ตาขี้เกียจหรือโรคตาขี้เกียจ ดูเหมือนจะเป็นชื่อที่เกิดขึ้นจากพฤติกรรมของดวงตาที่หลายคนคิดว่ามันอาจจะรู้สึกง่วงเหงาหาวนอน อยากหลับตลอดเวลา แต่จริงๆ แล้วโรคตาขี้เกียจที่ไม่ค่อยคุ้นหูคนไทย กลับเป็นสิ่งที่เราพบได้มากขึ้นทุกวัน เพราะการใช้สายตามากขึ้นจนทำให้ดวงตาเกิดอาการเมื่อยล้า เป็นอาการผิดปกติที่การปล่อยทิ้งไว้จะส่งผลให้เกิดอันตรายร้ายแรงถึงขั้นตาบอดกันได้เลยทีเดียว ดังนั้นลองมาเช็คลิสต์พฤติกรรมตัวเองกันสักนิดว่าเข้าข่ายเป็นโรคตาขี้เกียจหรือ Lazy Eye กันหรือไม่ จะได้ป้องกันตัวเองก่อนจะสายเกินแก้
โรคตาขี้เกียจ คืออะไร?
โรคสายตาขี้เกียจ( Lazy eye หรือ Amblyopia) เป็นอาการที่เกิดขึ้นจากความผิดปกติของดวงตา ลักษณะที่พบคือผู้ป่วยจะมีประสิทธิภาพในการมองภาพได้น้อยลง สายตาจะไม่สามารถทำงานได้เต็มที่ ความสัมพันธ์ระหว่างการเชื่อมต่อประสาทของดวงตากับสมองจะลดลง ในอดีตจะพบในเด็กเล็ก ซึ่งมาจากพัฒนาการตั้งแต่ในครรภ์ ทว่าในปัจจุบันพบได้ทั้งในเด็กเล็ก วัยรุ่น วัยทำงาน ไปจนถึงในวัยผู้ใหญ่ หากไม่รีบทำการรักษาให้ถูกวิธี การปล่อยทิ้งเอาไว้นาน จะทำให้เกิดปัญหาตามัวมากขึ้นเรื่อยๆ และในที่สุดการมองเห็นจะถูกทำลายไปโดยถาวร
สาเหตุของการเกิดโรคตาขี้เกียจ
เนื่องจากอาการที่เกิดขึ้นจากโรคตาขี้เกียจไม่สามารถมองเห็นได้ชัดเจนจากการสังเกตความผิดปกติภายในดวงตา แต่เราสามารถสังเกตได้จากพฤติกรรมการใช้ชีวิต ดูจากการเพ่งสายตามากกว่าปกติ มองในที่มืดไม่ค่อยชัด สาเหตุมาจากการทำงานอยู่กับหน้าจอเป็นเวลานาน สาวๆ อาจจะเผชิญกับโรคนี้กันมาตั้งแต่วัยเด็ก พอเข้าสู่วัยรุ่น ก็ยังมีพฤติกรรมใช้งานสมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั้งหลายติดต่อกันหลายชั่วโมงแบบไม่หยุดพัก แนวโน้มคือปัญหาสายตาสั้น การมองเห็นที่ผิดปกติ ยิ่งการใช้สายตาใกล้มากจนเกินไป ก็ยิ่งทำให้กล้ามเนื้อทั้งภายนอกและภายในลูกตาต้องทำงานอย่างหนัก เกิดอาการตาแห้ง และพร่ามัว กล้ามเนื้อลูกตาเกร็งตัวอยู่ตลอดเวลาอีกด้วย
ดังนั้นสาวๆ อาจจะลองสังเกตสายตาตัวเองกันดูว่ามีอาการตาเข การทำงานของดวงตาทั้งสองข้างไม่ประสานกัน การมองเห็นไม่ชัดหรือไม่เท่ากัน สายตาสั้นหรือยาวเกินไป และการแปลผลของภาพที่ทำให้เกิดปัญหาในการดำเนินชีวิตประจำวัน ก็อาจจะต้องเข้ารับการตรวจจากแพทย์เพื่อหาสาเหตุและทำการรักษาให้ตรงจุดโดยด่วนที่สุดจะดีกว่าการปล่อยทิ้งไว้จนสายเกินแก้กันดีกว่าค่ะ