ตกขาวเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่สร้างความวิตกกังวลให้กับผู้หญิงจำนวนมาก ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แม้การเข้าถึงข้อมูลต่างๆ จะง่ายขึ้น แต่หลายคนก็ยังขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องนี้ ตกขาวเกิดขึ้นได้อย่างไร เป็นสัญญาณบอกโรคร้ายแรงอะไรหรือไม่ แล้วจะต้องแก้ไขอย่างไร ได้รับเกียรติจาก ศ.นพ.นิมิต เตชไกรชนะ หัวหน้าหน่วยวิจัยสตรีวัยหมดระดู ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาเป็นผู้ตอบคำถามในประเด็นเหล่านี้ พร้อมด้วยข้อคิดดีๆ ที่ผู้อ่านทุกท่านสามารถนำไปใช้ประกอบการตัดสินใจได้ เมื่อถึงคราวจำเป็น

 

 

Q : ผู้หญิงที่มีตกขาวแสดงว่า มีความผิดปกติเกิดขึ้นใช่หรือไม่

 

A : อันดับแรกต้องเข้าใจก่อนว่าผู้หญิงในวัยเจริญพันธุ์ หรือวัยมีประจำเดือน รังไข่ยังผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนตามปกติ ทำให้ผู้หญิงดูมีน้ำมีนวล ผิวพรรณเต่งตึงไม่เหี่ยวย่น นอกจากนี้ฮอร์โมนเอสโตรเจนยังช่วยให้เซลล์ในเยื่อบุช่องคลอดหนาตัวขึ้น มีเลือดไปหล่อเลี้ยงมากขึ้น ช่องคลอดจึงมีความชุ่มชื้นไม่แห้งผาก ซึ่งในเลือดที่มาหล่อเลี้ยงไม่ได้มีเพียงเม็ดเลือดแดงเท่านั้น แต่ยังมีเม็ดเลือดขาวที่ทำหน้าที่เหมือนทหารค่อยป้องกันร่างกายจากเชื้อโรคต่างๆ อยู่ด้วย ช่วยลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อในช่องคลอดได้มาก ต่างกับผู้หญิงในวัยหมดประจำเดือน ที่รังไข่หยุดการผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนแล้ว เยื่อบุช่องคลอดจึงบางลงและแห้งผาก เลือดมาหล่อเลี้ยงน้อยลง ทำให้ติดเชื้อได้ง่าย สำหรับผู้หญิงวัยมีประจำเดือน ประจำเดือนก็จะมาเป็นรอบๆ โดยฮอร์โมนเอสโตรเจนจะเพิ่มขึ้นสูงสุดในช่วงกลางๆ รอบเดือน มีการตกไข่ ถ้าไข่ไม่ได้รับการผสม ไม่เกิดการตั้งครรภ์ ผนังเยื่อบุมดลูกก็จะหลุดลอกออกมาเป็นประจำเดือน เป็นวงจรหมุนเวียนเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ส่วนใหญ่ตกขาวที่ปกติจะเกิดขึ้นใน 2 ช่วง คือ ช่วงฮอร์โมนขึ้นสูงสุด ได้แก่ ช่วงกลางรอบเดือน ผู้หญิงจะรู้สึกเปียกชื้น บางคนจะมีความรู้สึกทางเพศในช่วงนี้ ตกขาวจะมีลักษณะเป็นมูกใสๆ คล้ายน้ำมูก อีกช่วงหนึ่งคือ ช่วงก่อนประจำเดือนมา หากจะอธิบายให้เห็นภาพประจำเดือนก็เปรียบเสมือนน้ำในเขื่อนที่ก่อนจะแตกต้องมีการรั่วซึมออกมาก่อน ส่วนที่รั่วซึมออกมาก่อนก็คือตกขาวนั่นเอง ถือเป็นเรื่องปกติ นอกจากนี้ในหญิงตั้งครรภ์ช่วง 3 เดือนแรกจะมีตกขาวลักษณะคล้ายแป้งเปียกออกมาเป็นจำนวนมาก เพราะเป็นช่วงที่ร่างกายเริ่มสร้างรก  ฮอร์โมนเพศหญิงจึงพุ่งสูงขึ้นเพื่อเตรียมผนังเยื่อบุมดลูกให้หนาพอสำหรับตัวอ่อนจะเข้าไปฝังตัว ดังนั้นเรามักจะได้ยินผู้หญิงที่เริ่มตั้งครรภ์ในช่วงเดือนแรกๆ บ่นว่าตกขาวเยอะ แต่เมื่อมาตรวจแล้วก็ไม่ปรากฏว่ามีอะไรผิดปกติ ในวัยเจริญพันธุ์ตกขาวกลุ่มที่กล่าวมาถือว่าเป็นตกขาวตามธรรมชาติ ไม่ผิดปกติ อีกกลุ่มหนึ่งคือตกขาวที่ผิดปกติแบ่งได้เป็น 2 สาเหตุหลักๆ คือ ตกขาวที่มีสาเหตุจากการติดเชื้อ และ ตกขาวที่ไม่ได้มีสาเหตุจากการติดเชื้อ

 

• ตกขาวที่มีสาเหตุจากการติดเชื้อ มีอยู่ 4 ชนิด ได้แก่ เชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา เชื้อพยาธิ และเชื้อไวรัส สามารถวินิจฉัยได้ง่าย เพียงนำเชื้อไปส่องตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์ก็จะทราบได้ว่า ตกขาวที่เกิดขึ้นมาจากการติดเชื้อชนิดใด แล้วให้ยารักษาให้ตรงกับเชื้อ อาการตกขาวก็จะดีขึ้นและหายเป็นปกติ การติดเชื้อพยาธิและเชื้อไวรัสในช่องคลอด ส่วนใหญ่ติดต่อจากการมีเพศสัมพันธ์

 

 

• ตกขาวที่ไม่ได้มีสาเหตุจากการติดเชื้อ วินิจฉัยได้ยากกว่าตกขาวที่เกิดจากการติดเชื้อ เพราะเกิดได้จากหลายสาเหตุ อาจจะเป็นเนื้องอก มะเร็งปากมดลก หรือมีสิ่งแปลกปลอมอยู่ในช่องคลอด เช่น มีถุงยางอนามัยตกค้างอยู่ในช่องคลอดโดยไม่รู้ตัว ระหว่างมีเพศสัมพันธ์ เป็นต้น

 

 

Q : ลักษณะของตกขาวที่มีความผิดปกติเป็นอย่างไร

 

A : มีผู้หญิงจำนวนหนึ่งที่มาพบแพทย์ เพราะสังเกตเห็นว่าตกขาวมีสีเหลืองสีเขียวติดกางเกงชั้นใน อันที่จริงเมื่อตกขาวหลุดออกมาติดกางเกงชั้นในและสัมผัสกับออกซิเจนในอากาศ จะเกิดการออกซิไดซ์กลายเป็นสีเหลืองสีเขียวในกรณีนี้ไม่ได้มีความผิดปกติใดๆ เกิดขึ้น ถ้าเป็นตกขาวที่บ่งบอกถึงโรค สีของตกขาวจะเป็นสีเหลืองสีเขียวตั้งแต่ในช่องคลอด รวมทั้งมีอาการแสบ คัน รู้สึกผ่าวๆ ข้างในช่องคลอด ซึ่งควรมาพบแพทย์

 

 

Q : ตกขาวในหญิงวัยหมดประจำเดือน ถือว่าผิดปกติหรือเปล่า

 

A : ผู้หญิงเมื่อเข้าสู่วัยทองไม่ควรจะมีตกขาวแล้ว เพราะไม่มีฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ช่วยสร้างความชุ่มชื้นให้กับช่องคลอด ดังนั้น ตกขาวที่เกิดขึ้นไม่น่าจะเกิดจากภาวะธรรมชาติ แต่น่าจะมีปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่งมากกว่า ขึ้นอยู่กับว่าจะเป็นปัญหาจากการติดเชื้อหรือไม่ติดเชื้อ ในกรณีที่มีสาเหตุจากการติดเชื้อเป็นไปได้ว่า ผนังช่องคลอดในหญิงวัยทองจะบางลง จึงติดเชื้อได้ง่าย แต่ถ้าสาเหตุไม่ได้มาจากการติดเชื้อ ส่วนใหญ่มักเป็นโรคที่สร้างกันขึ้นมาเอง เช่น รับประทานสมุนไพรตามที่มีคนแนะนำ ซึ่งมักมีส่วนผสมของฮอร์โมนทดแทน ทำให้ช่องคลอดกลับมาชุ่มชื้น จึงมีตกขาวเกิดขึ้น เพราะฉะนั้นถ้าหญิงวัยทองมาพบแพทย์ด้วยอาการตกขาว คำถามแรก คือ รับประทานยาอะไรมาบ้าง รับประทานสมุนไพรหรืออาหารเสริมอะไรบ้างหรือไม่ แต่ถ้าไม่ใช่การติดเชื้อและไม่ใช่โรคทำเอง ต้องได้รับการตรวจวินิจฉัย เนื่องจากอายุที่มากขึ้นจะสัมพันธ์กับโรคมะเร็ง และโรคมะเร็งในระยะเริ่มต้นจะทำให้เกิดตกขาวได้มาก

 

 

Q : ในกรณีที่เป็นตกขาว การไปซื้อยาเหน็บมารักษาเอง สามารถทำได้หรือไม่

 

A : อันที่จริงต้องขึ้นอยู่กับสาเหตุของการเกิดตกขาวว่ามาจากอะไร ยกตัวอย่างเช่น เป็นตกขาวจากเชื้อราบ่อยๆ และเคยไปรับการตรวจพบว่าเป็นเชื้อรา แล้วเป็นซ้ำๆ ก็สามารถหาซื้อยามารักษาเองได้ แต่ถ้าเป็นครั้งแรกยังไม่รู้สาเหตุ แนะนำให้มาพบแพทย์เพื่อรับการตรวจหาสาเหตุที่แน่ชัดจะดีกว่า ส่วนใหญ่ตกขาวที่เกิดจากการติดเชื้อมักมีสาเหตุจากเชื้อรา เพราะเป็นเชื้อที่มีอยู่ในช่องคลอดอยู่แล้ว ในสภาวะปกติช่องคลอดจะมีแบคทีเรียแลคโตบาซิลัส ทำหน้าที่ย่อยสลายแป้งในเซลล์ช่องคลอดให้กลายเป็นกรด กรดชนิดนี้จะช่วยควบคุมไม่ให้เชื้อราเพิ่มจำนวน การรับประทานยาปฏิชีวนะจะทำให้แลคโตบาซิลัสถูกทำลาย เชื้อราในช่องคลอดจึงเพิ่มจำนวนมากขึ้น เกิดการติดเชื้อตามมา เมื่อหยุดยาปฏิชีวนะ ช่องคลอดกลับสู่สภาวะปกติ แลคโตบาซิลัสจะเกิดขึ้นใหม่ได้เอง ระบบนิเวศภายในช่องคลอดก็จะกลับคืนสู่สมดุลอีกครั้ง

 

 

Q : ควรใช้น้ำยาล้างทำความสะอาดจุดซ่อนเร้นหรือไม่

 

A : หากต้องการล้างทำความสะอาดจุดซ่อนเร้น ขอแนะนำว่า “น้ำเปล่าดีที่สุด” เพราะช่องคลอดจะมีระบบนิเวศวิทยาของตัวเองอยู่แล้ว การที่เรานำอะไรเข้าไปล้างทำความสะอาด จะทำให้ระบบนิเวศภายในช่องคลอดเปลี่ยนไป ถึงแม้ว่าบางผลิตภัณฑ์จะอ้างว่าทำเลียนแบบธรรมชาติ แต่ก็ไม่อาจแน่ใจได้ว่าสามารถเลียนแบบธรรมชาติได้ร้อยเปอร์เซ็นต์หรือไม่ สำหรับผู้ที่มีปัญหาเรื่องกลิ่น แนะนำให้มาตรวจกับแพทย์ก่อน เพราะถ้ามีสาเหตุมาจากโรคก็จะได้รับการรักษา แต่ถ้าไม่พบความผิดปกติใด มีเพียงปัญหาเรื่องกลิ่น และตัวผู้ป่วยต้องการใช้เพื่อให้ได้กลิ่นสะอาด สร้างความมั่นใจ หากพิจารณาแล้วว่าปลอดภัย ไม่มีอันตรายใดๆ ก็สามารถใช้ได้ แต่สำหรับคนทั่วไปไม่แนะนำ

 

 

ดังนั้นเมื่อมีตกขาว สิ่งแรกที่แนะนำคือตรวจสอบดูก่อนว่า ตกขาวที่เกิดขึ้นสัมพันธ์กับรอบประจำเดือนหรือไม่ ถ้ามาช่วงกลางรอบเดือนหรือก่อนประจำเดือนมา 2-3 วัน และไม่มีอาการแสบคัน ส่วนใหญ่เป็นตกขาวที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ หญิงตั้งครรภ์อาจมีตกขาวมากขึ้นเป็นภาวะธรรมชาติ ถ้าไม่มีอาการแสบคันก็ไม่ต้องกังวลอะไร แต่ถ้ารู้สึกผิดปกติไม่มั่นใจ ขอให้มาพบแพทย์เพื่อรับการตรวจ กรณีของหญิงตั้งครรภ์ ถ้าจะซื้อยามาใช้เองต้องระวัง เพราะยาต่างๆ อาจส่งผลกระทบต่อทารกในครรภ์ได้โดยเฉพาะในช่วง 3 เดือนแรก วิธีที่ดีที่สุด คือมาพบแพทย์ เพราะทุกวันนี้โรคส่วนใหญ่เกิดจากของที่เรากินเราใช้ ที่ศึกษากันจนรู้ถึงผลกระทบแล้วก็มีส่วนหนึ่ง แต่ส่วนที่ยังไม่รู้ก็มีอีกมาก ประเด็นคือ สิ่งที่เราไม่รู้และคิดว่าปลอดภัยต่างหากที่น่ากลัว จึงต้องระมัดระวังให้ดี

 

 

ศ.นพ.นิมิต เตชไกรชนะ

หัวหน้าหน่วยวิจัยสตรีวัยหมดระดู ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา

คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย