วิตามินซี วิตามินที่เป็นที่รู้จักกันดีอย่างกว้างขว้างด้วยคุณประโยชน์หลากหลาย ทั้งช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทานทำให้ไม่ป่วยง่าย และมีบทบาทสำคัญในการสร้างคอลลาเจนเพื่อช่วยซ่อมแซมเนื้อเยื่อต่างๆ ในร่างกายอีกด้วย วิตามินชนิดนี้มีหน่วยวัดเป็นมิลลิกรัม (มก. หรือ mg.) และมีข้อสำคัญที่ต้องรู้ คือ วิตามินซีเหมือนกัน แต่ความต้องการของแต่ละวัยนั้นไม่เท่ากัน

 

 เพราะในแต่ละช่วงอายุ ร่างกายจะมีความต้องการวิตามินซีที่แตกต่างกัน กองโภชนาการ กระทรวงสาธารณสุขของประเทศไทย แนะนำปริมาณวิตามินซีที่คนไทยควรรับประทานในแต่ละวัยใน 1 วัน ไว้ดังนี้

ช่วงอายุ 6-12 เดือน (ทารก) มีความต้องการวิตามินซี 35 มก./วัน
ช่วงอายุ 1-8 ปี มีความต้องการวิตามินซี 40 มก./วัน
ช่วงอายุ 9-12 ปี มีความต้องการวิตามินซี 45 มก./วัน
ช่วงอายุ 13-15 ปี (เพศหญิง) มีความต้องการวิตามินซี 65 มก./วัน
ช่วงอายุ 13-15 ปี (เพศชาย) มีความต้องการวิตามินซี 75 มก./วัน
ช่วงอายุ 16 ปีขึ้นไป (เพศหญิง) มีความต้องการวิตามินซี 75 มก./วัน
ช่วงอายุ 16 ปีขึ้นไป (เพศชาย) มีความต้องการวิตามินซี 90 มก./วัน
หญิงตั้งครรภ์ อายุครรภ์ไตรมาสที่ 1-3 มีความต้องการวิตามินซีเพิ่มจากปรกติอีก 10 มก./วัน
หญิงให้นมบุตรช่วง 0-11 เดือน ความต้องการวิตามินซีเพิ่มจากปรกติอีก 35 มก./วัน

     นอกจากนี้วิตามินซียังมีประโยชน์ต่อผิวพรรณ เพราะวิตามินซีมีฤทธิ์ในการต้านสารอนุมูลอิสระ ช่วยให้ผิวกระจ่างใสขึ้นในทางเวชศาสตร์การชะลอวัย จึงแนะนำปริมาณที่ให้ทานต่อวันคือ ประมาณ 1,000-2,000 มก. โดยควรแบ่งทานในปริมาณที่เหมาะสมเพื่อให้ร่างกายดูดซึมได้ดีที่สุด

     และสำหรับผู้ที่ป่วยเป็นโรคหวัดหรือภูมิแพ้บ่อย ควรทานวิตามินซี 2,000 มก. หรือมากกว่านั้น ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของแต่ละบุคคลด้วย

     รู้เรื่องความต้องการของร่างกายแล้ว ก็มาถึงแหล่งที่มาของวิตามินซีจากธรรมชาติกันบ้าง โดยมีนักวิจัยจากสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล นำเสนอข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับปริมาณวิตามินซีในผักผลไม้ มานำเสนอดังนี้ผักคะน้า และ ฝรั่ง มีปริมาณวิตามินซีสูงที่สุด (141, 156 มก. /100 กรัม) รองลงมาคือ กะหล่ำปลี ขึ้นฉ่าย มะเขือเทศสีดา ผักกวางตุ้ง ข้าวโพดอ่อน ชะอม บร็อคโคลี่ ดอกกะหล่ำ และ ลิ้นจี่ โดยมีปริมาณวิตามินซี 30-96 มก./100 กรัม และ ผักผลไม้ ชนิดอื่นๆ จะมีวิตามินซีที่ต่ำกว่า 30 มก./100 กรัม

     อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าสังเกตว่า ผักคะน้า และ กะหล่ำปลี มีปริมาณวิตามินซีสูง แต่เมื่อผ่านการต้มจนสุก ปริมาณวิตามินจะลดลง ฉะนั้น ฝรั่งและ ลิ้นจี่ จึงเป็นแหล่งของวิตามินซีที่ดีกว่าผักสุก