เพราะมะเร็งปากมดลูก เป็นมะเร็งอันตรายที่สุดอันดับ 2 ที่ผู้ป่วยมีอัตราเสี่ยงเสียชีวิตสูง สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข จึงจัดโครงการ “ความอายคือสารก่อมะเร็ง” เพื่อกระตุ้นให้หญิงไทยก้าวข้ามความอาย เข้ารับการตรวจคัดกรองเพื่อสร้างเกราะป้องกันมะเร็งปากมดลูกพร้อมเปิดตัวภาพยนตร์สั้นเรื่อง “อาย” รณรงค์ให้สังคมไทยได้ตระหนักถึงความสำคัญของการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก รวมถึงการฉีควัคซีนป้องกัน เนื่องจากมะเร็งปากมดลูกสามารถป้องกันและรักษาให้หายขาดได้หากได้รับการคัดกรองและดำเนินการรักษาแต่เนิ่นๆ อย่างมีประสิทธิภาพ

 

มะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งที่พบในผู้หญิงมากที่สุดเป็นอันดับ 4 ของโลก และพบอัตราการเสียชีวิตถึง 50% สำหรับประเทศไทย ในแต่ละวันจะมีผู้หญิงไทยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งปากมดลูก 18 คน และมีผู้เสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูกโดยเฉลี่ยต่อวันถึง 6 คน ทั้งๆ ที่มะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งที่สามารถป้องกันได้

มะเร็งปากมดลูกเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทย ปัจจุบัน ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูกยังมีแนวโน้มที่สูงขึ้น ปัญหาสำคัญเนื่องจากผู้หญิงไทยส่วนใหญ่ยังคงเข้าใจผิดคิดว่าตัวเองไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง คิดว่าอายุยังน้อย ร่างกายแข็งแรง หรือมีคู่นอนเพียงคนเดียว ไม่น่าจะเกิดโรคร้ายนี้ได้ จึงไม่เห็นความสำคัญของการตรวจคัดกรองมะเร็งและฉีดวัคซีนป้องกัน ไม่เพียงเท่านั้น งานวิจัยยังพบว่าผู้หญิงไทยหลายคนแม้จะรู้ถึงอันตรายของมะเร็งปากมดลูก แต่ก็ไม่กล้าไปตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก โดยสาเหตุสำคัญเนื่องมาจาก ‘ความอาย’

ด้วยเหตุนี้ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข จึงเดินหน้าจัดโครงการ “ความอายคือสารก่อมะเร็ง” รณรงค์สร้างความเข้าใจและกระตุ้นให้หญิงไทยเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก พร้อมเปิดตัวภาพยนตร์สั้น เรื่อง “อาย” เพื่อสะท้อนถึงความสูญเสียที่เป็นผลมาจากความอายของหญิงสาวที่ไม่กล้าเข้ารับการตรวจภายใน และกระตุ้นให้สังคมไทยให้ความสำคัญกับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกมากขึ้น

 

สาเหตุของโรคมะเร็งปากมดลูก

สาเหตุสำคัญของมะเร็งปากมดลูกคือการติดเชื้อไวรัส  เอชพีวี ซึ่งพบได้ทั้งในเพศชายและหญิง ทั้งนี้ ร้อยละ 80 ของผู้หญิงไทยเคยมีเชื้อเอชพีวีหรือกำลังมีแต่ไม่รู้ตัว เนื่องจากการติดเชื้อเอชพีวีมักจะไม่มีอาการแสดงให้เห็น และการตรวจทั่วไปทางการแพทย์ก็ไม่พบความผิดปกติ การติดเชื้อเอชพีวีมีโอกาสที่จะหายเองได้โดยไม่ต้องได้รับการรักษา แต่ในผู้ป่วยบางรายอาจได้รับเชื้อเอชพีวีมานานหลายปี จนเซลล์ที่อยู่บนปากมดลูกเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างช้าๆ กลายเป็นรอยโรคก่อนมะเร็ง และหากไม่ได้รับการรักษาอาจกลายเป็นมะเร็งปากมดลูกได้

 

วิธีป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูก

ปัจจุบัน มะเร็งปากมดลูกและรอยโรคก่อนมะเร็งที่เกิดจากการติดเชื้อเอชพีวี สามารถป้องกันได้ด้วยการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ซึ่งเป็นวิธีการที่ง่าย รวดเร็ว และไม่เจ็บ โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและเจ้าหน้าที่สถานพยาบาลที่ล้วนผ่านการอบรมมาแล้ว ทุกคนมีจุดมุ่งหมายเดียวกันเพื่อป้องกันคนไข้จากมะเร็งปากมดลูก ดังนั้น หากรู้สึกอายที่จะเข้ารับการตรวจคัดกรองจากเจ้าหน้าที่โรงพยายาล เราอยากให้ผู้หญิงทุกคนพยายามเอาชนะความอายและระลึกไว้ว่า หากเป็นมะเร็งปากมดลูกแล้วจะได้รับความทุกข์ทรมานกว่านี้มาก และอาจเสียชีวิตจากโรคนี้ได้

การฉีดวัคซีนเป็นอีกวิธีหนึ่งที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันมะเร็งปากมดลูก เนื่องจากสามารถลดการติดเชื้อเอชพีวีได้ถึงร้อยละ 90 และลดการเกิดรอยโรคก่อนมะเร็งได้ถึงร้อยละ 85 “การฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อเอชพีวีช่วยให้ผู้หญิงมีเกราะป้องกันเพิ่มขึ้นอีกชั้นหนึ่ง แต่ก็ไม่ควรประมาท ผู้หญิงทุกคนควรหมั่นสำรวจตัวเองอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งพบสูตินรีแพทย์ เพื่อตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเป็นประจำทุกปี นอกจากนี้ ทุกคนสามารถหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ได้ด้วยการดูแลสุขภาพอนามัยของตนเอง  การมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย หรือมีคู่นอนเพียงคนเดียวทั้งสองฝ่าย และการได้รับความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับอันตรายของโรคนี้เป็นส่วนสำคัญที่จะนำพาให้ผู้หญิงไทยห่างไกลจากโรคมะเร็งปากมดลูก

ขอขอบคุณ

ข้อมูล :นายแพทย์ วีรวุฒิ อิ่มสำราญ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์

ภาพ :iStock