รู้ไหมว่า แค่ติดสมาร์ทโฟน ก็อาจเสี่ยงต่อการป่วยด้วยโรคต่างๆ ได้อย่างมากมายเลยทีเดียว โดยเฉพาะ "โรคละเมอแชท" ที่อาจฟังดูแปลกแต่ก็เป็นโรคที่เกิดขึ้นจริง แถมยังส่งผลเสียต่อสุขภาพเป็นอย่างมากอีกด้วย เพราะฉะนั้นวันนี้เรามาทำความเข้าใจกับโรคละเมอแชทกันหน่อยดีกว่า ว่าโรคนี้มีอาการอย่างไร และส่งผลเสียต่อสุขภาพได้มากน้อยแค่ไหน
โรคละเมอแชท คืออะไร?
โรคละเมอแชทเกิดจากการติดสมาร์ทโฟนมากเกินเหตุ จนทำให้เกิดพฤติกรรมที่ตอบสนองต่อข้อความแชทอย่างรวดเร็วโดยไม่รู้ตัว ทำให้แม้กระทั่งในเวลาหลับ เพียงได้ยินเสียงข้อความแชทเด้งเข้ามา ก็เกิดการละเมอขึ้นมาพิมพ์ตอบทันที โดยที่เมื่อตื่นขึ้นมาในตอนเช้ากลับจำอะไรไม่ได้เลย ซึ่งก็ถือเป็นอาการที่น่าเป็นห่วงมากทีเดียว
ผลเสียจากอาการละเมอแชท
สำหรับผลเสียที่เกิดขึ้นจากอาการละเมอแชทก็มีมากมายอย่างที่หลายคนอาจคาดไม่ถึงเลยทีเดียว ซึ่งก็สรุปได้ว่า
1.อาจเกิดปัญหาการเข้าใจผิดกันระหว่างตัวคุณเองกับผู้ที่ส่งข้อความแชทเข้ามา เพราะในขณะที่ละเมอกดส่งข้อความไปนั้น คุณไม่อาจรู้เลยว่าได้พิมพ์ข้อความอะไรลงไป และพิมพ์ตอบใคร กว่าจะรู้อีกทีก็ตื่นนอนขึ้นมาตอนเช้า ซึ่งก็ได้ทำให้อีกฝ่ายเข้าใจผิดและกลายเป็นปัญหาไปซะแล้ว
2.สุขภาพแย่ลง เนื่องจากพักผ่อนไม่เต็มที่ นั่นก็เพราะในขณะที่ละเมอร่างกายจะมีการทำงานเสมือนกับเวลาตื่นอยู่ เป็นผลให้ผู้ป่วยอยู่ในสภาวะที่ได้รับการพักผ่อนน้อย จึงทำให้สุขภาพแย่ลงนั่นเอง โดยผลที่เห็นได้ชัดก็คือ รู้สึกง่วงนอนตลอดช่วงกลางวัน เกิดความเครียดและสุดท้ายก็อาจทำให้เป็นโรคต่างๆ ตามมาได้อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นโรคอ้วน โรคหัวใจหรือโรคปวดศีรษะเรื้อรัง เป็นต้น
แก้ปัญหาโรคละเมอแชทได้อย่างไร?
การแก้ปัญหาโรคละเมอแชทจะต้องเริ่มแก้จากต้นเหตุ นั่นคือการลดการเล่นสมาร์โฟนให้น้อยลง โดยเฉพาะช่วงเวลาก่อนนอน แนะนำให้ออกห่างจากสมาร์ทโฟนอย่างน้อยครึ่งชั่วโมงก่อนนอน พยายามตั้งสมาร์ทโฟนไว้ให้ห่างจากตัว และหากสามารถปิดเสียงสมาร์ทโฟนด้วยได้ก็จะดีมาก เพื่อจะได้ไม่มีเสียงแชทดังเข้ามาในขณะกำลังนอนหลับอย่างสบายนั่นเอง อย่างไรก็ตามไม่ว่าเวลาไหนก็ควรเล่นสมาร์ทโฟนให้น้อยลงจะดีที่สุด
ถึงแม้ว่าโรคละเมอแชทจะไม่อันตรายมากเหมือนกับโรคอื่นๆ แต่ก็ส่งผลเสียต่อสุขภาพไม่น้อยเลยทีเดียว เพราะฉะนั้นมาปรับพฤติกรรม โดยการลดการเล่นสมาร์ทโฟนให้น้อยลงกันดีกว่า แล้วคุณจะห่างไกลจากโรคละเมอแชท แถมยังมีสุขภาพที่ดียิ่งขึ้นอีกด้วย
ขอขอบคุณ
ภาพ :istock,Unsplash
ข้อมุล : Sanook! Women