วัณโรค.. โรคที่เริ่มจากการติดเชื้อจากผู้คนรอบตัวที่ป่วยเป็นวัณโรค การติดเชื้อนั้นเป็นไปอย่างง่ายดายมาก คล้ายกับการติดเชื้อหวัดจากการไอ จาม โดยละอองเสมหะที่ลอยปะปนอยู่บนอากาศหากเราสูดดมเข้าปอดไป
เชื้อร้ายนั้นมันก็จะเข้ามาสิงอยู่ภายในปอด เข้าสู่กระบวนการฟักตัวและเกิดการสะสม จนมันเริ่มยึดพื้นที่ภายในปอดบริเวณที่มีออกซิเจนแน่นหนามากที่สุด ในการอาศัยและเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่องเงียบเชียบ
หากแต่ระยะเวลานานกว่าหลายเดือนหรือปีเลยทีเดียว กว่าเราจะรู้เท่าทันว่าตนเองติดเชื้อวัณโรคเสียแล้ว ก็ตราบเมื่ออาการป่วยของโรคเริ่มแสดงอย่างชัดเจนในวันที่สุขภาพร่างกายมีสภาวะภูม้คุ้มกันโรคที่อ่อนแอลง
แต่ไม่ต้องเป็นกังวลกันไปนะคะ เพราะวัณโรคก็คล้ายกับโรคอื่นๆ ที่หากเราค้นพบกันตั้งแต่เนิ่นๆ หรือหากได้รับการรักษาอย่างเคร่งครัดตามคำแนะนำของแพทย์
โอกาสในการรักษาจนหายขาดย่อมมีสูงเช่นเดียวกัน เอาล่ะ วันนี้เรามาทำความรู้จักวัณโรคกันเพิ่มขึ้นดีกว่า โดยติดตามรายละเอียดชนิดเจาะลึกชัดเจนกันดังนี้ได้เลยค่ะ
วัณโรค(Tuberculosis)
เป็นโรคที่มีสาเหตุมาจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ไมโคแบคทีเรียม ทูเบอร์คูโลซิส (Mycobacterium tuberculosis) หรือเรียกกันโดยย่อว่า TB เป็นโรคที่ชอบอาศัยอยู่ในบริเวณที่มีออกซิเจนอยู่ปริมาณมาก
โดยเฉพาะปอด ซึ่งเชื้อนี้จะส่งผลให้ผู้ป่วยวัณโรคมักมีอาการไอติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน กระทั่งเกิดเป็นแผลขึ้นภายในและหากปวดมากก็ย่อมส่งผลให้เสียชีวิตลงได้
ช่องทางอันนำมาสู่การติดต่อเชื้อวัณโรค
คุณจะสังเกตได้ว่าผู้ป่วยวัณโรคส่วนใหญ่มักจะมีอาการไอ-จามเป็นประจำ และนั่นก็คือ ช่องทางที่ทำให้ผู้คนที่อยู่โดยรอบพลอยได้รับเชื้อไปด้วย นอกเหนือจากการไอและจามแล้ว
แม้แต่การพูดคุยกันก็ยังสามารถแพร่เชื้อวัณโรคไปสู่ผู้อื่นได้ด้วยนะคะ เพราะเชื้อนั้นจะออกมาพร้อมกับน้ำลายและละอองเสมหะ ทั้งยังลอยปะปนอยู่ในอากาศเป็นเวลานานอีกด้วย
ยิ่งหากเป็นสถานที่อับชื้นที่ไม่มีอากาศระบายถ่ายเทดีหรือไม่ค่อยมีแสงสาดส่องมาถึงอย่างเช่น ตลาดสด โรงภาพยนต์ ตามห้างสรรพสินค้า รถประจำทางและเครื่องบิน เป็นต้นหากสูดหายใจรับเอาเชื้อวัณโรคเข้าปอดไปก็ย่อมทำให้โอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้นได้
แต่ในกรณีของผู้ที่มีภูมิคุ้มกันโรคแข็งแรงหรือมีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ก็ย่อมเกิดการต้านเชื้อได้ดีกว่าผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันโรคอ่อนแอ โดยเฉพาะเด็กและคนชรา
นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่เป็นโรคเรื้อรังอย่างโรคไตและเบาหวาน ผู้ที่เป็นโรคเอดส์ เสพยาเสพติดหรือดื่มสุราก็มีความเสี่ยงในการติดเชื้อวัณโรคได้สูงเช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม เชื้อวัณโรคจะไม่สามารถแพร่กระจายบนอากาศได้ หากสถานที่นั้นๆ เต็มไปด้วยแสงแดดหรือหากมันเผชิญกับแสงอุลตร้าไวโอเลตมันก็จะตายลงในที่สุดได้ด้วยเช่นกัน
การติดเชื้อวัณโรคในระยะโรคสงบและระยะที่กำลังป่วยเป็นโรค
1.การติดเชื้อวัณโรคในระยะโรคสงบ
เป็นอาการติดเชื้อในผู้ป่วยที่มีเชื้ออยู่ภายในร่างกาย แต่ไม่มีอาการป่วยใดๆ แสดงความผิดปกติออกมาจึงเรียกว่าเป็นการติดเชื้อในระยะโรคสงบนั่นเอง และหากผู้ป่วยที่มีสภาวะภูมิคุ้มกันโรคแข็งแรง ร่างกายก็ย่อมสามารถควบคุมเชื้อได้
อย่างไรก็ตาม เชื้อแบคทีเรียวัณโรคนั้นก็ยังสามารถคงอยู่ภายในร่างกายคนเราได้ในระยะเวลายาวนานหลายปี โดยไม่ก่อให้เกิดโรคหรือสร้างความผิดปกติใดๆ ให้แก่สุขภาพทั้งสิ้น
แต่ด้านองค์การอนามัยโลกได้กล่าวไว้ว่า ในประมาณร้อยละ 5-10 ของผู้ป่วยที่ติดเชื้อวัณโรคนั้น จะมีการปรากฏตัวของโรคขึ้นมาอย่างชัดเจนในระยะใดระยะหนึ่งของชีวิตอย่างแน่นอน (ยกเว้นกรณีผู้ป่วยที่ติดเชื้อ HIV ร่วมด้วย)
2.การติดเชื้อระยะป่วยเป็นโรค
ผู้ติดเชื้อที่มีร่างกายอ่อนแอหรือภูมิคุ้มกันโรคต่ำย่อมมีความเสี่ยงในการเกิดโรคอย่างชัดเจนในภายหลังได้ เนื่องจากเชื้ออาจจะได้รับการกระตุ้นให้ก่อมาเป็นวัณโรคขึ้น
นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่ติดเชื้อ HIV ไปพร้อมกับติดเชื้อวัณโรคย่อมมีแนวโน้มที่จะป่วยเป็นวัณโรคสูงมากขึ้นด้วย เช่นเดียวกันกับผู้ที่เพิ่งติดเชื้อไปเพียงไม่กี่สัปดาห์ก็ยังมีโอกาสป่วยเป็นวัณโรคได้ในเร็ววันเช่นกัน
อาการของผู้ป่วยวัณโรค
– ผู้ป่วยวัณโรคจะมีอาการอ่อนเพลีย ไร้เรี่ยวแรง
– เบื่ออาหาร น้ำหนักลดลง
– หนาวสั่น ไข้ต่ำ ในตอนกลางคืนมักจะมีเหงื่อออก
– เมื่อเริ่มป่วยในระยะแรกมักจะมีอาการไอแห้ง หลังจากนั้นจะเริ่มไอแบบมีเสมหะ เมื่อเข้านอนก็จะยิ่งมีอาการไอหนักมาก ทั้งช่วงเวลาหลังจากตื่นนอนตอนเช้าและในหลังอาหารด้วย
– อาการไอเรื้อรังจะคงอยู่เป็นเวลานานกว่า 3 สัปดาห์ บางรายที่ไอมากๆ จะมีอาการหอบด้วยหรือไอเป็นเลือดก้อนแดงๆ หรือเลือดสีดำปนออกมาพร้อมกัน
– ในรายที่เป็นเด็กอาการจะรุนแรงหนักกว่าผู้ใหญ่เพราะภูมิคุ้มกันโรคต่ำกว่า
– ผู้ป่วยบางรายที่ยังเป็นน้อยๆ อาจจะไม่มีอาการไอเลย ทว่าจะมีอาการเจ็บแน่นหน้าอกแทนค่ะ
อาการแบบไหนที่ควรรีบไปพบแพทย์!!
ถ้าผู้ป่วยมีอาการไอติดต่อกันนานกว่า 2 สัปดาห์ หรือหากไอพร้อมกับเสมหะปนเลือด ตลอดจนการอาศัยอยู่ใกล้ชิดร่วมกับผู้ป่วยวัณโรคหรือผู้ป่วยโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคไต ผู้ติดเชื้อ HIV ผู้เสพสารเสพติดชนิดฉีดและผู้ต้องขัง เป็นต้น
บุคคลเหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีภูมิคุ้มกันโรคต่ำ หากเราอาศัยอยู่ร่วมกันโอกาสในการติดเชื้อโรคก็ย่อมเป็นไปได้สูง ดังนั้นแล้ว หากพบว่ามีอาการไอแบบมีเสมหะปนเลือดดังกล่าวจึงควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาโดยด่วน
การวินิจฉัยวัณโรค
– แพทย์จะซักประวัติผู้ป่วยเกี่ยวกับอาการเจ็บป่วยตามร่างกาย และการตรวจร่างกายโดยละเอียดเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ของโรคที่แม่นยำยิ่งขึ้น
– แพทย์จะตรวจหาเชื้อโรคจากเสมหะโดยตรวจผ่านกล้องจุลทรรศน์ หรือตรวจโดยนำเอาเสมหะผู้ป่วยไปเพาะหาเชื้อด้วยวิธีของการย้อมสีร่วมกันกับการเอกซเรย์ปอด วิธีการดังกล่าวจะช่วยให้ผลการวินิจฉัยโรคค่อนข้างแม่นยำแน่นอนและเพื่อให้ง่ายต่อกระบวนการรักษาผู้ป่วยต่อไป
การรักษาวัณโรค
วัณโรคเป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายขาดได้ค่ะ เพียงแต่จะต้องกินยาเป็นระยะเวลาติดต่อกันยาวนาน สำหรับยานั้นจะเป็นสูตรยารักษาตามมาตรฐานที่แนะนำมาจากองค์การอนามัยโลก
โดยใช้เวลารักษานานต่อเนื่องอย่างน้อย 6 เดือน อีกทั้งยังต้องให้ยาหลายขนานร่วมกัน สาเหตุเพราะจะได้ป้องกันการดื้อยา ไม่เช่นนั้น ผลการรักษาอาจจะล้มเหลวได้
นอกจากนี้ หากร่างกายผู้ป่วยเกิดการดื้อยาไปแล้วก็จะยิ่งก่อให้เกิดปัญหา กล่าวคือ เชื้อโรคอาจจะมีการดื้อยาหลายชนิดร่วมกันได้ด้วย
เมื่อผลการรักษาเป็นไปอย่างล้มเหลวก็ไม่ควรเพิ่มยาใดเข้าไปใหม่ทั้งสิ้นแม้เพียงชนิดเดียว และจะต้องให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจเท่านั้นเป็นผู้ให้ยา เพราะจะมีความเข้าใจในด้านภาวะแทรกซ้อนและผลข้างเคียงจากยาเป็นอย่างดีนั่นเอง
ระยะของการรักษาผู้ป่วยวัณโรคด้วยยา แบ่งแผนการรักษาเป็น 2 ระยะ ดังนี้
1.ระยะเข้มข้น
เป็นการรักษาในระยะเวลา 2 เดือนแรกค่ะ สำหรับการรักษาในระยะนี้ แพทย์จะให้ยาโดยประกอบไปด้วยตัวยาหลัก 4 ชนิดด้วยกัน ตัวยามีทั้งในรูปแบบของยาแยกเม็ดและยาแบบรวมอยู่ในเม็ดเดียวกันซึ่งเรียกกันว่า ‘ยารวมเม็ด’
การรักษาในระยะเข้มข้นย่อมมีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจากจะสามารถช่วยลดปริมาณของเชื้อวัณโรคภายในปอดได้มากที่สุด อีกทั้งยังสามารถลดการแพร่กระจายของเชื้อได้ดีอีกด้วย
2.ระยะต่อเนื่อง
เป็นการรักษาในระยะเวลา 4 เดือนต่อมาค่ะ โดยแพทย์จะให้การรักษาโดยใช้ยาหลัก 2 ชนิด เพื่อช่วยกำจัดเชื้อวัณโรคที่ยังคงมีเหลืออยู่ภายใน ตัวยาที่ใช้รักษานั้นอาจจะใช้ทั้งในรูปแบบประเภทยาแยกเม็ดหรือยาเม็ดรวมก็ได้ สำหรับการใช้ยาแต่ละประเภทจะต้องขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของผู้ป่วยว่ามีเชื้อโรคมากมายเพียงใด จะได้พิจารณาใช้ยาให้เหมาะสมกับแต่ละอาการที่เป็นอยู่ได้อย่างถูกต้อง
การรักษาด้วยยาทุกระยะดังที่กล่าวไปเบื้องต้นนั้น โอกาสหายขาดย่อมมีสูงแน่นอน หากผู้ป่วยกินยาครบสูตรตามที่แพทย์สั่ง ฉะนั้น การกินยาอย่างเคร่งครัดต่อเนื่องจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากที่ผู้ป่วยไม่ควรละเลยเด็ดขาด เพราะหากกินยาไม่ครบตามสูตรล่ะก็เชื้อร้ายของวัณโรคก็จะยิ่งเจริญเติบโตแกร่งขึ้น จนนำมาสู่การต่อต้านยาหรือที่เรียกว่า ‘ดื้อยา’ นั่นเอง
เมื่อเชื้อเกิดการดื้อยาก็จะต้องให้ยาที่มีราคาแพงขึ้นและต้องใช้ระยะเวลาในการรักษายาวนานกว่า 18 เดือน ซึ่งทำให้ผลข้างเคียงจากการใช้ยายิ่งเพิ่มอัตราสูง และเช่นเดียวกัน
หากเชื้อดื้อยาตัวใหม่อีกมันก็จะยิ่งแพร่ตัวลุกลามมากขึ้นจนทำให้ยากต่อการรักษามากขึ้นไปอีก ดังนั้นแล้ว หากป่วยเป็นวัณโรคถ้าอยากหายขาดจริงๆ ก็ควรปฏิบัติตามคำแนะนำจากแพทย์เรื่องการกินยาอย่างครบถ้วนถูกต้องจะดีที่สุด
การรักษาวัณโรคในหญิงตั้งครรภ์
การรักษาวัณโรคในบุคคลทั่วไปอาจจะยังไม่น่ากังวลใจเท่าไรนัก แต่ในกรณีหญิงตั้งครรภ์นั้นไม่ควรนิ่งนอนใจกับเชื้อวัณโรคเด็ดขาด
ดังนั้น หญิงตั้งครรภ์คนใดที่ป่วยเป็นวัณโรคควรเร่งรีบพบแพทย์เพื่อรักษาโดยด่วน เพราะไม่เช่นนั้น เชื้อร้ายอาจจะยิ่งแพร่กระจายและลุกลามไปอย่างรวดเร็วมากขึ้น จนก่อให้เกิดผลกระทบร้ายแรงทั้งกับสุขภาพคุณแม่และทารกในครรภ์ได้ค่ะ
สาเหตุของการรักษาล้มเหลว
การรักษาวัณโรคย่อมมีความเสี่ยงต่อการล้มเหลวได้เสมอ ทั้งนี้ ก็เนื่องจากผู้ป่วยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งจากแพทย์อย่างเคร่งครัดถูกต้อง เพราะหากต้องการรักษาโรคให้ขาดหายแล้ว จะต้องทำตามคำแนะนำตลอดโปรแกรมของการรักษาแบบระยะยาวได้อย่างแท้จริง อีกทั้งผู้ป่วยที่มีการตรวจย้อมเสมหะแล้วพบเชื้อวัณโรคก็ยังสามารถแพร่กระจายเชื้อโรคไปยังผู้อื่นโดยรอบได้
ดังนั้น หากพบว่าตนเองมีเชื้อที่สามารถแพร่ไปสู่คนอื่นๆ ได้ ระหว่างนี้ไม่ควรอยู่ใกล้ชิดผู้อื่นหรือควรหลีกเลี่ยงการปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นไปก่อน โดยควรปฏิบัติตัวเช่นนี้เป็นเวลา 2 สัปดาห์นับตั้งแต่ได้รับการรักษา
นอกจากนี้แล้ว เรายังพบว่าสถิติในผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ๆ ล้วนมีโอกาสรักษาได้หายขาดสูงมากกว่าผู้ป่วยที่ผ่านการรักษามาแล้ว แต่ผลการรักษาล้มเหลวไม่สำเร็จจนต้องกลับมารักษาใหม่ ดังนั้น หากคุณไม่อยากให้ผลการรักษาล้มเหลวผิดพลาดเหมือนรายก่อนหน้า ก็จงปฏิบัติตามคำแนะนำจากแพทย์ทุกกระบวนการจะดีที่สุด เพื่อให้เชื้อโรคหายขาดตั้งแต่ครั้งแรกที่เข้ารับการรักษานั่นเองค่ะ
การแพร่ลามของเชื้อไปยังอวัยวะอื่น
การติดเชื้อวัณโรคที่เราเคยคุ้นกันมากที่สุด อันดับแรกเลยก็คือ การเกิดวัณโรคขึ้นที่ปอด อย่างไรก็ตาม เชื้อวัณโรคมันก็ไม่ได้หยุดการลุกลามลงแต่เพียงเท่านี้ เพราะการแพร่กระจายของเชื้อยังสามารถส่งผ่านกระแสเลือดจากปอดไปสู่อวัยวะอื่นๆ ได้อีกด้วย
ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบตามมาได้ หรืออาจเกิดการลุกลามไปยังอวัยวะอื่นๆ ตามร่างกายอย่างไต กระดูก ระบบทางเดินปัสสาวะ ลำไส้ ต่อมน้ำเหลืองบริเวณของปอด อวัยวะเพศ ลำคอและผิวหนัง บางรายมีการตรวจพบว่าเป็นโรคเยื้อหุ้มสมองอักเสบร่วมด้วย โดยเฉพาะการเกิดในเด็กเล็กที่เพิ่งติดเชื้อมาใหม่ๆ และหากเป็นแล้วความเสี่ยงในการเสียชีวิตก็ย่อมมีสูง่
ระยะฟักตัวของเชื้อวัณโรคกระทั่งการปรากฏโรคชัดเจนในเวลาต่อมา
ที่มาที่ไปของการติดเชื้อวัณโรคจนโรคนี้สามารถปรากฏบนร่างกายคนเราอย่างชัดเจน ในเริ่มแรกหลายคนอาจจะไม่ทันได้รู้ว่าตนเองติดเชื้อวัณโรคซึ่งจะนำมาสู่การเป็นวัณโรคในวันหนึ่งกันเลยด้วยซ้ำ สำหรับการเริ่มต้นติดเชื้อเริ่มจากการที่เราสูดดมเชื้อวัณโรคเข้าไป โดยผ่านระบบทางเดินหายใจมาสู่ปอด ซึ่ง 1 ใน 10 ของผู้ที่รับเชื้อนั้นมักมีโอกาสติดเชื้อค่อนข้างสูง
เมื่อเชื้อเข้าสู่ปอดแล้วมันจะเข้าไปฟักตัวอยู่ภายในปอดกลีบบนซึ่งเป็นส่วนของปอดที่มีปริมาณออกซิเจนอยู่มากที่สุด ระยะการฟักตัวของมันจะอยู่ที่ประมาณ 4-8 สัปดาห์
ผู้ป่วยที่ติดเชื้อระยะแรกนี้จะไม่มีอาการใดแสดงว่าเป็นวัณโรคเลยค่ะ เพราะมันเป็นเพียงการติดเชื้อเล็กน้อยเท่านั้น และหากระบบภูมิคุ้มกันโรคแข็งแรงเป็นปกติดีก็เปรียบเสมือนในร่างกายของเรามีแค่เชื้อๆ หนึ่งอาศัยอยู่ภายในเท่านั้นเอง โดยที่เชื้อไม่ได้ก่อปฏิกิริยาร้ายแรงใดกับร่างกายจนทำให้เกิดความผิดปกติหรือทำให้มีอาการเจ็บป่วยใดๆ ตามมา
เชื้อวัณโรคนี้จะกระจายตัวผ่านกระแสเลือดเข้ามาสะสมและเมื่อวันเวลาผ่านล่วงไปนานหลายเดือนหรือหลายปี หากระบบภูมิคุ้มกันโรคของผู้ป่วยเกิดการอ่อนแอลงในวันหนึ่งวันใด ร่างกายก็จะถูกกระตุ้นให้เริ่มมีอาการของโรคปรากฏขึ้นชัด เพราะเชื้อได้เริ่มลุกลามจนไปทำลายเซลล์อื่นเรื่อยๆ แล้วนั่นเอง
โรคอื่นๆ ที่มีอาการคล้ายคลึงกับวัณโรค
อาจมีคำถามว่านอกจากอาการของวัณโรคที่เกิดขึ้นแล้ว ยังมีโรคอื่นๆ ที่มีอาการในลักษณะเดียวกันด้วยหรือไม่ คำตอบคือ มีค่ะ โดยโรคที่มีอาการเหมือนกับวัณโรคนั้น ได้แก่ ปอดอักเสบ หลอดลมอักเสบ โรคปอดที่เกิดขึ้นจากการสูบบุหรี่และโรคมะเร็งปอด
โรคเหล่านี้.. ล้วนมีอาการเกิดโรคในลักษณะเดียวกัน หากผู้ป่วยมีความสงสัยว่าตนเองเป็นโรคใดกันแน่ ก็ควรให้แพทย์ทำการตรวจโดยละเอียดเพิ่มเติมเพื่อจะได้ทราบผลยืนยันแท้จริง และการที่แพทย์นำเสมหะไปตรวจนั้นก็สามารถโยงมาถึงการตรวจหามะเร็งพร้อมกันได้ด้วย อีกทั้งการตรวจเอกซเรย์ปอดอย่างละเอียดก็สามารถให้ผลของโรคได้ด้วยเช่นเดียวกันค่ะ
กระบวนการควบคุมรักษาโรค
การรักษาผู้ป่วยวัณโรคจะอยู่ภายใต้การดูแลรักษาจากทีมแพทย์แผนกโรคปอดซึ่งเป็นแพทย์เฉพาะทางโดยตรง โดยให้การควบคุมดูแลตั้งแต่การสั่งยาและการกินยา หลังจากการรักษาวัณโรคผ่านพ้นไปแล้วเป็นเวลา 6-12 เดือน หรือหากเมื่ออาการของผู้ป่วยหายดีแล้วนั้น แพทย์จะนำเอาเสมหะไปเพาะหาเชื้อวัณโรคอีกครั้ง
นอกจากนี้ แพทย์อาจจะมีการตรวจสอบสภาพแวดล้อมหรือความเป็นอยู่ของผู้ป่วย ตลอดจนสมาชิกทุกคนในบ้านทั้งหมด โดยอาจจะต้องเข้ารับการเอกซเรย์ปอดโดยละเอียด เพื่อให้มั่นใจว่าจะไม่มีการแพร่กระจายเชื้อไปสู่บุคคลอื่นๆ ภายในครอบครัวต่อไป ทั้งนี้ ก็เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ป่วยและคนอื่นๆ จะไม่มีผู้ใดป่วยเป็นวันโรคอีกนั่นเอง
คำแนะนำในการดูแลผู้ป่วยวัณโรค
1.การดูแลรักษาผู้ป่วยวัณโรคได้ดีที่สุด ไม่ใช่ใครอื่นเลยค่ะ แต่ควรเริ่มจากการดูแลด้วยตัวผู้ป่วยเอง โดยจะต้องเคร่งครัดมีวินัยกับตนเองอย่างมาก ตั้งแต่การกินยาให้ครบถ้วนทุกเม็ดและทุกมื้ออาหาร ไม่ควรหยุดยาเองเป็นอันขาดหากไม่ได้รับคำสั่งจากแพทย์ เพราะการหยุดยาหรือการไม่ได้กินยาติดต่อกัน จะทำให้เชื้อวัณโรคเกิดการดื้อยาได้
2.เมื่อครบกำหนดที่แพทย์นัด ควรไปพบแพทย์ตามนัดทุกครั้งเพื่อติดตามผลการรักษาและเพื่อติดตามผลข้างเคียงจากการใช้ยาร่วมด้วย
3.หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ทำให้ร่างกายเสื่อมสภาพโดยเร็ว เช่น การดื่มสุรา การดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดและการสูบบุหรี่ หากงดพฤติกรรมเหล่านี้ได้ การรักษาวัณโรคก็จะยิ่งเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และภูมิคุ้มกันโรคก็จะแข็งแรงตามขึ้นด้วย
4.ผู้ป่วยวัณโรคควรได้รับกำลังใจจากผู้ที่อยู่ใกล้ชิดอยู่เสมอ โดยเฉพาะคนในครอบครัว เพราะกำลังใจจากคนรอบตัวจะยิ่งทำให้ผู้ป่วยมีพละกำลังใจในการต่อกรกับโรคได้สูง อีกทั้งยังมีผลให้สภาพจิตใจแข็งแรงจนนำไปสู่การสร้างเสริมระบบภูมิต้านพร้อมกันได้ด้วย
5.เมื่อผู้ป่วยได้เวลารับประทานยา ญาติหรือคนใกล้ชิดไม่ควรปล่อยให้ผู้ป่วยทานยาเองโดยคลาดสายตา ควรให้ผู้ป่วยได้ทานยาต่อหน้าคุณทุกครั้ง เพื่อที่ผลการรักษาจะได้ดีขึ้นตามลำดับ
วิธีป้องกันวัณโรค
1.ดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง โดยใส่ใจพื้นฐานของการดูแลสุขภาพเป็นหลัก เริ่มจากการเลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ เช่น ผักผลไม้หลากหลายชนิดเพื่อให้วิตามิน แร่ธาตุได้เสริมสร้างภูมิคุ้มกันสุขภาพให้แข็งแรงยิ่งขึ้น การดื่มน้ำอย่างเพียงพอวันละ 8-10 แก้ว เพื่อที่น้ำจะได้ขับล้างสารพิษออกจากร่างกาย ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและนอนพักผ่อนให้เพียงพอ ปัจจัยเหล่านี้จะช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันโรคให้แข็งแรงซึ่งสามารถต่อต้านเชื้อวัณโรค และเชื้ออันตรายทุกชนิดได้ค่อนข้างสูง
2.สภาพอากาศภายในบ้านจะต้องปลอดโปร่ง โล่งสบาย อากาศถ่ายเททั้งทางประตูหน้าต่างอย่างเพียงพอ พร้อมกันนี้ ไม่อยู่ในสถานที่มืดอับชื้น ไร้แสงแดดสาดส่องเข้ามาถึง ควรเปิดช่องระบายอากาศให้มีแสงแดดส่องเข้ามายังภายในบ้านบ้างจะได้ช่วยฆ่าเชื้อวัณโรคที่อาจลอยเป็นละอองปะปนอยู่บนอากาศในยามที่เราสนทนากับผู้ป่วย เพราะเมื่อเชื้อได้รับแสงแดดมันก็จะตายลงในที่สุด
3.ดูแลรักษาความสะอาดภายในบ้านอยู่เสมอ โดยเฉพาะเครื่องปรับอากาศซึ่งมักจะดูดเก็บเอาเชื้อโรคไว้ค่อนข้างมาก หากมีผู้ป่วยวัณโรคไอหรือจามบ่อยๆ เชื้อโรคเหล่านี้ล้วนแล้วแต่จะถูกดูดซับสะสมในเครื่องปรับอากาศด้วยเสมอ ดังนั้น จึงไม่ควรละเลยการถอดหน้ากากมาออกมาล้างทำความสะอาดเป็นประจำค่ะ และควรล้างเครื่องอย่างน้อยเป็นประจำปีละ 2 ครั้ง เพื่อสุขอนามัยที่ดีของทุกคนในครอบครัวนั่นเอง
4.หากสมาชิกคนใดภายในบ้านป่วยเป็นวัณโรค ผู้ที่ป่วยควรสวมหน้ากากอนามัยปิดไว้ โดยเฉพาะเวลาไอจามเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อไปสู่ผู้อื่นรอบข้างหรือในขณะต้องสนทนาร่วมกับผู้อื่น
5.หากมีอาการรุนแรงไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยหรือผู้คนใกล้ชิดรอบข้าง ไม่ควรพากันนิ่งนอนใจ ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจรักษาจะดีที่สุด หากคุณหมั่นปฏิบัติตามคำแนะนำเหล่านี้ได้ครบทุกข้อ โอกาสในการถูกเชื้อวัณโรคคุกคามก็ย่อมเป็นไปได้น้อยแน่นอน
เมื่อทราบกันเช่นนี้แล้ว จากนี้อย่าลืมหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพให้มากขึ้นกันนะคะ และหากพบคนรอบตัวมีอาการไอ จามบ่อยผิดปกติก็ควรพยายามหลีกเลี่ยง โดยพาตัวเองออกห่างมาจากคนๆ นั้น เพราะบางทีเขาอาจจะไม่ได้ป่วยเป็นหวัดธรรมดาทั่วไปอย่างที่เราคิดไปเองผิวเผิน
หากแท้จริงเขาอาจจะมีเชื้อวัณโรคซ่อนอยู่ภายในร่างกายก็เป็นได้ อย่างไรก็ตาม การสร้างเสริมสุขภาพให้แข็งแรงอยู่ตลอดก็เวลาย่อมเป็นสิ่งสำคัญที่ควรปฏิบัติ เพราะมันจะเป็นเกราะป้องกันเดียวที่ทำให้สุขภาพของคุณห่างไกลจากการติดเชื้อวัณโรคได้อย่างแท้จริงค่ะ