อาการปวดท้องน้อยในระหว่างเริ่มมีประจำเดือน เป็นอาการที่พบได้ในผู้หญิงเกือบทุกคน โดยแต่ละคนจะมีอาการปวดที่มีความรุนแรงแตกต่างกันไป บางคนปวดมากจนกระทบกับการดำเนินชีวิตประจำวัน ต้องหยุดเรียน หรือลางาน ในขณะที่บางคนอาจมีอาการปวดแค่เพียงเล็กน้อย และสามารถบรรเทาอาการปวดได้ด้วยการรับประทานยาเท่านั้น

 

 

อาการปวดประจำเดือนเกิดขึ้นได้อย่างไร

 

อาการปวดประจำเดือนส่วนใหญ่เกิดภายใน 2-3 วันแรกของการมีประจำเดือน เนื่องมาจากร่างกายมีการหลั่งสารชนิดหนึ่ง มีชื่อเรียกว่าโพรสตาแกลนดิน (prostaglandin) สารนี้ทำให้กล้ามเนื้อมดลูกเกิดการหดรัดตัว รวมทั้งทำให้หลอดเลือดแดงที่ทำหน้าที่ลำเลียงเลือดไปยังมดลูกก็มีการหดเกร็งตัวด้วย ส่งผลให้เกิดอาการปวดท้องขึ้น โดยมีอาการปวดที่บริเวณท้องน้อย นอกจากนี้ยังอาจมีอาการอื่นๆ เกิดขึ้นร่วมกับอาการปวดท้องน้อยได้ เช่น ปวดหลัง อ่อนเพลีย คลื่นไส้ เบื่ออาหาร หงุดหงิดง่าย ซึมเศร้า ปวดศีรษะ เป็นต้น

 

 

ปัจจัยอะไรที่ส่งเสริมให้เกิดอาการปวดประจำเดือน

 

อาการปวดประจำเดือนมักเกิดในผู้หญิงที่มีประจำเดือนตั้งแต่อายุน้อยๆ แต่ก็อาจเกิดอาการปวดประจำเดือนกับผู้หญิงเป็นส่วนใหญ่ได้เช่นกัน ปัจจัยที่มีส่วนส่งเสริมให้เกิดอาการ ได้แก่ การสูบบุหรี่ ความอ้วน ภาวะเครียด หรือภาวะซึมเศร้า เป็นต้น ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ เป็นปัจจัยที่สามารถแก้ไขหรือหลีกเลี่ยงได้ เมื่อขจัดปัจจัยได้ อาการปวดประจำเดือนก็ไม่เกิด

 

 

มีวิธีการอย่างไรในการบรรเทาอาการปวดประจำเดือน

 

การบรรเทาอาการปวดประจำเดือนมี 2 วิธีหลักๆ ได้แก่ การใช้ยา และไม่ใช้ยา

 

 

1.บรรเทาด้วยยา

 

• ยาพาราเซตามอล ขนาดยาสำหรับวัยรุ่นและผู้ใหญ่ คือ รับประทานยาขนาดเม็ดละ 500 มิลลิกรัม ครั้งละ 1 เม็ด หากอาการปวดยังไม่บรรเทาสามารถรับประทานซ้ำได้ทุก 4-6 ชั่วโมง

 

 

• ยากลุ่มต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ เช่น เมทฟีนามิค แอซิด ไอบูโพรเฟน นาโพรเซน เป็นต้น ยาในกลุ่มนี้ถือเป็นยาที่แนะนำให้ใช้เป็นชนิดแรก ในการบรรเทาอาการปวดประจำเดือน เนื่องจากหากเปรียบเทียบระหว่างยากลุ่มต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์กับยาพาราเซตามอล พบว่าสามารถลดอาการปวดท้องประจำเดือนได้ดีกว่า อันเนื่องมาจากกลไกในการออกฤทธิ์ของยากลุ่มนี้ ไปยับยั้งการสร้างสารโพรสตาแกลนดิน ที่เป็นสาเหตุหลักในการทำให้เกิดอาการปวดท้องประจำเดือน

 

 

2.บรรเทาโดยไม่ใช้ยา

 

การดูแลตัวเองเบื้องต้น หากมีอาการปวดท้องน้อย ขณะเริ่มมีประจำเดือน เช่น การใช้กระเป๋าน้ำร้อนประคบบริเวณท้องน้อย การนวด การออกกำลังกายไม่ว่าจะเป็นแบบแอโรบิกหรือโยคะ พบว่าสามารถช่วยบรรเทาอาการปวดได้ ในผู้ที่ไม่มีอาการปวดท้องประจำเดือนรุนแรง หรือในผู้ที่รับประทานยาบรรเทาอาการแล้วไม่ดีขึ้น ก็สามารถใช้วิธีการเหล่านี้ ในการช่วยบรรเทาอาการปวดร่วมด้วยก็ได้

 

 

หากรับประทานยาแก้ปวดแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น ควรทำอย่างไร

 

หากรับประทนยาแก้ปวด ซึ่งโดยทั่วไปนิยมเลือกใช้ยากลุ่มต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ แล้วอาการปวดประจำเดือนยังไม่ทุเลา สามารถรับประทานยาพาราเซตามอลเสริมได้ในขนาดที่แนะนำไปข้างต้น ข้อควรระวังสำคัญ คือ อาจทำให้ได้รับอาการไม่พึงประสงค์จากยามากขึ้น นอกจากนี้ควรสังเกตอาการปวดประจำเดือนว่า มีความแตกต่างไปจากเดิมหรือไม่ เช่น อาการปวดอยู่ตลอดจนกระทั่งประจำเดือนหยุด ปวดแต่ละครั้งปวดมาก จนกระทั่งไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ ทั้งที่ได้บรรเทาอาการด้วยตนเองไปแล้ว หากมีอาการเช่นนี้แนะนำให้ไปปรึกษาแพทย์สูตินรีเวชที่โรงพยาบาล เพื่อตรวจสอบดูว่าอาการปวดประจำเดือนนั้น เกิดจากสาเหตุอื่นหรือไม่

 

 

โรคหรือสาเหตุอื่นที่ทำให้ปวดประจำเดือนมีอะไรบ้าง

 

สาเหตุอื่นที่พบได้ อาจเกิดจากการมีเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ มีพังผืดในช่องท้อง หรืออาจเกิดจากการมีเนื้องอกในมดลูกก็เป็นไปได้ โรคที่กล่าวมา อาจทำให้เกิดการปวดประจำเดือนออกมากกว่าปกติได้ หากปล่อยไว้นานโดยไม่ได้ให้แพทย์ตรวจให้แน่ชัด อาจก่อให้เกิดอันตรายได้

 

 

และอาการปวดจากสาเหตุเหล่านี้ อาการจะไม่ทุเลาหากมได้รับการรักษาจากต้นเหตุที่แท้จริง และควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เป็นปัจจัยส่งเสริมอาการปวด เพื่อป้องกันไม่ให้อาการปวดประจำเดือนนั้นเป็นมาก ซึ่งวิธีการทำก็ไม่ได้มีขั้นตอนที่ยุ่งยากแต่อย่างใด เช่น การงดสูบบุหรี่ การพักผ่อนให้เพียงพอ หมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ และควรยิ้มแย้มแจ่มใส ผ่อนคลายความตึงเครียด เป็นต้น

 

 

เราจะเห็นได้ว่าเพียงแค่อาการใกล้ตัว อย่างการปวดประจำเดือน หากไม่หมั่นสังเกตดูแลตัวเองให้ดี อาจทำให้อาการปวดเป็นมากขึ้นได้ การที่จะรอมีอาการแล้วค่อยรับประทานยาอาจจะช่วยได้แค่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากอาการปวดประจำเดือนนั้น มีสาเหตุมาจากพยาธิสภาพของร่างกายที่ผิดแผกไป ก็ควรที่จะไปปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง เพื่อให้ทราบสาเหตุที่แท้จริง

 

 

ภก.ทศพล เลิศวัฒนชัย