ชมรมต้อหินแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ในสัปดาห์ต้อหินโลกที่จะมาถึงระหว่างวันที่ 12-18 มีนาคม 2560 นี้ ทางชมรมต้อหินแห่งประเทศไทย และราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย ได้ตระหนักถึงความสำคัญและภัยของโรคต้อหิน จึงอยากประชาสัมพันธ์ให้ความรู้กับคนไทย ให้เฝ้าระวังโรคต้อหินที่อาจจะเกิดขึ้นกับตัวเอง หรือคนในครอบครัว โดยขอเชิญชวนให้ผู้ที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป เข้ารับการตรวจสุขภาพตาโดยจักษุแพทย์ที่อยู่โรงพยาบาลใกล้บ้าน เพื่อค้นหาภาวะต้อหินอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยที่มีความเสี่ยง

 

 

สำหรับโรคต้อหินนั้น เป็นโรคความเสื่อมของขั้วประสาทตา เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้สูญเสียการมองเห็น และทำให้ตาบอดได้ โดยปัจจุบันมีผู้ป่วยต้อหินทั่วโลกมากกว่า 65 ล้านคน และมีการคาดการณ์ว่า จำนวนผู้ป่วยโรคต้อหินจะเพิ่มถึง 76 ล้านคน ในปี 2020 หรือ พ.ศ.2563 ที่จะมาถึงนี้ โรคต้อหินเป็นโรคที่ส่วนใหญ่ไม่มีอาการ ผู้ป่วยจะมีอาการก็ต่อเมื่อโรคได้ลุกลามถึงระยะรุนแรงแล้ว นอกจากนี้โรคต้อหินยังเป็นโรคที่ไม่สามารถสังเกตได้ด้วยตาเปล่าต้องอาศัยการตรวจตาโดยจักษุแพทย์เท่านั้น 

 

ทั้งนี้อาการของโรคต้อหิน ในระยะเริ่มต้นนั้นจะทำให้ผู้ป่วยสูญเสียลานสายตาทางรอบนอกก่อน ผู้ป่วยจะเสียมุมมองทางด้านข้างหรือขอบของภาพ ซึ่งเป็นเรื่องยากที่จะสังเกตได้ ทำให้ผู้ป่วยโรคต้อหินส่วนใหญ่ไม่มีอาการ จนเมื่อโรคลุกลามจนทำให้สูญเสียการมองเห็นส่วนกลาง ผู้ป่วยจึงจะสังเกตได้ว่า มีอาการผิดปกติ ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดายมาก เนื่องจากหากมีอาการดังกล่าวแปลว่า โรคได้เข้าสู่ระยะรุนแรงแล้ว ผู้ป่วยต้อหินส่วนหนึ่งอาจจะมีอาการปวดตา ปวดศีรษะซีกเดียวกับตาที่ปวด ร่วมกับมีอาการตามัว ตาแดง แพ้แสงขึ้นทันทีทันใด ซึ่งอาการเหล่านี้เป็นจากโรคต้อหินมุมปิดเฉียบพลัน ซึ่งเป็นเพียงชนิดหนึ่งของโรคต้อหินเท่านั้น โดยหากมีอาการดังกล่าวนี้ควรจะต้องพบแพทย์ทันที 

 

 

สำหรับโรคต้อหินสามารถแบ่งได้เป็นชนิดต่างๆตามโครงสร้างของมุมตาหรือตามสาเหตุ คือ 1.แบ่งตามโครงสร้างมุมตา คือ ต้อหินมุมเปิด และต้อหินมุมปิด 2.แบ่งตามสาเหตุ คือ ต้อหินปฐมภูมิ คือความผิดปกติที่เกิดขึ้นเอง และต้อหินทุติยภูมิ คือต้อหินที่มีสาเหตุอื่นๆ นี้ มาก่อน เช่น ต้อกระจก, อุบัติเหตุบริเวณดวงตา, การใช้ยาเสตียรอยด์, เบาหวานขึ้นจอประสาทตา หรือการอักเสบภายในลูกตา เป็นต้น นอกจากนี้ยังสามารถพบโรคต้อหินแต่กำเนิดในเด็กแรกเกิดได้เช่นกัน 

 

อย่างไรก็ตามกลุ่มที่มีความเสี่ยงเป็นโรคต้นหินนั้น พบว่า จะเป็นผู้ที่มีอายุมากกว่า40 ปีขึ้นไป มีความดันลูกตาสูงเกินค่าเฉลี่ยของคนปกติ ซึ่งในคนปกติไม่เกิน 21 มม.ปรอท แต่ก็มีคนไข้ต้อหินจำนวนหนึ่งที่ความดันลูกตาไม่สูงก็เป็นต้อหินได้ รวมถึงกลุ่มที่มีประวัติโรคต้อหินในครอบครัว โดยเฉพาะญาติสายตรงเช่น พ่อ แม่ พี่น้อง และผู้ที่มีสายตาสั้นหรือยาวมากๆ รวมทั้งกลุ่มผู้ที่ใช้ยาลดอักเสบกลุ่มสเตียรอยด์ ทั้งชนิดหยอด กิน พ่นจมูกและฉีด โดยหากพบว่ามีความเสี่ยงดังกล่าวข้างต้น ควรเข้าการตรวจตากับจักษุแพทย์ เพื่อหาโรคต้อหิน และสำหรับผู้ที่ได้รับวินิจฉัยเป็นโรคต้อหินแล้ว จะต้องเข้ารับการรักษา และติดตามอาการต่อเนื่องตลอดชีวิต เนื่องจากโรคต้อหินเป็นแล้วไม่หายขาด การรักษาจะช่วยป้องกันลดโอกาสเกิดภาวะตาบอดถาวรได้ 

 

ขณะที่การรักษาโรคต้อหินในปัจจุบัน มีจุดประสงค์เพื่อควบคุมความดันตาให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ซึ่งมีอยู่ 3 วิธีหลัก คือ 1.การรักษาโดยการใช้ยาลดความดันลูกตา ส่วนใหญ่ใช้ในรูปแบบของยาหยอดตาเป็นหลัก ยากิน หรือยาฉีดจะใช้เป็นบางกรณีและใช้เพียงระยะสั้นๆ 2.การรักษาโดยใช้แสงเลเซอร์ และ 3.การผ่าตัด 

 

“การนวดตาไม่ใช่การรักษาต้อหิน และยังทำให้โรคต้อหินแย่ลง รวมถึงทำให้เกิดผลเสียอื่นๆ ต่อโครงสร้างต่างๆในดวงตาได้ และในปัจจุบันไม่มีวิตามินและอาหารเสริมใดๆ ที่สามารถป้องกันและรักษาโรคต้อหินได้ รวมทั้งการใช้สายตาอ่านหนังสือ การดูจอโทรทัศน์ โทรศัพท์ หรือคอมพิวเตอร์ ไม่ทำให้เกิดโรคต้อหิน”