสาเหตุ และวิธีรักษาอาการนอนกัดฟัน ของคุณหมอ ที่นำมาฝากกันค่ะ
รศ.นพ.วิชญ์ บรรณหิรัญ ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา แผนกหู คอ จมูก รพ.ศิริราช อธิบายว่า อาการนอนกัดฟัน เป็นอาการที่เกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัวในขณะที่เรานอนหลับ ซึ่งมีความผิดเกี่ยวกับฟันในด้านการบิดเคี้ยว ระหว่างฟันล่างกับฟังบน หรือปัญหาการทำงานของขากรรไกร สำหรับผู้ที่มีอาการไม่มากจะส่งผลให้คนนอนข้างๆ เกิด “ความรำคาญ” แต่สำหรับผู้ที่มีอาการหนัก จะส่งผลกระทบถึงฟันตัวเองนั้นคือ “ฟันสึก” ประสาทฟันเกิดการเสียวฟัน ปวดขากรรไกร ในเวลาตื่นนอนตอนเช้า จะรู้สึกเจ็บปวด หลับไม่เต็มอิ่ม และมีอาการปวดหัว ซึ่งมีหลายระดับความรุนแรงเกิดขึ้น
เมื่อกัดฟัน จนกระทั่งฟันสึก จะมีอาการเสียวฟัน ปวดฟัน ปวดขากรรไกร หรือมีปัญหาการเคี้ยว มีอาการฟันสึก จนถึงเนื้อฟันแท้สีเหลืองเข้ม เกือบจะถึงโพรงประสาทฟันแล้วนั้น แสดงว่าได้เข้าสู่อาการที่ค่อนข้างรุนแรง คือ อาการนอนไม่หลับ ตื่นมาปวดศรีษะ โดยมี 2 สาเหตุหลัก ได้แก่“
1.สภาพฟัน การตกฟันที่ไม่ปกติ ฟันที่มีจุดสูงกว่าการบิดเคี้ยว ฟันซ้อนเก ทำให้เวลากัดไม่พอดี หรือไม่เรียบ“
2.สภาพจิตใจ ความเครียด ความกังวลไม่ว่าจะเป็นการทำงาน การเรียน หรือการใช้ชีวิตประจำวัน จะส่งผลให้กัดฟันโดยไม่รู้ตัวในเวลานอนหลับ ซึ่งอาการนอนกัดฟันจะเกิดได้ตั้งแต่เริ่มมีฟัน จะพบมากที่สุดในช่วงวัยรุ่นถึงวัยทำงาน
รศ.นพ.วิชญ์ อธิบายเพิ่มเติมว่า การรักษาอาการนอนกัดฟัน ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ และการรักษานั้นจะต้องรักษาเป็นกรณีของบุคคลไป โดยเบื้องต้นการรักษา จะต้องรักษาสาเหตุและแก้ไขอาการนอนกัดฟัน ส่วนใหญ่ทันตแพทย์ อาจจะแนะนำให้ใส่เฝือกฟัน ใส่ฟันบน หรือฟันล่างก็ได้ เฉพาะในเวลานอนกลางคืนเท่านั้น การรักษาความเครียดหรือความกังวลทำจิตใจให้สบาย อาจจะเป็นการนั่งสมาธิ เล่นกีฬา ต่างๆ การบรรเทาด้วยรับประทานยาหรือฉีดยา เพื่อลดการทำงานหรือให้กล้ามเนื้อคล้ายตัว การรับประทานอาหารที่อ่อนเพื่อลดอาการปวด และการฉีดโบท็อก จะไปช่วยทำให้ลดการทำงานช่วงระยะหนึ่ง แต่ยังสามารถเคี้ยวอาหารได้ตามปกติ
ถึงแม้ว่าพฤติกรรมการนอนกัดฟัน จะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่เราสามารถป้องกันได้ โดยเริ่มจากการใส่ใจตัวเองอยู่เสมอ หมั่นดูแลสุขภาพช่องปาก หมั่นทำสมาธิ ลดความตึงเครียด ความวิตกกังวล
แล้วอย่าลืมทำสุขภาพกายและใจให้มีความสุข เพื่อการพักผ่อนที่แสนสุขสบายอย่างแท้จริง
ที่มา : www.dailynews.co.th โดย สายฝน พนาไพศาลกุล“
http://www.thaihealth.or.th/